น้ำนมแม่มีกลิ่นหืน ให้ลูกกินต่อได้ไหม การที่น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ แล้วมีกลิ่นเหม็นหืน ทำให้ทารกบางคนไม่ชอบ และไม่ยอมกินนมแม่ แบบนี้จะทำอย่างไรดีนะ ปัญหากวนใจที่อาจทำให้คุณแม่เป็นกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับลูก ทำให้ทารกน้อยมีพัฒนาการช้าลงได้ ทุกความสงสัยของคุณแม่ให้นม บทความนี้จะช่วยหาคำตอบให้เอง
สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่มีกลิ่นหืน เกิดจากอะไร ?
น้ำนมแม่มีกลิ่นหืน ให้ลูกกินต่อได้ไหม เป็นคำถามที่คุณแม่ถามกันเข้ามามาก แต่ก่อนอื่น เราไปดูสาเหตุที่ทำให้น้ำนมมีกลิ่นเหม็นหืนกันก่อนครับ สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่ที่เก็บสต็อกไว้ มักจะมีกลิ่นเหม็นหืน นั่นก็เป็นเพราะว่า ในน้ำนมแม่นั้น มีเอนไซม์ที่ชื่อ “ไลเปส (Lipase)” ที่ช่วยย่อยให้ไขมันในน้ำนมแม่แตกตัว ทำให้ไขมันเป็นอนุภาคเล็ก ๆ และผสมเข้ากับโปรตีนเวย์ได้ดี และไขมันแตกตัวนั้น ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินเอ และวิตามินดี ที่ละลายอยู่ในไขมันของนมแม่ได้ดี
อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนก็จะมีเอนไซม์ (Enzyme) ตัวนี้มากน้อยแตกต่างกันออกไป คุณแม่คนใดที่มีไลเปสมากหน่อย ก็จะย่อยไขมันได้มากขณะที่เก็บอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่อาจทำให้น้ำนมแม่มีกลิ่นเหม็นหืนได้
นอกจากนี้ นมแม่ที่แช่แข็งแล้วมีกลิ่นหืน มักจะเป็นกับนมที่แช่ไว้ในตู้เย็น ที่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ และมีการเก็บไว้ได้นาน ๆ เมื่อระบบละลายน้ำแข็งทำงาน นมแม่ที่แช่ไว้อาจจะละลายบางส่วน พอตู้เย็นกลับมาเย็นจัดอีกครั้ง น้ำนมก็กลับมาแข็งใหม่ กระบวนการแบบนี้ จะทำให้ไขมันในน้ำนมมีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดกลิ่นเหม็นหืนได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเก็บรักษานมแม่ เก็บนมแม่อย่างไรให้อยู่ได้นาน ลูกน้อยกินแล้วไม่ท้องเสีย
วิดีโอจาก : Nurse Kids
นมแม่เหม็นหืน ให้ลูกกินต่อได้ไหม
คุณแม่หลายคนอาจมีความเข้าใจว่านมที่มีกลิ่น อาจมีความผิดปกติ บูด และต้องนำไปทิ้ง เพราะกลัวว่าทารกน้อยจะเป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากน้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ แล้วมีกลิ่นเหม็นหืน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเททิ้ง สามารถให้ลูกกินต่อได้ ไม่เป็นอันตรายกับลูก เพียงแต่เด็กบางคนอาจจะไม่กิน เพราะไม่ชอบกลิ่นนั่นเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญเสียนมโดยไม่จำเป็น คุณแม่อาจต้องรู้วิธีการรักษานม ไม่ให้นมมีกลิ่น หรือลดโอกาสมีกลิ่นเหม็นให้ได้มากที่สุด
น้ำนมแม่ เก็บอย่างไรไม่ให้เหม็นหืน
การแก้ปัญหาไม่ให้นมแม่มีกลิ่นนั้น โดยปกติแล้วจะแก้จากวิธีการเก็บรักษานม เพราะอาจมีบางขั้นตอนที่คุณแม่อาจมองข้ามไป จนส่งผลให้นมมีกลิ่นได้ โดยให้คุณแม่ทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- อันดับแรกเลย ให้ดูก่อนครับว่า เครื่องปั๊มนมนั้น สะอาดดีไหม ภาชนะที่เก็บนมต้องสะอาด ปราศจากเชื้อนะครับ
- ถ้าเก็บน้ำนมในถุงพลาสติกแล้วมีกลิ่น อาจจะลองเก็บใส่ภาชนะที่เป็นแก้ว เพียงแต่อาจจะใช้เนื้อที่ในการเก็บมากหน่อยครับ
- การเก็บนม ควรเก็บโดยการนำไปแช่แข็งให้เร็วที่สุดหลังจากที่ปั๊มออกมา (ถ้าคิดว่าจะไม่ใช้น้ำนมนั้นภายใน 48 ชั่วโมง)
- หากนำน้ำนมที่แช่แข็งไว้ ออกมาละลายแล้ว ไม่ควรนำมาแช่แข็งซ้ำนะครับ
- น้ำนมที่ละลายจากการแช่แข็งแล้ว ควรใช้ภายใน 24 ชั่วโมง
- หากแช่น้ำนมรวมกับอาหารชนิดอื่น ต้องปิดหรือมัดถุงที่เก็บอาหารอื่น ๆ ให้มิดชิด ไม่ให้มีกลิ่นออกมา เพราะน้ำนมอาจดูดกลิ่นอื่น ๆ ในตู้เย็นเข้ามาได้
- หากน้ำนมที่แช่ไว้ มีกลิ่นเหม็นหืนแล้วลูกไม่ยอมกิน ให้ปั๊มให้ลูกกินวันต่อวัน หรือหากแช่ไว้ในช่องธรรมดา ก็สามารถแช่ไว้ได้นาน 2 – 3 วัน โดยที่ยังไม่มีกลิ่นเหม็นหืนครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำนมแม่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน มีวิธีการเก็บอย่างไร ให้อยู่ได้นานและดีที่สุด
ประโยชน์นมแม่ที่ไม่ควรมองข้าม
คุณแม่บางท่านอาจไม่มีเวลา หรือมีเหตุผลที่ไม่สามารถให้นมทารกน้อยได้ แต่หากมีโอกาส และยังสามารถทำได้ เนื่องจากประโยชน์ที่ทารกจะได้รับนั้น ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกมากกว่าที่คิด ดังนี้
- ช่วยพัฒนาการทางสมอง : ผลวิจัยยืนยันว่าทารกที่รับนมแม่มีแนวโน้มที่จะมี IQ สูงกว่าทารกที่กินนมแบบผสม ซึ่งเป็นการวิจัยวัดจากพัฒนาการเรียนรู้ในช่วงของเด็กวัยเรียน นอกจากนี้นมแม่ยังช่วยให้สมอง และเซลล์ประสาทของทารกมีพัฒนาการที่ดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคทางจิตเวชได้ด้วย
- เป็นประโยชน์ต่อภูมิคุ้มกัน : นมแม่มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายของทารกสร้าง Antibody ทำให้ทารกมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยลง เช่น ไข้หวัด, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV), ลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคงูสวัด (Herpes Zoster) เป็นต้น นอกจากนี้นมแม่ยังช่วยลดโอกาสโรคภูมิแพ้ของเด็ก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กด้วย
- การเจริญเติบโตของทารก : การให้ทารกกินนมแม่ จะทำให้กล้ามเนื้อ และกระดูกแข็งแรง ส่งผลต่อวัยหัดเดินที่จะทำได้ง่ายกว่าในเรื่องของการทรงตัว จากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้การกินนมแม่ยังช่วยให้ทารกเลี่ยงการดูดนมขวด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันน้ำนมทารกเรียงตัวไม่สวย ส่งผลต่อฟันแท้ได้
นอกจากประโยชน์ที่ทารกจะได้รับแล้ว การให้นมยังส่งผลดีต่อตัวของคุณแม่เองด้วย เช่น ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด, ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม, มดลูกเข้าอู่ได้เร็วมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของทารกเป็นช่วงสำคัญที่ไม่ควรรับนมอื่น นอกจากการรับนมจากแม่แท้ ๆ การระมัดระวังเกี่ยวกับลักษณะ และคุณภาพของนมแม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประโยชน์ของนมแม่ ประโยชน์ดี๊ดีของการให้ “นมแม่” ที่ทั้งแม่และลูกได้รับ
วิธีอุ่นนมแม่ นมแม่แช่แข็ง แช่ในตู้เย็น อุ่นอย่างไรให้ปลอดภัย ได้สารอาหารครบ
คำถามยอดฮิตของแม่มือใหม่ จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ ?
ที่มา breastfeedingthai, prairielakes, Phyathai, nakornthon