ทุกคนย่อมมีแก๊สในกระเพาะอาหารอยู่แล้วรวมถึงลูกน้อยของคุณด้วยเช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่สัญญาณของโรคร้ายที่คุณต้องระวัง อย่าไปคิดว่าเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ไม่น่าจะท้องอืด ตด เรอ หรือร้องไห้ได้บ่อย จริง ๆ แล้วเด็กและผู้ใหญ่สามารถระบายแก๊สออกจากร่างกายได้ 14-23 ครั้งต่อวันเลย บทความนี้จะพามาดูกันว่าลูกมี แก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ เกิดจากอะไร และมีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
ลูกมีแก๊สในกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกมีอากาศในกระเพาะอาหารเยอะ เนื่องจากมีอากาศในท้องเยอะและอาหารไม่ย่อย ซึ่งเมื่อทารกร้องไห้มาก ก็มีโอกาสที่จะกลืนอากาศเข้าไปในท้องมากขึ้น เลยทำให้ร่างกายหาวิธีกำจัดอากาศหรือแก๊สออกค่อนข้างลำบาก ดังนั้น หากลูกของคุณยิ้มร่าเริงและเป็นเด็กอารมณ์ดีทั้งวัน แต่หงุดหงิดเวลาท้องอืดและต้องการระบายแก๊สออกล่ะก็ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกค่ะ เพราะนี่นับว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อย่างเข้าใจผิดคิดว่าลูกเป็นโคลิคก็พอ
แก๊สจากอาหารอาจส่งผลให้ลูกมีแก๊สเยอะ
อาหารบางประเภทก็ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนให้ลูกกินน้ำผลไม้ แต่ในน้ำผลไม้ก็มีซอร์บิทอลหรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ร่างกายของลูกไม่สามารถดูดซึมได้ อาหารบางประเภทที่คุณแม่กินเข้าไปก็สามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้เช่นกัน อย่างถั่วต่าง ๆ ผักที่มีแก๊สเยอะอย่างบล็อกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี อาหารประเภทนมเนย เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่าง ชา กาแฟ ช็อคโกแลต แต่ก่อนที่คุณจะเปลี่ยนอาหารที่คุณกินก็ควรปรึกษาปัญหานี้กับคุณหมอก่อนนะคะ เพื่อให้คุณและลูกได้รับโภชนาการทางอาหารอย่างครบถ้วน
แต่บางครั้งแก๊สในกระเพาะอาหารก็อาจเป็นสัญญาณของโรคระบบทางเดินอาหารได้เช่นกัน ส่วนอาการกรดไหลย้อนบางครั้งก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการอาเจียนเสมอไป อาจจะเป็นจากแก๊สในกระเพาะก็เป็นได้
ทำอย่างไรเมื่อลูกมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ
เมื่อลูกมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตบ่อย ๆ เพราะอาการจุกเสียด ท้องอืด เนื่องจากแก๊สเยอะนั้น อาจทำให้ลูกไม่สบายตัวและร้องไห้งอแงได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พยายามปลอบลูกไม่ให้ร้องไห้มาก เพราะอาจทำให้อากาศเข้าไปในท้องมากขึ้น
- หลังลูกกินนมเสร็จ ควรจับลูกเรอโดยการอุ้มพาดบ่า หรือนอนคว่ำบนตัก แล้วตบหลังเบา ๆ หรือใช้วิธีการลูบหลังเบา ๆ จากส่วนล่างมาจนถึงคอ
- ใช้วิธีจับลูกนอนหงายและยกขาของลูกขึ้น จากนั้นให้ทำท่าเป็นวงกลมเหมือนปั่นจักรยาน แล้วดันเข่าไปที่หน้าอกลูกเบา ๆ
- อาบน้ำให้ลูกน้อย เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวจากอาการจุกเสียดและท้องอืด
- ค่อย ๆ นวดท้องของลูกเบา ๆ โดยนวดเป็นวงกลมหน้าท้อง
- สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแก๊สหรืออาหารรสจัด เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานล้วนส่งผลต่อลูกน้อยโดยตรง
- ให้ลูกทำท่าปั่นจักรยานอากาศ ให้ลูกนอนหงายและคุณจับขาลูกทำท่าปั่นจักรยานอากาศ วิธีนี้ก็สามารถช่วยไล่แก๊สออกมากจากกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
- ให้ลูกนอนคว่ำเพื่อเล่นของเล่น ในระหว่างวันให้ลูกนอนคว่ำเล่นของเล่นชิ้นโปรด ถีบขาไปมาก็ช่วยให้ลูกระบายแก๊สได้มากขึ้นอีกวิธีหนึ่งค่ะ
- คุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อกริปวอเตอร์ตามร้านขายยาเพื่อช่วยบรรเทาอากาศแก๊สในกระเพาะของลูก แม้ว่าผู้ใหญ่รุ่น ๆ ก่อน ๆ จะใช้กริปวอร์เตอร์แก้ปัญหานี้ แต่ยังไม่มีผลการวิจัยรองรับว่าได้ผลมากน้อยขนาดไหน ส่วนผสมในกริปวอร์เตอร์มีแค่ผักชีฝอยและน้ำเท่านั้นไม่เป็นอันตรายกับเด็กหากรับประทานตามคำแนะนำ
เลือกโภชนาการย่อยง่าย ช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหารทารก
การที่ลูกมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ อาจไม่ได้เกิดจากนมแม่โดยตรง แต่เกิดจากการที่ลูกมีอากาศในท้องเยอะ รวมถึงอาหารไม่ย่อย ดังนั้น การเลือกโภชนาการย่อยง่ายอย่าง “นมแม่” จะช่วยลดอาการไม่สบายของลูกได้ นมแม่ดีที่สุด เพราะเป็นนมย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก รวมถึงนมแม่มี MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย
ทารกมีแก๊สในกระเพาะอาหารต้องไปหาแพทย์ไหม
โดยปกติแล้วทารกที่มีแก๊สในกระเพาะอาหารหรือมีอาการท้องอืด ล้วนเป็นอาการปกติที่สามารถรักษาได้ แต่สำหรับเด็กบางคนอาจมีปัญหาของระบบย่อยอาหารที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อย เช่น ลูกไม่ยอมถ่าย ถ่ายเป็นเลือด ร้องไห้ไม่หยุด อารมณ์ฉุนเฉียว และไม่สามารถปลอบลูกให้หยุดร้องได้ นอกจากนี้ หากลูกมีไข้สูงมากกว่า 38 องศา ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน
ทารกอ้วกเกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหารหรือไม่
อาการอ้วกในทารก อาจเกิดจากการที่เด็กมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป เพราะกินไม่หยุดและระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารขึ้นมา ส่งผลให้ลูกเกิดอาการท้องอืดและอาเจียน อีกทั้งยังอาจเกิดการสูดอากาศเข้าไประหว่างการร้องไห้หรือการหอบ หากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหาทางแก้ปัญหาโดยด่วน
ทารกอ้วกแบบไหนเป็นอันตราย
ถ้าลูกมีอาการอาเจียนไม่มาก ก็จะหายไปในวันหรือสองวันค่ะ แต่หากลูกมาอาการอาเจียนนานกว่าปกติ หรืออาเจียนเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อร่างกายลูกได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอาเจียนผิดปกติของลูกดังนี้
-
อ้วกถี่และอ้วกพุ่ง
สำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน และมีอาการอ้วกพุ่ง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ รวมถึงอาจเกิดจากกระเพาะอาหารตีบ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณล่างสุดของกระเพาะอาหารหนาผิดปกติ จนทำให้ช่องหูรูดแคบลง ส่งผลให้ลูกอาเจียนบ่อย ๆ นั่นเอง ซึ่งลักษณะอาเจียนเช่นนี้ อาจทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
-
อาเจียนและมีไข้สูง
เด็กที่มีอาการอาเจียน และมีไข้สูงมากกว่า 38 องศา หากคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการอาเจียน และมีไข้สูง ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
-
อาเจียนเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองปนเขียว
หากลูกอาเจียนออกมาเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองปนเขียว อาจเกิดจากน้ำดีที่ปนออกมาด้วย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการอุดตันในลำไส้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกน้อยมีการอาเจียนในลักษณะนี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
-
อาเจียนเป็นเลือด
อย่างที่รู้กันว่า เมื่ออาเจียนเป็นเลือด ถือเป็นภาวะอันตรายที่เกิดจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ หรือหลอดอาหารอักเสบ หากลูกมีอาเจียนเป็นเลือด ก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อก และหมดสติตามมา หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกอาเจียนเป็นเลือด และมีอาการตัวซีด ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
-
อาเจียนและมีภาวะขาดน้ำ
ทารกมีโอกาสในการเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งหากลูกมีอาการอาเจียนบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตลูกเป็นพิเศษ หากลูกมีการเสียน้ำจากการอาเจียนมาก ๆ ให้น้ำผสมผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) โดยค่อย ๆ ใช้ช้อนป้อนครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ (15 mL) ทุก ๆ 10-15 นาที (ควรใช้ไซริงค์ค่อย ๆ ป้อนทีละนิด) โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการขาดน้ำได้ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง ตาลึกโหล ลูกซึม และไม่ร่าเริง เป็นต้น
-
อาเจียนและมีอาการถ่ายผิดปกติ
นอกจากอาการอาเจียนแล้ว ทารกบางคนอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งแสดงว่าลูกมีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือลำไส้ ถ้าหากลูกมีอาการท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง และไม่ขับถ่ายด้วย อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน หรือลำไส้กลืนกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
ไขข้อข้องใจ! ลูกอาเจียนบ่อย เป็นเรื่องปกติไหม? สงสารลูกน้อย
ลูกแหวะบ่อย สำรอกบ่อย ทำอย่างไรดี วิธีไหนช่วยไม่ให้ลูกแหวะนม
ที่มา : enfababy, healthline, hellokhunmor, enfababy