รู้สึกคัดเต้านม น้ำนมแม่ไม่ไหล อาการเหล่านี้เกิดจากการที่น้ำนมของคุณแม่ค้างอยู่ในเต้ามากเกินไป รวมถึงการขยายตัวของหลอดเลือด และท่อน้ำเหลืองที่ทำให้เต้านมของแม่ มีขนาดใหญ่ขึ้น บวมมากขึ้น พอกดแล้ว ก็จะรู้สึกเจ็บ และมีไข้ต่ำ เนื่องจากร่างกายมีการสร้างน้ำนมมากเกินไป และระบายออกได้ไม่ได้
ภาวะท่อน้ำนมตัน สาเหตุที่ทำให้ น้ำนมแม่ไม่ไหล ปั๊มนมไม่ออก
ภาวะท่อน้ำนมตัน เป็นภาวะหลังจากที่คุณแม่เกิดอาการคัดเต้า และไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ทำให้น้ำนมคั่งอยู่ภายในปริมาณมากเกินไป จึงเกิดการอุดตัน เมื่อน้ำนมที่สร้างใหม่ไม่สามารถระบายออกมาจากต่อมน้ำนมได้ จึงเกิดการสะสมเป็นก้อนแข็ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อักเสบ แต่เมื่อกดโดนตรงบริเวณ ก็จะรู้สึกเจ็บ สาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะท่อน้ำนมตัน ดังนี้
สาเหตุของภาวะท่อน้ำนมตัน ปั๊มนมไม่ออก เกิดจากอะไร
1. เกิดจากการใส่เสื้อชั้นในที่ไม่ดี
การอุดตันของท่อน้ำนมบางครั้ง ก็มาจากแรงกดลงที่เต้า ทำให้น้ำนมไม่สามารถไหลผ่านท่อได้สะดวก สาเหตุจากการที่เสื้อชั้นในคับ หรือรัดแน่นมากเกินไป
2. น้ำนมไม่ได้ถูกขับ
การอักเสบของท่อนม หรือท่อน้ำนมอุดตัน นั่นเป็นเพราะว่าในเต้านมของคุณแม่มีน้ำนมมาก แต่ไม่ได้ถูกปั๊มออกไป หรือปั๊มออกมาไม่หมด ดังนั้น เพื่อป้องกันท่อน้ำนมอุดตัน คุณแม่ควรจะปั๊มทุกครั้ง ระวังการตกรอบปั๊มที่อาจทำให้เต้าอักเสบได้
3.ให้ลูกกินนมไม่ถูกวิธี
ท่าทางการให้นมลูก ตำแหน่งที่ลูกดูดก็มีผลกับสุขภาพของเต้านมคุณแม่เช่นกัน หากแม่ปล่อยให้ลูกกินนมอยู่ที่เต้าข้างเดียวเสมอ อาจทำให้ท่อนมอีกข้างเกิดภาวะอุดตันได้ อีกทั้งท่าทางในการอุ้มลูกเข้าเต้า ก็มีส่วนเช่นกัน
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน
1. นวดคลึงเบา ๆ
การนวดคลึงเบา ๆ หรือกดเบา ๆ เพื่อเปิดทางให้นมไหลได้สะดวก วิธีการเตรียมตัวก่อนนวดไม่ยากเลย ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อน แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบเต้านมประมาณ 1 – 3 นาที จากนั้นค่อย ๆ นวดคลึงเต้านม ใช้มือลูบไล้อย่างแผ่วเบาวนไปเรื่อย ๆ บีบเต้าเบา ๆ และบีบลานนมเพื่อกระตุ้น เทคนิคในการนวดเต้านม คุณแม่ต้องเบามือเสียหน่อย อย่าเพิ่งนึกไปถึงการนวดแผนไทยอะไรแบบนั้น
ข้อยกเว้นสำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาเหล่านี้ ไม่แนะนำให้นวดเต้านม
-
ผู้ที่มีปัญหาเต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น
-
เป็นโรคผิวหนัง เพราะอาจจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย
-
มีบาดแผลบริเวณเต้านม
2.ใช้ลูกประคบอุ่น ๆ
การใช้ลูกประคบข้าวสาร ก็ช่วยระบายน้ำนมออกมาได้ดีเช่นกัน วิธีการจะเริ่มจากเนินเต้านม วนไปรอบ ๆ โดยหลีกเลี่ยงบริเวณหัวนมเอาไว้ เน้นประคบตรงจุดที่ปวด ท่อนำ้นมอุดตันมักจะไม่เป็นพร้อมกันทั้ง 2 เต้า และไม่คัดตึงทั่วทั้งเต้า แต่ก็สามารถบอกตำแหน่งที่มีความเจ็บปวดได้ชัดเจน หลังจากประคบเสร็จให้ลูกน้อยดูดเต้าบ่อย ๆ ทุก ๆ 2 – 3 ชม. หรือปั๊มนมทุก ๆ 3 ชม.
3. งดรับประทานอาหารที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน
อาหารจำพวกหวานมัน หรือมีไขมันสูง เช่น หมูกรอบ แคบหมู ขาหมู สาหร่ายอบ หรือทอด โกโก้ปั่น กาแฟเย็น ชาเย็น ชานมไข่มุก ขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ ซาลาเปา กุ้ง ปลาหมึก แยมโรล ปาท่องโก๋ สังขยา กล้วยแขก มะม่วงสุก ทุเรียน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ไปก่อน เพราะนอกจากจะทำให้ท่อน้ำนมอุดตันแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย
4. ให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี
ให้ลูกเข้าเต้าดูดทุก ๆ 3 ชม. หรือบ่อยกว่านี้ พยายามให้ลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมให้ตรงเวลา อย่าปล่อยให้นมค้างเต้าเกิน 3 ชม.ที่สำคัญควรให้ลูกดูดขณะที่หิวมาก ๆ ด้วยแรงดูดของลูกจะช่วยทำให้ก้อนไตหลุดได้
5. ใช้ใบกะหล่ำ
ใบกะหล่ำมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท่อน้ำนมอุดตันได้ คุณแม่สามารถใช้ใบกะหล่ำเย็น ๆ วางลงบนเต้านมใต้เสื้อชั้นใน วางทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นให้นำใบกะหล่ำออก วิธีนี้สามารถทำได้หลาย ๆ ครั้งต่อวัน
6. ใช้ความร้อนช่วย
ใช้ความร้อนระดับลึกของการอัลตร้าซาวด์ เพื่อช่วยสลายก้อนไตให้นิ่มลง ช่วยระบายน้ำนมให้ออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีนี้คุณแม่ต้องปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจรักษา หลังจากพยายามมาทุกวิธีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล
ทั้งนี้ คุณหมอจากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้แนะนำว่าช่วงที่มีอาการคัดปวดตึงเต้านม ให้กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือ Arcoxia บรรเทาอาการได้
สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้น้ำนมแม่ไม่ไหล น้ำนมไม่ออก
1. ความเครียด
ความเครียดมักส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งกับร่างกาย ทั้งที่เข้าใจได้ และไม่อาจจะหาเหตุผล ทั้งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็อาจจะแย่ลง หากผู้ป่วยมีความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า เช่นเดียวกันกับร่างกายของแม่ที่เต็มด้วยความเครียด ก็อาจจะส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาได้น้อย หรือไม่มีน้ำนมเลยก็เป็นได้
2. ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เกิดจากความผิดปกติในการปฏิบัติหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ ในบรรดาฮอร์โมนที่สำคัญ อันได้แก่ เอสโตรเจน และโปรเจสเทอโรน ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต และการเจริญพันธุ์ในสตรี โปรแลคตินที่ถูกผลิตออกมาในระหว่างตั้งครรภ์ และออกซิโทซิน ฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยในการผลิตน้ำนม และการไหลมาสู่ท่อน้ำนมของแม่ หากร่างกายไม่อาจคงความสมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้เอาไว้ได้ การผลิตน้ำนมก็มีปัญหา
3. วิถีชีวิต
เชื่อว่า แม่ทุก ๆ คน คงจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย เพื่อสุขภาพของครรภ์ และการให้กำเนิดบุตรที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ วิถีชีวิตตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จวบจนวันที่น้ำนมไหลออกมาเป็นสารอาหารให้กับลูก ทุก ๆ อย่างก้าวนั้น มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟเป็นประจำ และไม่ดูแลอาหารการให้ได้เท่าที่ควร เหล่านี้ ล้วนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ให้ร่างกายไม่อาจจะผลิตน้ำนมออกมาได้อย่างเพียงพอ
4. การใช้ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดจะส่งผลต่อร่างกายของสตรี ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เนื่องจากประสิทธิผลของยาจะเข้าไปมีอิทธิพลกับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย การใช้ยาคุมกำเนิดหลังจากให้กำเนิดลูกน้อย ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ไม่มีน้ำนมได้เช่นกัน
5. สมุนไพรบางชนิดมีผลต่อการผลิตน้ำนม
การรับประทานสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้คุณแม่ไม่มีน้ำนมได้เช่นเดียวกัน สมุนไพร เช่น สะระแหน่ ออริกาโน่ พาร์สลีย์ เปปเปอร์มิ้นท์ เป็นต้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับโภชนาการอาหาร อะไรทานได้ ทานไม่ได้ และอาหารชนิดไหนที่จะช่วยสร้างน้ำนมได้ดี
คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาน้ำนมไม่ไหล ท่อนมอุดตันไปแล้ว แต่ยังมีเคล็ดลับดี ๆ ในการเพิ่มปริมาณน้ำนมอีกมากมายรอคุณแม่อยู่ที่ คลับคุณแม่น้ำนมน้อย Community ที่ทุกคำถามและความสงสัยเกี่ยวกับปัญหาน้ำนมไม่พอจะมีคำตอบ อย่ารอช้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ คลับคุณแม่น้ำนมน้อย กันค่ะ
ที่มา: todaysparent, คลินิกนมแม่ ศูนย์ศรีพัฒน์ฯ, คลินิกนมแม่พญาไท 3 , parenting.firstcry.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เต้านมอักเสบ จนต้องผ่าตัด เต้านมอักเสบคืออะไร ป้องกันได้ไหม วิธีดูแลและรักษาเต้านมอักเสบ
คัดเต้า หลังคลอด เต้านมเป็นก้อน เกิดจากอะไร มีวิธีไหนช่วยลดปวดเต้านมได้บ้าง