ผู้หญิงหลายคนที่เฝ้ารอคอย อยากมีลูก จนวันนึงที่ประจำเดือนขาด แล้วพอตรวจกับที่ตรวจครรภ์ก็พบว่าตั้งครรภ์ แต่พอไปฝากท้อง นัดคุณหมอตรวจแล้วกลับได้ยินคำตอบว่า “ท้องลม” คงช็อคไปไม่น้อย วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่า ภาวะท้องลม คืออะไร ตรวจเจอได้ไหม และถ้าเจอแล้วต้องทำยังไงต่อ ไปติดตามกันค่ะ
ท้องลม คืออะไร
ภาวะท้องลม หรือ ไข่ลม หรือ ที่ในทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะไข่ฝ่อ” (Blighted Ovum) หมายถึง เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่งที่เกิดจาก ไข่กับอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนแล้ว มีการฝังตัวในระยะแรกแล้ว แต่ส่วนของตัวเด็กฝ่อหายไปก่อน เหลือเพียงแค่ถุงการตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ฝ่อไปเอง
ท้องลม ตรวจเจอไหม
ท้องลม หรือ ภาวะไข่ฝ่อ ตัวอ่อนจะสลายไปตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถตรวจเจอได้ วันที่มาตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูตัวเด็กและหัวใจในช่วง 6-7 สัปดาห์ เราจะพบแต่ถุงการตั้งครรภ์ขนาดเกินกว่า 17-20 มิลลิเมตร ว่าง ๆ แต่ไม่มีตัวเด็กอยู่ภายใน
ซึ่งถ้ายังไม่มั่นใจ ควรนัดตรวจติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ เราควรจะเห็นการเจริญเติบโตของทารก และเห็นการเต้นของหัวใจ ถ้าตรวจซ้ำแล้วยังเห็นแต่ถุงที่มีขนาดที่โตขึ้น แต่ไม่เห็นตัวเด็ก แสดงว่าเป็นภาวะท้องลมอย่างแน่นอน
โดยการวินิจฉัยที่คุณหมอจะบอกว่าท้องลม หรือ ภาวะไข่ฝ่อ คุณหมอจะมีเกณฑ์ดังนี้
- ขนาดค่าเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางถุงการตั้งครรภ์ (MSD) มากกว่า 10 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 20 มิลลิเมตรจากการตรวจทางหน้าท้อง แต่ยังไม่พบถุงไข่แดง หรือ ถุงเก็บอาหารสะสมในเอ็มบริโอ (Yolk sac)
- ขนาดค่าเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางถุงการตั้งครรภ์ (MSD) มากกว่า 18 มิลลิเมตรจากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 25 มิลลิเมตรจากการตรวจทางหน้าท้องแต่ยังไม่พบตัวอ่อน (Embryo)
- ถุงน้ำของการตั้งครรภ์ (Gestational sac) มีรูปร่างผิดปกติอย่างชัดเจน (deformed)
- ในกรณีที่ผลการตรวจก้ำกึ่ง หรือเห็นภาพไม่ชัด ถ้าตรวจซ้ำแล้วเข้าตามเกณฑ์ หรือ รอ 1-2 สัปดาห์แล้ว ไม่พบการเจริญเติบโตของถุงการตั้งครรภ์ก็สามารถสรุปได้ว่าเป็นภาวะท้องลม (Blighted ovum)
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 43 ท้องลมคืออะไร อาการท้องลม คืออะไร
ท้องลม จะหลุดเมื่อไหร่
- ถึงแม้ตัวอ่อนจะฝ่อหายไป แต่ถุงการตั้งครรภ์ก็ยังอยู่ ซึ่งไม่ฝ่อไปเอง ต้องจัดการให้ถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมาด้วย ไม่สามารถบอกได้ว่าท้องลมจะหลุดเมื่อไหร่ บางคนอาจจะหลุดเร็ว หลุดได้เอง แต่บางคนที่ไม่หลุด หรือ ต้องการให้หมอขูดออกให้ก็สามารถทำได้
- ช่วง 6 สัปดาห์แรก หรือหลัง 12 สัปดาห์ไปแล้ว ถ้าแท้งโดยธรรมชาติ ถุงการตั้งครรภ์ มักหลุดออกมาได้เอง หรือแท้งครบ
- แต่ในช่วงระยะกลาง คือหลัง 7 สัปดาห์ จนถึงก่อน 12 สัปดาห์ การแท้งมักจะไม่ครบ จึงอาจมีภาวะแทรกซ้อนตกเลือดได้ ควรไปพบแพทย์ให้แพทย์ขูดมดลูก หรือ ยุติการตั้งครรภ์ให้
มี “ภาวะท้องลม” ต้องทำยังไง
หลังการวินิจฉัยแน่นอนแล้ว ว่าคุณแม่มีภาวะไข่ฝ่อ หรือท้องลม คุณหมอมีแนวทางการรักษา 2 แนวทาง คือ
1. รอให้หลุดเอง หรือ แท้งโดยธรรมชาติ คุณแม่บางราย ถ้าตัวอ่อนฝ่อเร็วมาก ถุงการตั้งครรภ์จะเล็กมาก สามารถแท้งธรรมชาติหลุดออกมาทั้งถุงหมดเลยได้ โดยถ้ารอแล้วถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมาเอง ไม่มีอาการตกเลือด เลือดออกเยอะ ก็ไม่ต้องไปพบคุณหมอ แต่ถ้ามีเลือดออกไม่หยุด ต้องไปพบคุณหมอให้ขูดออก
2. ยุติการตั้งครรภ์ หรือ ทำแท้งโดยแพทย์ คือ การใช้ยาเหน็บ ขูดมดลูก หรือ ดูดออก ซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพราะไข่ฝ่อเป็นการตั้งครรภ์ชนิดที่ไม่มีชีวิต จึงพร้อมจะหลุดออกมาได้ง่ายอยู่แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการคนท้องหลอก อาการท้องลม ท้องหลอกเป็นอย่างไร?
การเกิดท้องลมเกิดได้ทุกช่วงอายุ
- อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดท้องลมซึ่งเป็นแท้งธรรมชาติได้ร้อยละ 15
- ส่วนผู้หญิงที่อายุ 35-38 ปี เสี่ยงท้องลมเพิ่มเป็น ร้อยละ 20-25
- อายุ 39-40 ปี เสี่ยงท้องลม ร้อยละ 30
- เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี เสี่ยงท้องลม ร้อยละ 35-40
จะเห็นได้ว่าโอกาสเกิดท้องลมนั้นสัมพันธ์กับอายุ เมื่อผู้หญิงเราอายุมากขึ้น ความปกติในแง่พันธุกรรมของไข่จะลดลงไป ทำให้ไข่ที่ได้ออกมานั้นเมื่อไปผสมกับอสุจิ จะได้ตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ คืออาจจะขาดหรือเกินที่โครโมโซมคู่ใดคู่หนึ่ง หรือ หลายคู่พร้อม ๆ กัน
การป้องกันท้องลม
ปัจจุบันยังไม่มียา หรือ วิธีการป้องกันที่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ควรดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่หักโหมทำงานหนัก นอกจากนี้ คุณแม่ควรไปตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ เช่น การตรวจโครโมโซม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เพื่อป้องกันภาวะท้องลม
ท้องลม เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่หากคุณแม่มีอาการท้องลมเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ก็อาจเสี่ยงต่อการมีบุตรยากในอนาคต เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการแท้งบุตร และช่วยวางแผนในการรักษาได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการเหมือนคนท้อง แต่ไม่ท้อง คุณแม่เคยเป็นกันไหม
ท้องอ่อนๆ ปวดท้องน้อย ทำไมปวดมาก เสี่ยงแท้งหรือเปล่า?
ปวดท้องคลอด อาการเป็นอย่างไร สัญญาณแบบไหนแสดงว่าใกล้คลอด?
ที่มา : phyathai-sriracha, phyathai-sriracha, paolohospital, si.mahidol, YouTube: หมอเฉพาะทางบาทเดียว, MED CMU