พัฒนาการทารก 1 สัปดาห์ ก้าวแรกที่สำคัญของชีวิตลูกน้อย ตอนนี้ลูกน้อยที่เป็นเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักประมาณ 3.3 กก. สูง 50.5 ซม. ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 3.2 กก. สูง 49.9 ซม. ตอนนี้คุณแม่คงปรับตัวให้เข้ากับลูกอยู่ พัฒนาการในช่วงสัปดาห์แรกของลูกน้อยจะมีอะไรบ้างนะ บทความนี้มีคำตอบ
พัฒนาการทางด้านร่างกายของทารก 1 สัปดาห์
ลูกน้อยยังไม่มีพัฒนาการของชั้นไขมัน หากสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าศีรษะของลูกใหญ่กว่าตัวเสียอีก แขนขายังสั้น ศีรษะนุ่ม มือเท้าเย็น ตอนนี้สายตาหนูน้อยจะมองเห็นในระยะสั้น ๆ เวลาที่พ่อแม่มองลูกจะเห็นว่าลูกน้อยจะจ้องมองคุณ ตาแทบไม่กะพริบ เนื่องจากเขาจะเห็นแค่ดวงตา คิ้ว ปลายจมูก และริมฝีปากของพ่อแม่เท่านั้น
ส่วนอวัยวะเพศชายจะมีไข่อยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว แต่ทารกบางคนก็มีไข่เพียงข้างเดียว ซึ่งอีกข้างจะตามมาในภายหลังในเวลาไม่นานนัก ปลายองคชาตจะปิดแต่สามารถปัสสาวะได้และจะเปิดภายหลังเช่นกัน ส่วนอวัยวะเพศหญิงจะมีสีคล้ำเล็กน้อย บางคนมีมูกคล้ายตกขาวหรือเลือดออกมาจากช่องคลอด เพราะเกิดจากฮอร์โมนของแม่ที่ผ่านมาทางสายรก และจะหายไปในเวลา 1-2 สัปดาห์
ในช่วงสัปดาห์แรก ลูกน้อยจะขยับศีรษะได้เล็กน้อย โดยจะเอียงคอไปข้าง ๆ อย่างช้า ๆ ดวงตาจะมองตามพ่อแม่ไป หากพ่อแม่อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี ควรหาของเล่นที่ที่มีความแตกต่างกันชัดเจน เช่น สีดำ ขาว แดง
พัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจของทารก 1 สัปดาห์
ทารกน้อยจะสามารถจดจำเสียงพ่อแม่ที่เคยคุยให้ลูกฟังในท้องได้ เขาจะรู้ว่าคุณคือใคร และเริ่มรับรู้จากกลิ่นตัวขณะที่คุณแม่ให้นมลูกด้วย เมื่อไหร่ที่คุณแม่โอบกอดลูก ลูกน้อยจะรู้สึกปลอดภัย สมองของเขาจะตอบสนองได้เป็นอย่างดี และมีพัฒนาที่ดีขึ้นด้วย ยิ่งคุณแม่พูดคุยกับลูกอยู่บ่อย ๆ ยิ่งจะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และความรู้ความเข้าใจ
ลูกน้อยจะชอบเสียงที่ลากยาวประมาณ 10 นาที ชอบเสียงสูงมากกว่าเสียงต่ำ หากคุณแม่เห็นว่าลูกร้องไห้ไม่หยุด ไม่เพียงแค่นั้น ทารกจะรู้สึกไวต่อการสัมผัส และรู้ด้วยว่าแม่ที่โอบกอดเขาอยู่รู้สึกอย่างไร อยู่ในอารมณ์ไหน
บทความที่เกี่ยวข้อง : สัปดาห์แรกของลูกแรกเกิด แม่ต้องดูแลทารกแรกเกิดอย่างไร วิธีดูแลลูก หลังคลอด
พัฒนาการด้านโภชนาการของทารก 1 สัปดาห์
แหล่งอาหารสำหรับลูกน้อยคือนมแม่ นมแม่มีสารอาหารที่สำคัญมากมาย เช่น แอนติบอดี แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ ส่วนประกอบเหล่านี้จะช่วยให้ระบบภูมิกันของลูกน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมสีเหลือง ที่เรียกว่า โคลอสตรัม (Colostrum) ที่ถือเป็นหัวอาหารชั้นยอดของทารก ซึ่งน้ำนมเหลืองจะให้ทั้งพลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ พร้อมทั้งภูมิคุ้มกันธรรมชาติแก่ทารกด้วย
ในช่วงแรกคุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดนมข้างละ 15 นาที เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาทั้งสองข้าง ในสัปดาห์นี้ลูกจะร้องกินนมไม่เป็นเวลา คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ จัดตารางการกินนมให้ลูกน้อย
พัฒนาการด้านสุขภาพของทารก 1 สัปดาห์
ทารก 1 สัปดาห์เป็นช่วงที่ร่างกายลูกน้อยเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย เพราะร่างกายกำลังปรับสภาพให้เข้ากับโลกภายนอก หากลูกสุขภาพดีจะมีน้ำหนักตามเกณฑ์ ตัวไม่เหลือง ไม่ซีด มีการขับถ่าย 6-8 ครั้งใน 1 วัน และดื่มนมในช่วงที่แพทย์กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนก็อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น อาการน้ำหนักลด เพราะร่างกายขับถ่ายของเหลวส่วนเกินออกมา อาการตาแฉะ ตาเหนียว ที่เป็นอาการทั่วไปจากต่อมท่อน้ำตาเด็ก และอาการผื่นคันตามผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นบนร่างกายหลายจุด
พัฒนาการขับถ่ายของทารก 1 สัปดาห์
สำหรับทารกที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อย เด็กบางคนจะถ่ายอุจจาระหลังจากกินนม ซึ่งอุจจาระของทารกแรกเกิดนั้น จะมีลักษณะดำ ๆ เขียว ๆ หรือที่รู้จักกันว่า “ขี้เทา” โดยจะมีลักษณะเหนียว เป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ของลูกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นปกติ จากนั้นลูกจะอุจจาระเป็นสีเหลืองปกติ คุณแม่จึงไม่ต้องตกใจ แต่หากสังเกตว่าลูก 1 สัปดาห์ยังไม่อุจจาระภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีเพราะลูกอาจเป็นลำไส้อุดตันได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ดูแลทารกหลังคลอด เลี้ยงเด็กทารก การพยาบาลทารกแรกเกิด ต้องทำอะไรบ้าง?
เคล็ดลับดี ๆ ในการเลี้ยงลูก 1 สัปดาห์
- ในช่วง 3 วันแรก ทารกจะมีน้ำหนักตัวลดน้อยลงประมาณ 5-7%
- สัปดาห์แรกระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของลูกน้อยจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น คุณแม่ต้องระวังอย่าให้ใครมาหอมหรือจูบลูก โดยเฉพาะใบหน้าและมือ หากต้องสัมผัสลูกน้อยควรล้างมือให้สะอาดก่อน
- หลังจากคลอดลูก ควรพาลูกไปรับวัคซีนด้วย เช่น วัคซีนป้องกันวัณโรค และโรคไวรัสตับอักเสบบี
- เด็กทารกยังคงมีความเปราะบาง เวลาพ่อแม่อุ้มลูกต้องระมัดระวังที่คอเป็นอย่างมาก ต้องประคองไว้ให้ดี ๆ
- ทารกแรกเกิดจะขับถ่ายออกมาเป็นสีดำปนเขียวเหมือนขี้เทา ลักษณะจะเหนียวหน่อย เพราะเป็นสิ่งที่ตกค้างในลำไส้ของลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ต่อจากนั้นจะถ่ายเป็นสีเหลืองตามปกติ
- ทารกแรกเกิดมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค
พัฒนาการทารก 1 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ร่างกายลูกน้อยกำลังปรับตัวเข้าสู่โลกภายนอก คุณแม่จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และควรสัมผัส หรือกอดลูกบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยให้เจริญเติบโตแข็งแรงค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการทารก 2 สัปดาห์ พัฒนาการทารกแรกเกิด วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พัฒนาการทารก 3 สัปดาห์ พัฒนาการทารกแรกเกิด วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พัฒนาการทารก 4 สัปดาห์ ลูกต้องมีพัฒนาการอย่างไรบ้างนะ?