นมแม่ส่วนหน้า&ส่วนหลังต่างกันอย่างไร

นมแม่มีประโยชน์มหาศาลสำหรับทารก เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ภูมิคุ้มกันโรค อีกทั้งยังเป็นสายใยของความรักความอบอุ่นที่แม่มีให้แก่ลูก แม้น้ำนมแม่จะมีประโยชน์ แต่เชื่อไหมคะว่า นมส่วนหน้าและนมส่วนหลังหรือช่วงที่ใกล้เกลี้ยงเต้านั้นมีประโยชน์แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างกันอย่างไร ติดตามอ่าน

ประโยชน์ของนมแม่ทั้งต่อแม่และต่อทารก

ประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อทารก

1. นมแม่มีสารอาหารครบตามความต้องการและเป็นสารอาหารที่ทารกสามารถนำไปใช้ได้จึงดูดซึมได้หมด ทำให้มีระยะว่างของทารกน้อย ลูกจึงกินได้บ่อยครั้งทำให้มีน้ำนมมากขึ้นตามความต้องการของลูก

2. นมแม่มีสารมีชีวิต เช่น เม็ดเลือดขาว ภูมิคุ้มกันที่ลูกสามารถเอาไปใช้ได้ทันที เอ็นไซม์ช่วยย่อยอาหารและฮอร์โมนช่วยในการเจริญเติบโต

3. ทารกที่กินนมแม่ป่วยด้วยโรคท้องร่วงน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม

4. นมแม่ลดปัญหาโรคภูมิแพ้และหอบหืด

5. นมแม่ลดปัญหาโรคอ้วนในทารก เพราะมีไขมันดีที่ช่วยพัฒนาสมองและการมองเห็น มีน้ำตาลนมที่กลายเป็นอาหารให้แบคทีเรียตัวดีในลำไส้ใช้ในการ้องกันท้องร่วงให้ทารกด้วย

6. นมแม่ช่วยให้ทารกมีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจที่ดีเพราะได้ใกล้ชิดแม่

ประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อแม่

1. ขณะที่ทารกน้อยดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซีโทซินและโปรแลกติน ซึ่งทำให้แม่รู้สึกผ่อนคลายและมีความรู้สึกรักใคร่ทะนุถนอมทารก

2. การให้ลูกกินนมแม่ทันทีหลังจากคลอดลูกจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซีโทซินในร่างกาย ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วและลดอาการตกเลือดหลังคลอดได้

บทความแนะนำ รู้ได้อย่างไรว่ามดลูกเข้าอู่แล้ว

3. ไขมันที่ถูกสะสมในร่างกายในช่วงตั้งครรภ์จะถูกใช้ในการผลิตน้ำนม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้แม่สามารถลดน้ำหนักตัวได้เร็ว

4. ลูกดูดนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานในแม่ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ ยิ่งให้นานหลาย ๆ ปี จะยิ่งลดความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น

5. ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน และไขข้ออักเสบ กระดูกหักเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากการดูดนมช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยพาแคลเซียมจากลำไส้ไปสะสมที่กระดูกเพิ่มขึ้น

6. ช่วยคุมกำเนิด เพราะการสร้างน้ำนมจะยับยั้งการตกไข่ เมื่อไม่มีการตกไข่ ก็ไม่มีประจำเดือน ได้ถึง 6 เดือนหรืออาจนานกว่านี้หากให้นมแม่ในระยะเวลาที่ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามควรมีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นร่วมด้วย หากยังไม่พร้อมมีลูกคนต่อไป

นมส่วนหน้า & นมส่วนหลัง ต่างกันอย่างไร

นมส่วนหน้า (Foremilk)

1. น้ำนมส่วนหน้า(Foremilk) จะมีไขมันต่ำ แต่มีปริมาณน้ำสูงถึง 80 % ช่วยดับกระหายได้ดี

2. น้ำนมส่วนหน้าเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานและภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของทารก

3. ทารกน้อยได้ขับสารสีเหลืองออกจากร่างกาย

4. น้ำนมส่วนหน้าได้พลังงานจากน้ำตาลแลคโตส จึงไม่จำเป็นต้องป้อนข้าว ป้อนน้ำให้ทารกค่ะ

5. นมส่วนหน้ามีวิตามินและแร่ธาตุเล็กๆ แต่เพียงพอกับความต้องการของลูกค่ะ

นมส่วนหลัง (hind milk)

1. น้ำนมส่วนหลัง (hind milk) จะมีไขมันอิ่มตัวสูง แคลอรี่สูง ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตเร็ว

2. ช่วยสร้างเส้นประสาทที่ประกอบ ด้วย Myelin จะรับส่งสัญญาณ Myelinจะทำหน้าที่สมบูรณ์เมื่อได้รับกรดไขมัน Linoleic และ Linolenic ที่มีมากในนมแม่

3. น้ำนมส่วนหลังจะมีโปรตีนและไขมันสูงกว่าน้ำนมส่วนหน้า ลักษณะของน้ำนมส่วนหลังจะมีความเข้มข้นมากกว่า ซึ่งจะช่วยให้ทารกขับถ่ายออกมาเป็นสีเหลือง เหลืองข้น เป็นเม็ดๆ เหมือนเม็ดมะเขือ

สังเกตดูหากลูกอึกะปริบกะปรอย มีฟอง แสดงว่าได้สัดส่วนของนมส่วนหน้ามาก นมส่วนหลังน้อย แนะนำให้ดูดเต้าครั้งละนานมากขึ้น หรือบีบส่วนหน้าออกหน่อย จะทำให้ทารกขับถ่ายออกมาเป็นลักษณะปกติค่ะ

4. กรณีที่คุณแม่ปั๊มนมได้เกลี้ยงเต้า หรือทำจี๊ดหลายครั้ง ไม่ปล่อยให้นมค้างอยู่ในเต้านานเกินไป จะทำให้นมส่วนหลังขยับมาเป็นส่วนหน้ามากขึ้น ข้อดีคือ นมส่วนหน้าจะข้นมากขึ้น เมื่อลูกดูดจะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มได้ดีขึ้นกว่าเดิม

5. ไขมันในนมส่วนหลังเป็นไขมันดี อุดมไปด้วย Omega AA ARA ไขมันเหล่านี้ลูกเอาไปใช้ได้จริง ไม่เป็นพิษก่อมะเร็ง มีคอเรสเตอรอลที่จะช่วยสร้างใยสมอง

Tip : วิธีปั๊มนมแม่อย่างไรให้ได้นมส่วนหลัง

1. การปั๊มนมของคุณแม่ในแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง

2. เมื่อปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น ควรปั๊มนมให้นานขึ้น และให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่างน้อย 20-30 นาทีหรือปั๊มต่ออีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้ว เพราะการปั๊มให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น

3. การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าอีกวิธีหนึ่ง คือ การปั๊มนมไปพร้อม ๆ กับการดูดนมของลูกอีกข้าง หรือปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง จะทำให้น้ำนมออกได้ดี และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น

บทความแนะนำ รู้จัก&เข้าใจให้ถูกต้อง นมเกลี้ยงเต้าเป็นอย่างไร

4. ถ้าในช่วงวันหากคุณแม่ไม่มีเวลาปั๊ม ไม่ต้องกังวลไปนะคะเดี๋ยวน้ำนมจะไม่ไหล กรณีแบบนี้ให้คุณแม่กระตุ้นหัวนม นึกถึงตอนที่ลูกดูดนมค่ะคุณแม่จะรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ แบบที่น้ำนมกำลังจะไหล หรือที่เรียกว่าการทำจี๊ดนั่นแหละค่ะ จากนั้นก็ค่อยปั๊มนม จะช่วยให้น้ำนมออกง่ายและเร็ว

บทความแนะนำ ทำจี๊ด!!ช่วยแม่กระตุ้นน้ำนมไหลมาเทมา

อ้างอิงข้อมูลจาก

sci.psu

breastfeedingthai

https://www.mom7day.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน

เด็กที่กินนมแม่นานไอคิวดีกว่า