ทารกแต่ละสัปดาห์เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เริ่มเสริมพัฒนาการได้ตั้งแต่กี่สัปดาห์

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละช่วงเวลาแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเจ้าตัวน้อย การทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของทารกอย่างคร่าว ๆ จึงอาจช่วยให้คุณแม่ปรับพฤติกรรม การใช้ชีวิตให้เหมาะสม กับการเจริญเติบโตของทารกในแต่ละช่วงได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อยได้อีกทางหนึ่ง เรามาดูว่า ทารกแต่ละสัปดาห์เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แล้วเราจะ เริ่มเสริมพัฒนาการได้ตั้งแต่กี่สัปดาห์

ทารกแต่ละสัปดาห์เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง คุณแม่ควรเริ่มเรียนรู้ถึงลักษณะของลูกในครรภ์ว่าช่วงเวลาไหน ลูกจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะ เริ่มเสริมพัฒนาการได้ตั้งแต่กี่สัปดาห์ เพื่อความเตรียมพร้อมในการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์เริ่มต้นเมื่อใด ?

หลายคนอาจเข้าใจว่าพัฒนาการของทารกในครรภ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่การนับเวลาเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงเวลาที่ทารกกำเนิด แล้วเริ่มมีพัฒนาการนั้นแตกต่างกัน โดยทั่วไปการนับอายุครรภ์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ส่วนพัฒนาการของทารกในครรภ์จะเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ ซึ่งจะห่างจากการนับอายุครรภ์เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การนับที่ต่างกันอาจทำให้เกิดความสับสนได้ สำหรับในบทความนี้จะแบ่งพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนับตามอายุครรภ์ ดังนี้

  • ไตรมาสที่ 1 คือ สัปดาห์ที่ 1 – 12
  • ไตรมาสที่ 2 คือ สัปดาห์ที่ 13 – 27
  • ไตรมาสที่ 3 คือ สัปดาห์ที่ 28 – 40

พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 1

ช่วง 3 เดือนแรกเป็นระยะที่อสุจิปฏิสนธิกับไข่ และเจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อน ซึ่งในช่วงนี้จะเริ่มสังเกตเห็นอวัยวะต่าง ๆ ของทารกพัฒนาขึ้นมา

สัปดาห์ที่ 1 – 2 เป็นช่วงที่เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด จัดเป็นระยะไข่ตก คือ ช่วงที่ร่างกายปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ซึ่งจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในครรภ์ได้

สัปดาห์ที่ 3 เมื่ออสุจิปฏิสนธิกับไข่ภายในท่อนำไข่ จะเกิดเป็นเซลล์ที่เรียกว่าไซโกต (Zygote) ประกอบด้วยโครโมโซม 46 แท่ง โดยรับมาจากแม่ 23 แท่งและจากพ่อ 23 แท่ง ทำหน้าที่ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่อย่างสีผม สีตา และลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ รวมถึงกำหนดเพศของทารก หลังจากนั้นไซโกตจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปยังมดลูกพร้อมกับแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนไปด้วย กระทั่งมีลักษณะเป็นเซลล์หลายเซลล์เกาะกลุ่มกันเรียกว่าโมรูลา (Morula)

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัปดาห์ที่ 4 เซลล์ที่แบ่งตัวแล้วจะเข้าไปฝังในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนเอ็มบริโอ (Embryo) ส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกจะค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของรก ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการอยู่รอดของทารก เพราะมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและอาหาร รวมถึงกำจัดของเสียให้ทารกในครรภ์ด้วย

สัปดาห์ที่ 5 ตัวอ่อนเอ็มบริโอจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอก เนื้อเยื่อชั้นกลาง และเนื้อเยื่อชั้นใน โดยแต่ละชั้นจะพัฒนาไปเป็นอวัยวะ และเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของทารกต่อไป ดังนี้

  • เนื้อเยื่อชั้นนอก จะพัฒนาไปเป็นท่อประสาท เส้นผม ผิวหนัง และเล็บ
  • เนื้อเยื่อชั้นกลาง จะพัฒนาไปเป็นกระดูก และเนื้อเยื่อตามร่างกาย รวมถึงหัวใจ และหลอดเลือด
  • เนื้อเยื่อชั้นใน จะพัฒนาไปเป็นปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้

สัปดาห์ที่ 6 ท่อประสาทบริเวณหลังของตัวอ่อนที่เปิดอยู่จะค่อย ๆ ปิดลง เพื่อเตรียมพร้อมต่อการพัฒนาไปเป็นสมอง และไขสันหลัง นอกจากนี้ อวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็เริ่มพัฒนาขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ตา หรือหู และจะเริ่มสังเกตเห็นส่วนนูนที่กำลังพัฒนาไปเป็นแขน

สัปดาห์ที่ 7 ระบบการมองเห็นของตัวอ่อนเริ่มพัฒนาซับซ้อนขึ้น และสามารถสังเกตเห็นส่วนของใบหน้าโดยเฉพาะขากรรไกรบน และจมูก รวมทั้งขา และฝ่ามือได้ชัดเจนมากขึ้น

สัปดาห์ที่ 8 ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 0.5 นิ้ว และเริ่มสังเกตเห็นฝ่าเท้า นิ้วมือ ใบหู ดวงตา ริมฝีปากบน และจมูกชัดเจนกว่าเดิม โดยมีลำตัว และลำคอเหยียดตรงมากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัปดาห์ที่ 9 ข้อศอก นิ้วเท้า และเปลือกตาของตัวอ่อนเริ่มพัฒนาจนสังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้น ศีรษะส่วนบนมีขนาดใหญ่ขึ้น ทว่ายังเห็นส่วนศีรษะกับคางได้ไม่ชัดเจน

สัปดาห์ที่ 10 พังผืดที่นิ้วมือ และนิ้วเท้าสลายไปจนสังเกตเห็นเป็นนิ้วเรียวยาว และเห็นสายสะดือได้ชัดเจน

สัปดาห์ที่ 11 เป็นช่วงที่ตัวอ่อนเอ็มบริโอพัฒนามาเป็นตัวอ่อนโดยสมบูรณ์ ดวงตาของทารกเคลื่อนห่างออกจากกันมากขึ้น เปลือกตาค่อย ๆ ยุบลงจนกลมกลืนกับดวงตา ใบหูลดต่ำลง เริ่มเกิดหน่อที่จะเจริญไปเป็นฟัน และเกิดเม็ดเลือดแดงขึ้นในตับ โดยในช่วงปลายสัปดาห์อาจเริ่มเห็นพัฒนาการของอวัยวะเพศอย่างองคชาติของเพศชาย ปุ่มกระสันหรือคลิตอริส (Clitoris) และแคมใหญ่ของเพศหญิง

สัปดาห์ที่ 12 สังเกตเห็นอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าชัดเจนขึ้นมาก เริ่มสังเกตเห็นเล็บมือ และลำไส้เริ่มพัฒนาขึ้นภายในช่องท้องของทารก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2

ช่วงเดือนที่ 4 – 6 เป็นระยะที่อวัยวะเพศของทารกเจริญเติบโตเต็มที่ จึงสามารถระบุเพศของทารกได้จากการอัลตราซาวด์ และคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้ในช่วงเวลานี้

สัปดาห์ที่ 13 กระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของทารกเริ่มแข็งขึ้น โดยเฉพาะกะโหลก และกระดูกแขนขา นอกจากนี้ ตัวอ่อนจะเริ่มปัสสาวะใส่ถุงน้ำคร่ำ โดยปัสสาวะนั้นจะกลายเป็นน้ำคร่ำให้ตัวอ่อนนำไปใช้แล้วปัสสาวะออกมาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

สัปดาห์ที่ 14 สังเกตเห็นลำคอ แขน และขาของทารกได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเริ่มเกิดเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นภายในม้าม และอาจเริ่มระบุเพศของทารกได้ในระยะนี้

สัปดาห์ที่ 15 ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นจนสามารถมองเห็นกระดูกปรากฏในภาพอัลตราซาวด์ และเริ่มมีเส้นผมบาง ๆ ขึ้นบนหนังศีรษะ

สัปดาห์ที่ 16 ดวงตาเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างช้า ๆ และอาจสังเกตเห็นว่าแขน และขาของทารกค่อย ๆ ขยับไปมาในระหว่างอัลตราซาวด์ แต่ยังขยับไม่มากพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้

สัปดาห์ที่ 17 ทารกเริ่มกลิ้งหรือพลิกตัวไปมา เริ่มมีเล็บเท้าขึ้น และหัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้มากถึงประมาณ 47 ลิตร ต่อวัน

สัปดาห์ที่ 18 ทารกในระยะนี้มีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 5.5 นิ้ว ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงาน และอาจเริ่มได้ยินเสียงจากภายนอก

สัปดาห์ที่ 19 ระยะนี้จะสังเกตเห็นไขมันสีขาวขุ่นหุ้มอยู่ภายนอกผิวหนังของทารกที่เรียกว่าไขทารก (Vernix Caseosa) ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันผิวเกิดรอยถลอก ผิวลอก หรือผิวด้านจากการสัมผัสกับน้ำคร่ำ

สัปดาห์ที่ 20 ในระยะนี้คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น และทารกในครรภ์อาจหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นประจำ โดยอาจตื่นเพราะเสียงหรือการเคลื่อนไหวของแม่

สัปดาห์ที่ 21 ทารกจะมีขนเส้นบาง ๆ ขึ้นตามลำตัว เพื่อช่วยให้ไขทารกเกาะอยู่บนผิวหนัง และอาจเริ่มอมนิ้วหัวแม่มือของตัวเอง

สัปดาห์ที่ 22 มีเส้นผม และคิ้วขึ้นมาอย่างชัดเจน และร่างกายของทารกจะเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานให้เกิดเป็นความร้อนในยามที่อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง

สัปดาห์ที่ 23 ทารกเคลื่อนไหวดวงตาได้เร็วขึ้น เริ่มสังเกตเห็นรอยบนฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นลายนิ้วมือ ลายมือ และลายเท้าต่อไป ทารกบางรายอาจสะอึกด้วย ส่งผลให้ช่องท้องของคุณแม่เกิดอาการกระตุกได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัปดาห์ที่ 24 ในระยะนี้อาจสังเกตเห็นว่าผิวของทารกเหี่ยวย่น โปร่งแสง และมีสีชมพู หรือแดง เนื่องจากเริ่มมีการสร้างเซลล์เลือด ทำให้มองเห็นสีของเลือดผ่านหลอดเลือดฝอยที่มีอยู่ทั่วร่างกาย

สัปดาห์ที่ 25 ทารกอาจจดจำเสียงจากภายนอกได้ และเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเสียงของคุณแม่

สัปดาห์ที่ 26 ปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอด เพื่อช่วยให้ถุงลมภายในปอดขยายตัว ป้องกันถุงลมยุบตัวมากเกินไปจนเป็นอันตราย

สัปดาห์ที่ 27 ทารกมีระบบประสาทที่เจริญเติบโตมากขึ้น และผิวหนังดูเนียนนุ่มยิ่งขึ้นเพราะเริ่มมีไขมันในร่างกาย

พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3

ช่วงเดือนที่ 7 – 9 เป็นระยะที่ร่างกายของทารกในครรภ์เจริญเติบโตเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด

สัปดาห์ที่ 28 – 29 ทารกเริ่มลืมตา สามารถเตะ ยืดตัว หรือใช้มือคว้าได้ ทั้งยังมีระบบประสาทส่วนกลางที่พัฒนามากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมจังหวะการหายใจและอุณหภูมิของร่างกายได้

สัปดาห์ที่ 30 – 31 ทารกส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสังเกตเห็นเส้นผมยาวขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการสร้างเม็ดเลือดแดงภายในไขกระดูกด้วย

สัปดาห์ที่ 32 – 33 ขนเส้นบาง ๆ ที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายทารกเริ่มหลุดร่วง สังเกตเห็นเล็บเท้าได้ชัดเจน รูม่านตาเริ่มตอบสนองต่อแสง และความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระดูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น ยกเว้นกะโหลกศีรษะของทารกที่ยังคงนิ่มอยู่

สัปดาห์ที่ 34 – 35 เล็บมือของทารกจะยาวขึ้นจนถึงปลายนิ้ว แขนและขามีลักษณะอวบอ้วน ผิวหนังมีสีชมพูดูนุ่มลื่น มีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกเฉลี่ย 12 นิ้ว และมีน้ำหนักมากกว่า 2,100 กรัม

สัปดาห์ที่ 36 เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ประกอบกับพื้นที่ภายในมดลูกที่จำกัด จึงอาจส่งผลให้ทารกเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น แต่คุณแม่ก็อาจยังพอรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกอยู่บ้าง

สัปดาห์ที่ 37 ทารกมักกลับหัวไปยังอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมคลอด หากทารกยังไม่เริ่มกลับหัว แพทย์อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และแนวทางในการรับมือด้านนี้เพิ่มเติม

สัปดาห์ที่ 38 – 39 สังเกตเห็นหน้าอกของทารกเด่นชัดขึ้น เล็บเท้ายาวขึ้นมาจนถึงปลายนิ้ว เส้นขนบาง ๆ ที่อยู่ทั่วร่างกายหลุดออกจนเกือบหมด หากเป็นเพศชายลูกอัณฑะของทารกจะตกลงสู่ถุงอัณฑะ และมีการสะสมไขมันไว้ตามส่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นหลังคลอด

สัปดาห์ที่ 40 ทารกจะมีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 14 นิ้ว และมีน้ำหนักเฉลี่ย 3,400 กรัม อย่างไรก็ตาม ขนาดตัว และน้ำหนักของทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ พัฒนาการทารกในครรภ์ที่นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงการคาดการณ์อย่างคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะทารกแต่ละราย อาจมีพัฒนาการแตกต่างกันไป ซึ่งอาจช้า หรือเร็วกว่าเกณฑ์ดังกล่าว โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพของแม่ และปัจจัยอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจเริ่มรู้สึกเจ็บท้องคลอด ในช่วงก่อน หรือหลังวันกำหนดคลอดก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่น่ากังวลแต่อย่างใด แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบความผิดปกติ หรือมีความวิตกกังวลประการใด ควรไปปรึกษาแพทย์เสมอ

ที่มา : pobpad

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 60 ปัจจัยสำคัญของพัฒนาการลูกในครรภ์

นมแม่กับพัฒนาการด้านต่าง ๆ / 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 59

ท่านอนทารก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 64

บทความโดย

ammy