ลูกดูดนมเสร็จต้องให้เรอ ให้ตดสิถึงดี แต่จะ ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมเรอ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การจับเจ้าตัวน้อยให้เรอทุกครั้งหลังกินนม หรือการที่เบบี๋ตดออกมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาตินะคะ ไม่มีอันตรายต่อทารก แถมยังช่วยไม่ให้ลูกเกิดอาการท้องอืดหรือแหวะนมได้ แต่จะ ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมเรอ และถ้าลูกไม่เรอจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

 

ลูกดูดนมเสร็จต้องให้เรอ ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมเรอ

โดยปกติแล้วการดูดนมของทารกนั้น หากดูดในปริมาณที่มากเกินไป หรือในจังหวะที่ลูกหยุดดูด เผลออ้าปากออกจากฐานนม อาจทำให้มีการดูดอากาศเข้าไปด้วย ยิ่งการให้ลูกดูดจากขวดนม ยิ่งมีโอกาสที่จะมีอากาศเข้าไปในท้องลูกได้เช่นกัน จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดในทารก หรือมีอาการแหวะนมได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรทำให้ลูกเรอหลังมื้อนมนะคะ

เด็กบางคนที่ไม่ยอมแหวะนมหรือเรอ มักจะชอบดูดนมเป็นจังหวะ ดูดช้า ๆ เอื่อย ๆ หากลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมออกมา เป็นไปได้ว่าไม่มีลมในท้องหรือดูดนมในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลค่ะ แต่ถ้าสังเกตว่าลูกมีอาการตัวงอหลังดูดนม แต่ไม่ยอมเรอ แสดงว่าลูกมีลมในท้องมาก ยังไงก็ต้องทำให้เจ้าตัวน้อยเรอออกมาให้ได้ค่ะ ซึ่งถ้าลูกมีลมแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ จะทำให้ปวดท้อง อึดอัด และร้องไห้งอแง

 

ทำอย่างไรให้เบบี๋เรอออกมา

  • หลังกินนมให้อุ้มทารกพาดบ่าให้นานขึ้น โดยให้บริเวณคางของลูกวางอยู่บนบ่า ทำให้ลูกตัวตั้งเข้าไว้ จากนั้นลูบไล่ลมหรือตบเบา ๆ ที่หลัง อุ้มเดินไปมาสักพักลูกก็จะแหวะนมหรือเรอออกมาเอง
  • ใช้วิธีวางทารกไว้บนตัก โดยให้วางคว่ำ ใช้มือซ้ายประคองที่คางทารก ให้ลูกเอนโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย และใช้มือขวาค่อย ๆ ตบเบา ๆ บริเวณเอวเร็ว ๆ จะไล่ลมให้ขึ้นมา หรือใช้วิธีลูบช้า ๆ ที่ด้านหลังจากเอวขึ้นมาจนถึงต้นคอ ซึ่งหากลูกมีลมในท้องหรือดูดนมมากเกินไปก็จะแหวะนมหรือเรอออกมา
  • ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้องจะช่วยให้เบบี๋เรอหรือตดออกมา

บางครั้งลูกอาจจะเรอออกมาเป็นเสียงเบามาก จนคุณแม่อาจไม่ได้ยิน ดังนั้นระหว่างที่จะทำให้ทารกเรอนั้นคุณแม่ต้องคอยฟังหรือสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดีนะคะ เพราะการทำให้ลูกเรอหรือแหวะนมเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญสำหรับทารก ถ้าลูกไม่ยอมเรอ แต่ตดออกมาได้ ก็ถือว่าโอเคเช่นกันค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีทำให้ลูกเรอ ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ถ้าไม่เรออันตรายไหม

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมอิ่มแล้ว

เพราะเด็กในวัยแรกเกิดนั้น ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ และด้วยความที่คุณแม่มักจะกลัวว่าลูกจะกินนมไม่อิ่ม กลัวว่าลูกจะโตช้าถ้าหากกินนมน้อย จึงพยายามให้ลูกกินนมเยอะ ๆ จนกลายเป็นว่ากินนมเยอะเกินไป กินนมจนล้นกระเพาะ หรือที่เราเรียกกันว่า Overfeeding เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมอิ่มแล้ว ในเมื่อเด็กในวัยนี้ยังสื่อสารไม่ได้ ซึ่งวิธีการสังเกตว่าลูกอิ่มแล้วนั้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ถ้าลูกหลับขณะกินนม และคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม
  • แต่ถ้าลูกยังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบา ๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อ
  • ลูกมีท่าทางพอใจหลังจากเวลาที่ใกล้จะเลิกให้นมในมื้อนั้น
  • ถ้าลูกกินนมเพียงพอ ลูกจะนอนหลับได้ดี ไม่งอแง และตื่นขึ้นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง เว้นช่วงสัปดาห์แรก ๆ
  • ลูกปัสสาวะสีเหลืองอ่อนใส ชุ่มผ้าอ้อมประมาณวันละ 6-8 ครั้ง
  • สังเกตจากการถ่ายอุจจาระในสัปดาห์แรก โดยทารกควรจะถ่ายอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อวัน
  • น้ำหนักลูกขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ไม่มาก หรือน้อยเกินไป

 

น้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

น้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • 0-3 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
  • 4-6 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 450-600 กรัม/เดือน
  • 7-12 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 300 กรัม/เดือน

หากลูกน้อยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมามากกว่า 35 กรัมต่อวัน หรือ เกิน 1 กก./เดือน แสดงว่าเป็นอาการ Overfeeding ซึ่งลูกน้อยจะรู้สึกอึดอัด ปวดท้อง โยเย ร้องไห้ง่าย แต่ที่ลูกร้องนั้น ไม่ใช่เพราะหิว และหากคุณแม่ยังให้ลูกกินนมอีก เพราะอาจจะคิดว่าที่ลูกร้องไห้เพราะอยากกินนม ก็จะทำให้ลูกอาเจียนออกมา เพราะว่าน้ำนมล้นกระเพาะนั่นเอง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำหนักทารกในแต่ละเดือน พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกควรหนักและสูงแค่ไหน?

 

 

Overfeeding มีอาการอย่างไร

Overfeeding หรืออาการที่ลูกกินนมเยอะเกินไป หรือกินจนล้นกระเพาะ จนแสดงอาการดังต่อไปนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • นอนร้องเสียง แอะ ๆ แอะ ๆ คล้ายเสียงของแพะ หรือแกะ
  • บิดตัวเยอะ
  • มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะอยู่ในคอ แต่เป็นเสียงของนมที่ล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว
  • แหวะนม อาเจียนบ่อย ออกมาทางปากหรือจมูก
  • พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา
  • มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป

 

Overfeeding อันตรายอย่างไร

  • หากลูกกินนมแม่ : อาการ Overfeeding นั้น จะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว นอกจากนี้หากลูกอาเจียนบ่อย ๆ กรดจากกระเพาะอาหารจะย้อนออกมา ทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้
  • หากลูกกินนมผง : นอกจากลูกจะอึดอัด ไม่สบายตัว และอาเจียนบ่อย จากการถูก Overfeeding  ยังจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ และนำไปสู่โรคอ้วนได้ในอนาคตได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : Over Feeding กินนมเยอะเกินไป น้ำนมเยอะเกินไป น้ำนมน้อยเกินไป แบบไหนอันตราย?

 

 

ถ้าลูกกินนมไม่พอจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกยังไม่อิ่ม

สัญญาณบ่งบอกว่าลูกอาจต้องการนมเพิ่ม หรือไม่ได้รับน้ำนมเพียงพอ คุณแม่สังเกตได้จากสัญญาณอาการต่อไปนี้

  • ลูกดูไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ร่าเริง และร้องกวนตลอดเวลา
  • หงุดหงิดหลังจากกินนมแล้ว ท่าทางของลูกดูเหมือนจะไม่พอใจ
  • ตอนที่ลูกกินนม หากลูกดูดเสียงดังจ๊วบ ๆ หรือคุณแม่ไม่ได้ยินเสียงกลืน อาจเป็นเพราะว่าลูกดูดนมไม่ถูกวิธี
  • ผิวของลูกมีสีเหลืองขึ้น
  • ผิวลูกยังดูย่นอยู่ หลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์
  • หากคุณแม่กังวลว่าลูกน้อยไม่ได้รับน้ำนมเพียงพอ ลองให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น และควรอุ้มลูกไว้แนบตัว ถ้าลูกยังอยากกินนมอีก เขาจะหันหน้าเข้าหาเต้านมเอง

 

บางครั้งคุณแม่อาจพบว่าลูกยังหงุดหงิด งอแง เหมือนยังไม่อิ่มนม แม้จะลองให้นมถี่ขึ้นแล้ว ในกรณีนี้ คุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ลูกไม่อิ่มนมหรือการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกท้องอืด ทารกท้องอืด ทำอย่างไรดี รับมืออย่างไรให้ถูกวิธี

การให้นมลูก ปริมาณน้ำนม และความถี่ในการให้นม ฉบับคู่มือแม่มือใหม่

การเคาะหลังให้เด็กเรอ คล้ายอุ้มลูกเรอหลังให้นมหรือไม่ แล้วแม่ต้องทำยังไง

ที่มา : Thaibreastfeeding

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

Napatsakorn .R