ปัจจุบัน คุณแม่ยุคใหม่ได้หันมาให้ความสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เนื่องจากได้ข้อมูลว่านมแม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากมาย ทว่าหลายคนยังมีความเข้าใจว่า นมแม่มีประโยชน์แค่ 6 เดือนแรก เท่านั้น
ที่สำคัญ ยังมีแพทย์ และพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ยังให้คำแนะนำว่า ให้หยุดนมแม่ และเสริมนมผงแก่ลูกหลัง 6 เดือน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้… แต่ นมแม่มีประโยชน์แค่ 6 เดือนแรก จริงหรือ? และหากคุณแม่อยากให้นมลูกนานกว่า 6 เดือน จะทำได้อย่างไร?
นมแม่มีประโยชน์อย่างไร ?
ประโยชน์ของนมแม่นั้นมากมาย เป็นทั้งอาหารชั้นเลิศของลูกน้อย เปรียบได้กับวัคซีนหยดแรก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยให้ลูกฟื้นตัวเร็วหากเจ็บป่วย มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนมแม่กับการเพิ่มของไอคิวลูกน้อย อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกผูกพันและปลอดภัยให้แก่ลูกน้อย
สำหรับตัวคุณแม่เอง การให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และเบาหวาน อีกทั้งช่วยให้ประหยัดค่านมผง ค่ารักษาพยาบาลของลูก (เพราะลูกเจ็บป่วยน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น)
องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังนี้
- ควรให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
- ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
- ควรให้นมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารเสริมที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเหมาะกับอายุ ตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า
นมแม่มีประโยชน์แค่ 6 เดือนแรก จริงหรือ?
โดยในเพจของ แพทย์หญิง สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้ยกประเด็นเรื่อง การที่คุณแม่ท่านหนึ่งได้พาลูกน้อยวัย 9 เดือน ไปที่โรงพยาบาล แห่งหนึ่ง เพราะน้องมีอาการท้องเสีย แล้วคุณหมอจึงแนะนำให้เลิกทานนมแม่ เพราะหมดประโยชน์แล้ว ให้เปลี่ยนไปกินนมผงแทน เพราะนมแม่ใสเป็นน้ำแล้ว และแนะนำให้นำบอระเพ็ดมาป้ายที่หัวนม เพื่อให้ลูกหย่านม
ซึ่งคุณหมอได้อธิบายในประเด็นดังกล่าวว่า
- นมแม่มีประโยชน์มากกว่านมผงทุกชนิด นมแม่ทุกช่วงอายุ มีสารทุกอย่างที่ลูกต้องการ นมผงพยายามจะเลียนแบบ แต่ก็ทำไม่ได้ นมแม่มีการปรับสูตรไปตามอายุของลูกบ้างเล็กน้อย ความจริงแล้ว นมแม่หลังหกเดือน ไม่ได้ใส แต่ข้นขึ้น เพราะมีปริมาณไขมันมากขึ้น แต่ที่ดูใส ส่วนใหญ่เป็นเพราะนมค้างเต้านาน ไม่ได้ดูด หรือ ปั๊มบ่อย ๆ เหมือนเดิม ซึ่งถ้าคอยปั๊มบ่อย ๆ นมก็จะข้นเหมือนปกติ
แต่หลังหกเดือน ปริมาณนมแม่อาจลดลง ตามการกระตุ้นจากลูกดูดน้อยลง หรือ ปั๊มน้อยลง เพราะ ลูกเริ่มกินข้าว และ นอนหลับนานขึ้น หากลูกยังกินนมแม่อยู่ สารอาหาร และ ภูมิต้านทาน ที่อยู่ในนมแม่ จะช่วยให้ลูกเจริญเติบโตปกติ และ ไม่เจ็บป่วยบ่อย จะเห็นได้ชัดเวลาที่ลูกคนโตได้กลับมากินนมแม่อีกครั้ง เวลาที่แม่คลอดน้อง ลูกคนโตจะป่วยน้อยลง
- นมผงนั้น นอกจากสารอาหารสู้นมแม่ไม่ได้แล้ว ซ้ำยังมีโปรตีนแปลกปลอม อาจมีสารปนเปื้อนในการผลิต เช่น เมลามีน เชื้อแบคทีเรีย Salmonella ซึ่งทำให้ท้องร่วง เชื้อ E.Sakasakii ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โปรตีนแปลกปลอม ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบ ถ่ายเป็นมูกเลือด หายใจครืดคราด นอนกรน เป็นหวัดไม่สบายบ่อย ๆ
นมผงยังมีสารแปลกปลอม ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ เช่น ดีเอชเอสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสารตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ได้มีประโยชน์จริง และ ยังมีบางงานวิจัยพบว่า ดีเอชเอสังเคราะห์ทำให้เด็กมีปัญหาโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ ส่วนสารอัลฟ่าแล็คตัลบูมินจากวัว ซึ่งเป็นคนละชนิด กับอัลฟ่าแล็คตัลบูมินในนมแม่ นั้นยังบอกไม่ได้ว่า ระยะยาวจะมีผลเสียอะไรไหม ผลิตได้ก็เอามาใช้กับลูกมนุษย์เลย
- ในน้ำนมแม่ 1 ซีซี มีเม็ดเลือดขาว 3 ล้านตัว คอยดักจับทำลายเชื้อโรค ที่มีโอกาสเข้าปากลูกตลอดเวลา ตอนยังไม่ไปโรงเรียน ยังไม่ไปเจอเชื้อโรค เด็กที่กินนมผง ก็ยังไม่ป่วยค่ะ แต่ถ้าไปโรงเรียน ไปเจอเชื้อโรคแล้ว จะเห็นชัดเจนว่า เด็กที่กินนมแม่อยู่ จะป่วยน้อยกว่า ถ้าใครที่ลูกยังกินนมแม่อยู่จนถึงวัยเข้าโรงเรียน ก็ให้กินต่อไป แล้วอย่างนี้ ยังเชื่อกันอีกหรือว่า นมแม่หมดประโยชน์หลัง 6 เดือน
ที่มา : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , UNICEF
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำไมเด็กไม่ต้องดื่มน้ำ กินนมแม่อย่างเดียวจะเพียงพอสำหรับลูกหรือไม่
สารอาหารในน้ำนมแม่ 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 47
นมแม่กับพัฒนาการด้านต่าง ๆ / 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 59