ประสบการณ์ผ่าคลอด ครูก้อย
ประสบการณ์ผ่าคลอด ครูก้อย ประสบการณ์ผ่าคลอดของคุณแม่คนใหม่ “ครูก้อย” ภรรยาเจมส์ เรืองศักดิ์ ที่มารีวิวทุกสเตปในการผ่าคลอดไว้เป็นวิทยาทาน เผยทุกขั้นตอนการผ่าคลอด ตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงพยาบาล แอดมิทเพื่อเตรียมตัวจวบจนวันคลอด
ครูก้อยเล่าประสบการณ์ผ่าคลอด
หลังจากอดทนรอคอยนานนับ 9 เดือน ก็ถึงวันที่น่ายินดี เมื่อครูก้อย ภรรยาคนสวยของเจมส์ เรืองศักดิ์ ได้ให้กำเนิดลูกสาวตัวน้อย “น้องเมดา” ซึ่งทุกขั้นตอนการผ่าคลอดเป็นไปได้ด้วยดี โดยน้องเมดา ด.ญ.อันโดรเมดา ลอยชูศักดิ์ ลืมตาออกมาดูโลกในเวลา 09.04 น. วันที่ 29 มีนาคม พร้อมกับน้ำหนัก 3,601 กรัม
สำหรับการรีวิวประสบการณ์ผ่าคลอด ครูก้อยได้โพสต์รีวิวสเตปการผ่าคลอด ในเพจ BabyandMom.co.th โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกว่า
รีวิวทุกสเตปในการผ่าคลอด ไว้เป็นวิทยาทาน Day 1 : วันที่ 28 มีค.62 (38W+4d) #แอดมิทเพื่อเตรียมตัว
สระผมให้สะอาด เราต้องแอดมิท 3-4 คืน ครูก้อยตัดผมออก 4 นิ้ว ด้วยค่ะ แต่ยังคงให้สามารถรวบได้ เพราะพอลูกออกมา เราจะไม่มีเวลาไปทำผมค่ะ ตัดไว้ก่อนเลย ตัดเล็บมือ-เล็บเท้าให้สั้น ตะไบอย่าให้คม ใครทาเล็บ ก็ไปจัดการล้างซะให้เรียบร้อย
จัดกระเป๋าไปคลอดเรียบร้อย (มีอะไรบ้างโพสไปให้แล้วก่อนหน้านี้ ดูในอัลบั้มจัดกระเป๋าไปคลอด)
ถึงโรงพยาบาลวิชัยยุทธเวลา 18:00 น. นำพวงมาลัยไปไหว้พระประจำโรงพยาบาลขอพรให้ทุกอย่างราบรื่น
ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดไข้ กรอกข้อมูลใบแจ้งเกิด (ระบุที่อยู่ที่จะให้ลูกเราเข้าบ้าน) น้ำหนักสุทธิขึ้นมา 17.5 kg
พยาบาลนำไปที่ห้องตรวจสภาพทารกในครรภ์ วัดคลื่นหัวใจ วัดกราฟเช็คท้องแข็ง ให้เรากดปุ่มนับการดิ้นของลูก เป็นเวลา ครึ่งชั่วโมง น้องเมดาแอบหลับค่ะ พยาบาลเลยใช้เครื่องกระตุ้นด้วยเสียงและการสั่น สะดุ้งตื่นเลยค่ะ ทีนี้ก็ดิ้นยาว 5555 ทุกอย่างปกติดีค่ะ
พยาบาลนำขึ้นห้องพัก เปลี่ยนชุดโรงพยาบาล แล้วให้เซ็นใบยินยอมการเข้ารับการผ่าตัดคลอด , ใบขอเบิกเลือดสำรองจากคลัง กรณีฉุกเฉิน
ทานมื้อเย็นเป็นข้าวต้มหมู
พยาบาลเจาะเลือด ดูดเลือดไปเช็คหมู่เลือด เพื่อเทียบ และทำเรื่องเบิกเลือดสำรอง (หากเกิดกรณีฉุกเฉินขณะผ่าคลอด)
4 ทุ่มครึ่ง พยาบาลเข้ามาสวนทวารให้ถ่าย (ไม่ชอบขั้นตอนนี้ที่สุด 555)
เที่ยงคืน งดน้ำ งดอาหาร
พรุ่งนี้ต้องตื่น 6 โมงเช้าค่ะ เพื่อเตรียมตัว เพราะเข้าห้องผ่าประมาณ 8:30
รีวิวทุกสเตปในการผ่าคลอด ไว้เป็นวิทยาทาน Day 2 : วันศุกร์ที่ 29 มีค.62 (38W+5d) #วันผ่าคลอด
พยาบาลเข้ามาปลุกตอน 6 โมงครึ่ง (ยังคงงดน้ำงดอาหารอยู่ตั้งแต่เมื่อคืน หลังเที่ยงคืน) วัดความดัน วัดไข้ วัดออกซิเจน และฟังเสียงหัวใจของน้อง ให้น้ำเกลือ
พยาบาลทำการโกนขนบริเวณหน้าท้องและบริเวณอวัยวะเพศทั้งหมด ก่อนจะให้เราไปอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย
ใส่ชุดโรงพยาบาลโดยผูกสายด้านหลัง สามารถแต่งหน้าเข้าห้องผ่าคลอดได้ ครูก้อยเลยจัดบางๆไปพองาม ไว้ถ่ายรูปตอนคลอดเสร็จ (แต่ต้องใช้เครื่องสำอางค์ที่เป็นออแกนิคนะคะ)
8:00 วิสัญญีแพทย์เข้ามาพูดคุยถึงขั้นตอนในการบล็อคหลังคลอด โดยไม่แนะนำให้รับยาสลบระหว่างผ่าคลอด (บางคนกลัวมาก) เพราะยาจะทำให้ลูกเราง่วงด้วย เวลาออกมาจะไม่ร้อง ไม่แอคทีฟ แต่ไม่ได้มีผลระยะยาวค่ะ ไม่แอคทีฟเฉพาะตอนคลอดเท่านั้น แต่เชื่อว่าคนเป็นแม่ก็สามารถก้าวผ่านความกลัวได้เพื่อที่จะแลกกับการได้ยินเสียงลูกร้องดังๆ
8:30 มีรถเตียงมารับเพื่อเข้าห้องคลอด พอถึงหน้าห้องคลอดก็ให้คุณพ่อแยกไปนั่งรออยู่อีกห้องหนึ่งก่อน ค่อยเข้ามาตอนที่ลูกกำลังจะออกมา เพราะเกรงว่าจะกลัวเลือดแล้วเป็นลมในขณะที่ทำการผ่าตัด
คุณแม่ถูกถ่ายจากเตียงรถเข็นไปยังเตียงของห้องคลอดมีพยาบาลและคุณหมอในห้องนั้นร่วม 10 คน ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว วิสัญญีแพทย์ให้นอนตะแคง งอตัวโค้งเป็นกุ้ง งอให้ได้มากที่สุดเพื่อหาตำแหน่งช่องของไขสันหลังในการฉีดยาบล็อคหลัง
วิสัญญีแพทย์ฉีดเข็มที่ 1 เข้าไปบริเวณไขสันหลัง นั่นคือยาชา จะรู้สึกแสบเจ็บนิดๆ ไม่ถึงกับเจ็บมาก แล้วตามต่อด้วยเข็มที่ 2 คือยาบล็อคหลัง เข็มนี้จะไม่เจ็บแล้วค่ะ เนื่องจากว่ามีฤทธิ์ยาชาช่วยไว้ (สรุปว่าการบล็อคหลังไม่เจ็บ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ขึ้นอยู่กับความเบามือของหมอ และการจัดท่าในการงอตัวของคุณแม่เอง)
ฉีดยาบล็อกหลังปุ๊บ พยาบาลก็จับนอนหงายทันที กางแขนออกทั้งสองข้าง ข้างขวาวัดความดัน และข้างซ้ายเสียบเครื่องหนีบนิ้วชี้เพื่อวัดออกซิเจน แล้วให้เหยียดขาตรงทันที สอดสายยางเข้าทางช่องคลอดเพื่อระบายน้ำคาวปลา (ไม่รู้สึกแล้วค่ะ ตอนนี้ยาบล็อคออกฤทธิ์แล้ว)
พยาบาลดึงผ้ามากั้นบริเวณด้านหน้าเพื่อให้เรามองไม่เห็นกระบวนการผ่าตัด ขาก็เริ่มชาแบบไร้ความรู้สึกโดยใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที โดยคุณหมอจะใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มเพื่อเทสว่าท่อนล่างของเราชาอยู่ในระดับที่พร้อมจะผ่าตัดแล้วหรือยัง (ชาตั้งแต่ใต้ราวนม จนถึงปลายเท้าค่ะ)
9:00 ลงมีดผ่าตัด ไม่รู้สึกเจ็บ รู้สึกเพียงแต่ว่ามีการออกแรงกดรู้สึกหนึบๆ ที่ท้อง สักพักผ่านไปประมาณ 3 นาทีพยาบาลก็เรียกให้คุณพ่อเข้ามาด้านหลังบริเวณศีรษะที่เรานอน จึงทำให้เรารู้ว่าลูกใกล้จะออกมาเรียบร้อยแล้ว
9:04 ทุกอย่างเร็วมาก ได้ยินเสียงร้องอุแว้ๆ น้องเมดาออกมาแล้ว…แม่ก้อยน้ำตาซึม พ่อเจมส์ก็นั่งลูบหัวอยู่ ต่างคนต่างก็น้ำตาซึมแต่ตัวก้อยยังมองไม่เห็นลูกนะคะ ส่วนพี่เจมส์เขานั่ง แล้วชะเง้อมองผ่านผ้าที่กั้นบังตาไว้ เค้าบอกว่าเห็นตอนหยิบออกมาเลยค่ะ หยิบออกมาทั้งถุงน้ำคร่ำเลยค่ะ แล้วก็เจาะให้แตก น้ำคร่ำเต็มเลย น้องเมดาถูกยกออกไปเช็ดเลือดและทำความสะอาด รวมทั้งเช็ดไขบริเวณผมด้วยน้ำมันมะกอก ห่อตัว ใส่หมวก แล้วนำกลับมาให้แม่ก้อยกับพ่อเสมส์ ได้ชื่นชมพร้อมกับแชะรูป 3 คนพ่อแม่ลูกเป็นครั้งแรกค่ะ และนำลูกมาวางบนอกให้เค้าหาเต้าด้วยตนเอง
หลังจากนั้นคุณหมอวิสัญญีก็ทำการปล่อยยานอนหลับเข้าสู่ทางสายน้ำเกลือเพื่อให้สลบไประยะสั้นๆ เพราะจะต้องเย็บแผลบริเวณหน้าท้องและตัดไหมที่เคยเย็บปากมดลูกเอาไว้ให้เรียบร้อย ส่วนคุณพ่อก็ตามลูกไปที่ห้องพักสังเกตอาการของเด็กอ่อน
เมื่อทำการเย็บแผลเสร็จเรียบร้อยก็ถูกนำตัวออกจากห้องผ่าตัดแล้วไปอยู่ที่ห้องพักฟื้นคนหลังคลอด ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ย้ายกลับไปพักต่อที่ห้องพักส่วนตัว พยาบาลทำการรัดหน้าท้องด้วยผ้าพยุงแผลผ่าของโรงพยาบาล
ขาหายชาหลังจากออกจากห้องพักฟื้นประมาณ 3 ชั่วโมงและมีอาการคันที่ผิวหนังเนื่องจากเอฟเฟคจากมอร์ฟีนที่ใช้ในการบล็อคหลัง (ถ้าคันจนทนไม่ไหวสามารถขอยาแก้คันฉีดเข้าไปทางสายน้ำเกลือได้ค่ะ) ส่วนแผลผ่าตัดที่ท้องยังไม่รู้สึกเจ็บค่ะเพราะยังมีฤทธิ์ของมอร์ฟีนค้างอยู่ แต่พยาบาลบอกว่า จะเริ่มเจ็บแผลในอีกวันถัดไปค่ะ ถ้าทนไม่ไหวก็ขอยาพาราทานได้ค่ะ
พยาบาลนำน้องเมดาเข้ามาเพื่อให้เข้าเต้า คุณแม่ต้องล้างมือ ทำความสะอาดด้วยเจลฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นพยาบาลก็ทำความสะอาดบริเวณหัวนมโดยใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ดแล้วนำน้องเมดามาเข้าเต้า โชคดีของน้องเมดามากๆที่ครูก้อยมีนมคอลอสตรุ้มออกมาทันที เพราะระหว่างที่รอน้องมา ครูก้อยมีโค้ชนมแม่มาช่วย 2 ท่านค่ะ มาสอนการใช้เครื่องกระตุ้นน้ำนมชนิด hospital grade ที่ใช้กันในโรงพยาบาลของยุโรป
หลังจากที่คลอดเสร็จ จะมีนมสีเหลืองที่ซึมออกมาจากหัวนมเป็นหยดเล็กๆ มันมีคุณค่ามหาศาลสำหรับลูกค่ะ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกไปตลอดชีวิต ลูกจะแข็งแรง ไม่เป็นภูมิแพ้ ก็อยู่ที่เจ้านมสีเหลืองที่เรียกว่า “คอลอสตรุ้ม” ตัวนี้แหละค่ะ ที่จะออกมาเพียงแค่ 1-5 วันเท่านั้น
โค้ชนมแม่ ค่อยๆกระตุ้นเต้านมด้วยเครื่อง พร้อมกับการคลึงเต้า ให้นมสีเหลืองออกมา แล้วดูดใส่หลอดสำรองไว้ พอน้องเมดามาถึง ก็ให้เข้าเต้าต่อ นมคอลอสตุ้มก็ออกเลย ได้ดูดเลยทันที น้องเข้าเต้าง่ายมากค่ะ หมอและพยาบาลชมเลยว่าปกติวันแรก นมยังมักไม่ค่อยมา แต่น้ำนมของครูก้อยมาเลยทันที น้องเมดาได้ดื่มนมคอลอสตรุ้มทันทีในวันแรกคลอด ดีใจที่สุด คุ้มค่าที่บำรุงน้ำนมมาอย่างดี
พยาบาลให้น้องสลับดูดข้างละ 15 นาทีแล้วก็นำกลับไปที่ห้องพักเด็กอ่อน แล้วเว้นทิ้งช่วงไว้ประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงก็จะนำน้องมาเข้าเต้าอีก ทำแบบนี้วนไปจนถึงเช้าของอีกวันค่ะ (ช่วงที่พักเต้าก็ให้ทาครีมกันหัวนมแตกไว้ทุกครั้งนะคะ เลือกชนิด food grade ลูกกินได้ไม่อันตราย)
เริ่มดื่มน้ำทานอาหารได้ตอน 18:00 น. แต่ต้องเป็นอาหารเหลวเท่านั้นค่ะ เพราะลำไส้เพิ่งจะเริ่มทำงานหลังจากถูกฉีดบล็อกหลังมา ทานได้ เช่น ซุปใส น้ำปลี น้ำอินทผลัม ดีที่ครูก้อยเตรียมตัวทำซุปไก่ดำตุ๋นตังกุยสด เตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ฟรีซเอาไว้เยอะเลย ก็เลยได้นำมาเวฟทานในวันแรกของการผ่าตัด เพื่อบำรุงกำลัง บำรุงเลือด และกระตุ้นน้ำนม ส่วนน้ำปลีกับน้ำอินทผลัมก็ยกของตัวเองมาทานที่โรงพยาบาล 1 ลังเลยค่ะ
พยาบาลเข้ามาเปลี่ยนผ้าอนามัยชนิดแบบห่วงทุก ๆ 4 ชั่วโมงค่ะ และล้างจิมิให้สะอาดเอี่ยม ให้ยาฆ่าเชื้อผ่านทางสายน้ำเกลือตลอดคืน
รีวิวทุกสเตปในการผ่าคลอด ไว้เป็นวิทยาทาน Day 3 : วันที่ 30 มีค.62 #น้องเมดามีอายุครบ1วัน
ช่วงเช้า ประมาณ 8 โมง พยาบาลถอดสายน้ำเกลือ และถอดท่อที่เสียบถ่ายปัสสาวะออกแล้วค่ะ ขั้นตอนการถอดท่อปัสสาวะออกจากช่องคลอด ค่อนข้างเจ็บนิดนึงค่ะ แม่ต้องหายใจลึกๆ ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง แต่ถ้าพยาบาลเข้าใจ เค้าจะค่อยๆ ถอดช้าๆค่ะ จะไม่เจ็บมากค่ะ หล้งจากถอดสายไปแล้ว เราจะยังปัสสาวะไม่ออกไปสัก 3-4 ชม.ค่ะ แม้จะปวดก็ตาม ต้องรอให้ร่างกายปรับตัวก่อน
พยาบาลเช็ดตัวให้ เปลี่ยนผ้าอนามัยที่เต็มไปด้วยน้ำคาวปลา รัดหน้าท้องด้วยผ้าสำเร็จรูปเพื่อกระชับมดลูก วัดความดัน วัดไข้ ตามปกติ ทานมื้อเช้าเป็นข้าวต้มหมู และทานยาแก้ปวด 1 เม็ดค่ะ
คุณหมอทำคลอดเข้ามาเยี่ยม พร้อมกับคุณหมอเด็กคนใหม่ที่จะมาดูแลน้องเมดาต่อไปค่ะ
อาหารเที่ยงยังคงเป็นอาหารอ่อนๆ ที่บำรุงน้ำนม วันนี้ทางโรงพยาบาลเสิร์ฟ ข้าวต้มกับบวบผัดไข่ และปลากระพงนึ่งซีอิ๊วกับขิง ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ และทานผลไม้ คือมะละกอสุก
วันนี้ถือว่าหมดกระบวนการแล้วค่ะ อาการที่ยังพบและเพิ่มความเจ็บมากกว่าเดิมคือ ปวดมดลูก และปวดแผลผ่าตัดค่ะ เพราะฤทธิ์ยา และมอร์ฟีนในช่วงบล๊อคหลังหมดแล้ว ทีนี้ก็ชีวิตจริงละค่ะ ช่วงบ่ายปวดมากจึงต้องรับยาฉีดแก้ปวดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกไป 1 เข็ม และทานยาแก้ปวด หลังอาหารเย็นอีก 1 เม็ด ดีขึ้นค่ะ
วันนี้ลุกจากเตียงเป็นครั้งแรกค่ะ มีอาการหน้ามืดค่ะ ต้องนั่งพักแล้วดมแอมโมเนีย ปรับความดันสักพัก มองไกลๆ หายใจลึกๆ สักพักอาการก็ดีขึ้น เพราะเราเพิ่งผ่าตัด เพิ่งเสียเลือดไปค่ะ การลุกขึ้นเดินทันที อาจเกิดอาการแบบนี้ได้ค่ะ
ภารกิจอันยิ่งใหญ่หลังจากนี้ คือการกระตุ้นน้ำนม และให้นมลูกทุกๆ 2 ชั่วโมงค่ะ แม้ช่วงแรกๆ อาจจะยังมีน้ำนมไม่มาก แต่อย่าเพิ่งเครียดไปนะคะ ให้ขยันกระตุ้นด้วยการนวด การให้ลูกเข้าเต้า และการใช้เครื่องปั๊มโหมดกระตุ้น เมื่อฮอร์โมนพร้อมน้ำนมก็จะมาในไม่ช้า ดื่มน้ำไม่เย็นเยอะๆด้วยนะคะ และดื่มน้ำปลี น้ำอินทผลัมให้ได้วันละ 2-3 ขวดค่ะ
วันนี้ลูกจะถูกฉีดวัคซีน 2 เข็มค่ะ คือ ไวรัสตับอักเสบบี กับวัณโรค พอผ่านไป 1 สัปดาห์จะเป็นตุ่มฝีที่หัวไหล่ค่ะ ไม่ต้องทายาอะไร ให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดก็พอค่ะ
วันนี้จะเป็นวันที่แขกเริ่มมาเยี่ยม แม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมค่ะ และต้องกำชับให้ผู้เข้าเยี่ยมล้างมือด้วยเจลฆ่าชื้อ และใส่หน้ากากอนามัยด้วยนะคะ เพราะน้องยังไม่มีภูมิต้านทานค่ะ อายุแค่ 1 วัน และให้สัมผัสน้องได้แค่เท้าก็พอนะคะ แต่ปกติน้องจะอยู่ในห้องทารกแรกเกิดค่ะ และพยาบาลจะนำน้องมาทุกๆ 2 ชม. เพื่อให้ดูดนมแม่ค่ะ
ต้องขอขอบคุณประสบการณ์ผ่าคลอด ครูก้อย ภรรยาเจมส์ เรืองศักดิ์ ที่ได้มาแชร์รีวิวทุกสเตปในการผ่าคลอด ไว้เป็นวิทยาทาน ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ BabyandMom.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ลูกในท้องจะเป็นอันตรายไหม?
กินอะไรให้ท้องเร็ว อยากท้องต้องกินอะไร อาหารที่กินแล้วลูกติดง่ายมีอะไรบ้าง
วิธีดูแลลูกในท้องให้แข็งแรง การดูแลทารกในครรภ์ บำรุงครรภ์ คนท้องดูแลตัวเอง อย่างไร
คนท้องเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้หวัดใหญ่ระหว่างตั้งครรภ์ อาการเป็นอย่างไร ไข้หวัดใหญ่อันตรายหรือไม่