ไม่น่าเชื่อว่าลูกน้อยในท้องที่แม่เฝ้าดูแล ตอนนี้คลอดออกมาได้ 2 สัปดาห์แล้ว จากที่เคยสัมผัสลูกดิ้นได้แค่ในท้อง แม่ได้จับมือน้อย ๆ จุ๊บลูกรักได้แล้ว พัฒนาการทารก 2 สัปดาห์ กำลังปรับตัวในโลกกว้างอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่นะแม่ เรามาดูกันว่าทารก 2 สัปดาห์ ทำอะไรได้แล้วบ้าง พ่อแม่ควรเล่นอะไรกับลูกวัยนี้ดี พร้อมวิธีเช็กพัฒนาการของลูกน้อยว่าเติบโตสมวัยหรือไม่ มาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ
พัฒนาการทางด้านร่างกายของทารก 2 สัปดาห์
- พัฒนาการทารก 2 สัปดาห์ทางด้านร่างกาย น้ำหนักที่หายไปในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ได้กลับมาแล้ว ทำให้น้ำหนักของทารกแรกเกิดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ศีรษะของทารกก็ใหญ่กว่าตัว แต่แม่ไม่ต้องห่วงนะคะ อีกเพียงไม่กี่เดือนร่างกายของลูกก็จะสมสัดส่วนมากขึ้น
- ทารกแรกเกิดบางคนคลอดออกมาผมหนา ทารกบางคนผมบาง ผมเป็นหย่อม ๆ ขอให้แม่อดใจเฝ้าดู ลูกจะผมขึ้นทั่วทั้งหัวในอีกไม่ช้า
- เมื่อยื่นนิ้วเข้าไปใกล้ ๆ ลูกก็จะกำนิ้วของแม่ไว้แน่น นี่คือปฏิกิริยาการกำของเด็กทารก หรือ Palmar Grasp Reflex
- พ่อแม่อย่าลืมดูแลสายสะดือทารกแรกเกิดให้ดี โดยทั่วไป สะดือลูกแรกเกิดจะหลุดใน 7 วัน หรือช้าที่สุด 4 สัปดาห์ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้รอบ ๆ แห้งอยู่เสมอ
พัฒนาการทางด้านความรู้ความเข้าใจของทารก 2 สัปดาห์
- พัฒนาการวัยทารกแรกเกิด 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีปฏิกิริยากับเสียงและแสง ลูกจึงตกใจง่ายเมื่อได้ยินเสียงดัง ส่วนสายตาและการมองเห็นนั้นกำลังพัฒนาอยู่ ทำให้เห็นได้ไม่ชัด ลูกจึงจ้องมองใบหน้าของพ่อแม่อยู่เสมอ
- สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของทารกแรกเกิดนั้นซ้ำเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับ การกิน และการขับถ่าย แต่แม่รู้ไหมว่า การกินนมของลูกนั้น คือการเติมพลังให้กับสมอง เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงขับเคลื่อนให้สมองได้พัฒนา
- การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอของทารกแรกเกิด จะช่วยให้ร่างกายและสมองของทารกเติบโต ในสัปดาห์ที่ 2 นี้ ทารกเริ่มจำเสียงแม่ได้แล้ว แถมยังจำกลิ่นแม่ได้ด้วย และสิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดจากแม่คือการสัมผัสและอุ้มลูกไว้แนบอก
- ผลวิจัยบอกว่า การอุ้มลูกเป็นประจำช่วยพัฒนาสมองลูกน้อย และทำให้ร่างกายของลูกเติบโตไวขึ้นได้ด้วย ดังนั้น แม่ควรกอดลูก หอมลูก จูบลูก เพื่อแสดงความรักกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยเรื่องพัฒนาการทารก 2 สัปดาห์ได้นะคะ
วิธีส่งเสริม พัฒนาการทารก 2 สัปดาห์
- เล่นกับลูกผ่านเสียงและการสื่อสาร พูดคุยแบบเห็นหน้าสบตา หรือจะลองคุยกับลูกด้วยเสียงในแบบต่าง ๆ พูดด้วยโทนเสียงสูงและช้า เป็นน้ำเสียงที่พูดเกินจริง วิธีเล่นกับลูกแบบนี้ นอกจากลูกจะเพลิดเพลินแล้วยังช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาของลูกได้ด้วย
- การร้องเพลงก็คือการสื่อสารอย่างหนึ่ง แม่แค่เพิ่มโทนเสียงและจังหวะเข้าไป เพราะลูกวัยทารกสามารถแยกแยะรูปแบบจังหวะได้แล้ว จริง ๆ ลูกมีความสามารถนี้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ตอนแม่ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 25 แล้วด้วย
- อ่านหนังสือ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือหนังสือใด ๆ ก็ตาม คือการเพิ่มคลังคำศัพท์ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลให้กับลูก
โภชนาการของทารก 2 สัปดาห์
- ในช่วงวัยแรกเกิดจวบจนทารก 6 เดือน นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำ ไม่ต้องเสริมน้ำผลไม้ เพราะน้ำนมแม่เพียงพอทั้งสารอาหารและคุณประโยชน์สำหรับลูกแล้ว ในช่วงวันแรก ๆ น้ำนมแม่ยังมีปริมาณไม่มาก ควรสลับให้ทารกได้ดูดนมแม่ทั้ง 2 เต้าบ่อย ๆ ในทุก 1-3 ชั่วโมง การให้ทารกได้ดูดนมแม่บ่อย ๆ ร่างกายคุณแม่จะสร้างกลไกการหลั่งน้ำนมขึ้นมา และถูกกระตุ้นให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีน้ำนมเพียงพอกับความต้องการของทารก
- ทารก 2 สัปดาห์มักเกิดการร้องโคลิกบ่อย ๆ แม่ให้นมลูกจึงต้องอุ้มลูกเรอทุกครั้ง เพื่อลดอาการปวดท้อง แน่นท้องจากลมในกระเพาะที่มีมากเกินไป สำหรับทารกดูดขวดอย่าปล่อยให้ลูกดูดขวดนมเปล่าหรือดูดจุกนมที่มีรูใหญ่เกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : นมผงสำหรับเด็ก 1 เดือน วิธีเลือกนมผงหากให้นมแม่ไม่ได้
วัคซีนจำเป็นสำหรับทารก
- วัคซีนวัณโรค (BCG) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีต่อการป้องกันโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สำหรับวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด หากไม่ได้รับก็สามารถฉีดได้ ในทุกช่วงอายุ
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) โรคไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ตับแข็ง และอาจเป็นมะเร็งตับในระยะต่อมาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยจะต้องฉีดทั้งหมดให้ครบ 3 ครั้งคือ ฉีดวัคซีนในวัยทารกแรกเกิด, ฉีดวัคซีนในอายุ 1-2 เดือน และฉีดวัคซีนในวัย 6 เดือน
การดูแลทารกแรกเกิด 2 สัปดาห์
- ลูกแรกเกิดในวัย 2 สัปดาห์นั้นบอบบางมาก ไม่ว่าจะอุ้มหรืออาบน้ำทารก แม่ก็ต้องระวัง โดยเฉพาะช่วงคอของทารกที่ต้องประคอง เพราะศีรษะเจ้าตัวน้อยขนาดใหญ่มาก
- ฝึกลูกชันคอเพราะกล้ามเนื้อคอลูกยังไม่แข็งแรง แม่ต้องเล่นและพูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงของคุณแม่เร็ว ๆ และคอยหันหาเสียงนั้นยามที่เขานอนเพลิน ๆ เอียงหน้าไปมาช้า ๆ ให้ลูกมองตาม พร้อมอุ้มพาดบ่าบ่อย ๆ หาโอกาสให้ลูกได้นอนคว่ำเพื่อฝึกชันคอบ้าง
- ทารกแรกเกิดมีผิวหนังบอบบาง ถ้าอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดบ่อยเกิน อาจทำให้ทารกเกิดอาการผิวแห้ง ผิวเกิดการอักเสบได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีดูแลทารกแรกเกิด การเลี้ยงเด็กทารกแรกเกิด ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไรบ้าง
ข้อควรระวังการเลี้ยงดูทารก 2 สัปดาห์
- ดูเหมือนว่าเล็บของลูกจะยาวแล้ว แม่ต้องตัดเล็บทารกเพื่อไม่ให้ไปข่วนหน้าตัวหน้า สำหรับวิธีตัดเล็บทารกให้ปลอดภัยไม่เข้าเนื้อ ให้ตัดเล็บหลังจากที่ลูกอาบน้ำแล้ว เล็บจะได้นุ่มตัดง่าย จะตัดเล็บลูกตอนให้นมก็ได้ หรืออาจจะเลือกตัดเล็บให้ลูกตอนที่ลูกน้อยนอนหลับสนิท โดยตัดเล็บทารกให้สั้นเสมอกับแนวเนื้อใต้เล็บ ตัดให้เหลี่ยมคมหายไป หรือใช้ตะไบอันเล็กถู
- กระหม่อมทารกบอบบางมาก จะอุ้มจะวางแม่ต้องระวัง หากมีลูกที่โตกว่า ก็ยิ่งต้องดูแล อย่าปล่อยให้พี่กับน้องในวัยนี้อยู่กันตามลำพัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
- เวลาวางลูกให้วางลูกลงนอนหงาย อย่าปล่อยให้ลูกนอนหลับทั้งที่คว่ำอยู่ เพราะโรคใหลตายในทารกหรือ SIDS อันตรายมาก
พัฒนาการทารก 2 สัปดาห์อยู่ในช่วงการปรับตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมภายนอก สิ่งที่แม่ต้องใส่ใจคือ ให้ลูกน้อยกินอิ่ม นอนหลับ ด้วยการลดสิ่งเร้า ไม่ให้ลูกอยู่ในที่ที่เสียงดังเกินไป หรือมีแสงจ้าเกินไป หมั่นอุ้มลูก สัมผัสลูกบ่อย ๆ คอยดูแลเรื่องความสะอาด เปลี่ยนผ้าอ้อมลูกทุก 2-3 ชั่วโมงนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการทารก 1 สัปดาห์ ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
พัฒนาการทารก 3 สัปดาห์ พัฒนาการทารกแรกเกิด วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พัฒนาการทารก 4 สัปดาห์ ลูกต้องมีพัฒนาการอย่างไรบ้างนะ?