เมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้น คุณแม่อาจสงสัยว่าควร ป้อนน้ำทารก หรือไม่ เพราะปกติแล้วทารกจะต้องได้รับนมแม่อยู่แล้ว คุณแม่ก็อาจกลัวว่าลูกจะหิวน้ำหรือร่างกายลูกจะขาดน้ำ วันนี้เราจะพามาดูกันว่าจริง ๆ แล้ว ทารกควรดื่มน้ำหรือไม่ และหากให้ลูกกินน้ำหลังจากดื่มนมจะเป็นอะไรหรือเปล่า มาดูกันค่ะ
ทารกไม่ทานน้ำเลย 6 เดือนเป็นไปได้อย่างไร
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยอธิบายว่า จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ลูกน้อยที่กินนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกจะมีผลดีกับการเติบโตและพัฒนาการของลูก เพราะนมแม่มีคุณค่าและพลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการของทารก การกินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในทารกจากโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร ในทางเดินหายใจ (ปอดบวม) หรือหูอักเสบ ช่วยให้ร่างกายของทารกฟื้นตัวเร็วเมื่อเจ็บป่วย และยังช่วยแม่คุมกำเนิดโดยธรรมชาติด้วย
ทำไมน้ำจึงไม่จำเป็นใน 6 เดือนแรก
ในช่วงแรกทารกต้องการปริมาณน้ำ 80–100 มล.ต่อ 1 กก. และประมาณ 140–160 มล.ต่อ 1 กก. ในช่วงอายุ 3–6 เดือน ซึ่งปริมาณน้ำที่ลูกได้รับจากน้ำนม เป็นปริมาณที่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการแล้ว เพราะ 80% ของนมแม่ คือ น้ำ
ดังนั้น การป้อนน้ำทารกก่อน 6 เดือนจึงไม่มีประโยชน์ แถมยังเกิดความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตอีกด้วย โดยข้อยกเว้นเดียวในการป้อนน้ำทารก คือเมื่อเจ้าตัวน้อยไม่สบายหรือร่างกายสูญเสียน้ำเนื่องจากท้องเสียหรืออาเจียน ซึ่งควรให้น้ำทารกภายใต้คำแนะนำของแพทย์ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไม ทารกห้ามกินน้ำ หลังกินนม ถ้ากินแล้วไม่ดีจะเริ่มให้ลูกกินน้ำได้ตอนไหน?
ให้ลูกกินนมแม่แล้ว ต้องกินน้ำอีกไหม
ปกติแล้วคุณแม่จะต้องให้นมลูกตลอด ถ้าหากให้ลูกดื่มนมแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำตามหลังกินนมแม่นะคะ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเลย เพราะนมแม่มีปริมาณที่มากเพียงพอแล้ว และมีสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เกิดในปาก นอกจากนี้ หากคุณแม่ให้ลูกกินน้ำตาม น้ำก็จะไปแทนที่นมในกระเพาะอาหาร ทำให้ลูกกินนมแม่น้อยลง จนส่งผลเสียต่อร่างกายลูก อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกโต 6 เดือนขึ้นไปแล้ว เขาจะต้องกินอาหารเสริมตามวัย และต้องการปริมาณน้ำสำหรับการกลืนและย่อยอาหารมากขึ้น
ผลเสียของการ ป้อนน้ำทารก
1.เปลืองพื้นที่กระเพาะ
เมื่อป้อนน้ำทารก จะทำให้เจ้าตัวน้อยได้รับสารอาหารต่าง ๆ จากนมน้อยลง เนื่องจากพื้นที่ในกระเพาะน้อย ๆ ของลูกถูกแทนที่ด้วยน้ำไปเสียแล้ว หากป้อนน้ำลูกเป็นประจำ อาจทำให้ลูกน้ำหนักขึ้นช้า กินนมได้น้อยลง 11% สำหรับคุณแม่ให้นม เมื่อลูกอิ่มน้ำก็จะดูดนมน้อยลง ส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของคุณแม่ ทำให้นมแม่ลดลงอีกด้วย
2.อาจเสียชีวิตจากภาวะน้ำเป็นพิษ
ผลเสียที่รุนแรงสำหรับทารกเมื่อได้รับน้ำมากเกินไป คือ เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ (Water Intoxication) พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากไตของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถกรองของเหลวได้อย่างรวดเร็ว น้ำจึงไปเจือจางความเข้มข้นของโซเดียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์
โดยที่เด็กดื่มน้ำปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายจะปรับสมดุลได้ ส่งผลระดับเกลือโซเดียมต่ำ จนเกิดความผิดปกติของสมดุลสารน้ำในร่างกายทารก น้ำจึงเข้าไปคั่งในเซลล์ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการกระตุกหรือชัก สมองบวม ปอดบวม โคม่า และเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากเพจ นมแม่แบบแฮปปี้ แนะนำว่า
- ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน หากกินนมแม่ ไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำ เนื่องจากนมแม่มีน้ำเพียงพออยู่แล้ว สำหรับทารกที่กินนมชง ในนมชงก็มีน้ำมากพอ คุณแม่อาจป้อนน้ำตามเพียงแค่ล้างปากก็พอ
- สำหรับทารกอายุมากกว่า 6 เดือน ให้ทานน้ำหลังอาหารก็เพียงพอ โดยให้จิบจากแก้ว ไม่จำเป็นต้องดื่มเป็นออนซ์ ๆ
- ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ หากแข่งขันดื่มน้ำมาก ๆ เร็ว ๆ ทีเดียวหลายลิตร ก็สามารถเกิดภาวะน้ำเป็นพิษและเสียชีวิตได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : กินนมแม่ผสมน้ำ อันตรายทำลูกเสียชีวิต หยุดอ่านก่อนป้อนทารก
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการเมื่อเจ้าตัวน้อยสำลักน้ำหรือดื่ม
- สับสน ซึม เหม่อลอย
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว มีลักษณะเกร็ง
- มึนงง อาเจียน
- หายใจหอบ อ่อนแรง
ถ้าเกิดอาการดังกล่าวขึ้น ให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที ห้ามรอดูอาการเด็ดขาด เพราะหากถึงมือหมอได้ทันท่ว
คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มน้ำประเภทอื่น ๆ ได้ไหม
นอกจากการดื่มน้ำเปล่าแล้ว คุณแม่อาจสงสัยว่าแล้วน้ำประเภทอื่นล่ะ คำตอบคือ ไม่ควรให้ลูกดื่มเหมือนกันค่ะ ทารกจะสามารถดื่มน้ำประเภทอื่นได้ก็ต่อเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว ซึ่งส่วนมากน้ำที่ให้ลูกดื่มก็ควรเป็นน้ำผลไม้คั้นสด คุณแม่สามารถให้ลูกกินร่วมกับอาหารเสริมตามวัย ไม่ควรให้ลูกกินก่อนวัยอันควร เพราะระบบย่อยอาหารของลูกยังทำงานไม่สมบูรณ์ และทารกในช่วงอายุ 0-6 เดือน ควรได้รับนมแม่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เรื่องการป้อนน้ำทารก คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มได้ก็ต่อเมื่อเขาอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะต้องให้อาหารเสริมตามวัย และร่างกายลูกต้องการน้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากลูกยังอายุไม่ถึง 6 เดือน คุณแม่ไม่ควรป้อนน้ำเด็ดขาดนะคะ เพราะการให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงเพียงอย่างเดียวก็ให้น้ำที่เพียงพอแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อย่าให้ลูกกินน้ำหวาน ไม่ดีต่อร่างกาย และพัฒนาการของเด็ก
น้ำผลไม้สำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ ลูกกินน้ำผลไม้แบบไหนได้บ้าง?
ลูกกินน้ำได้เท่าไหร่ต่อวัน แม่สงสัยกันไหม (อายุ 6 เดือน – 4 ปี)
ที่มา : whattoexpect, facebook, 3, enfababy