การที่ทารกสะอึก ทารกสะอึกบ่อย เป็นเรื่องปกติของทารก สาเหตุที่เจ้าหนูสะอึกเป็นเพราะกล้ามเนื้อกะบังลม ทำงานไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าออก ซึ่งอาการสะอึกมักจะเกิดหลังจากที่ลูกกินนมอิ่ม เมื่อทารกอิ่มกระเพาะอาหารจึงเกิดการขยายตัว เพราะมีนมเข้าไปอยู่ข้างใน ทำให้เกิดแรงดันไปที่กล้ามเนื้อกะบังลม ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างช่องปอดกับช่องท้อง ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรวดเร็ว ขณะหายใจออกจึงทำให้ทารกเกิดอาการสะอึกนั่นเอง
อาการสะอึกแบบไหน เป็นอันตราย ?
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่า อาการทารกสะอึกนั้น ถือเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติอยู่แล้ว เมื่อสะอึกไปได้สักพักอาการสะอึกจะหยุดไปเอง ไม่ได้เป็นอันตรายรุนแรงต่อทารกแต่อย่างใด และเมื่อทารกเริ่มมีอายุได้ประมาณ 4-5 เดือน อาการสะอึกจะค่อย ๆ หายไปเองค่ะ จะไม่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนช่วงแรก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยมีอาการสะอึกติดต่อกันเป็นชั่วโมง ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที เพราะอาการสะอึกนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นและเป็นอันตรายได้ค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ ทารกสะอึกบ่อย
การที่ทารกสะอึก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ทารกดื่มนมอิ่ม เนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัว เนื่องจากมีนมเข้าไปอยู่ข้างใน จนเกิดแรงดัน ทำให้กล้ามเนื้อตรงบริเวณกะบังลม เมื่อลูกหายใจออกกล้ามเนื้อตรงนี้มันจะมีการหดตัวอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดเป็นเสียงออกมานั่นเองค่ะ คุณแม่จึงควรสังเกตอาการผิดปกติของลูกบ่อย ๆ นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีแก้อาการสะอึก รักษาอาการสะอึก ช่วยให้หายได้ในพริบตา
วิธีแก้ปัญหาทารกสะอึก
- อุ้มเรอ หลังจากที่ทารกอิ่มนมแล้ว คุณแม่ควรจับลูกอุ้มเรอทุกครั้ง วิธีการอุ้มเรอ
- อุ้มลูกให้นั่งตรง ๆ พิงที่อกคุณโดยใช้หัวไหล่ และ คางของคุณ ช่วยรับน้ำหนักลูกไว้ ใช้มือหนึ่งประคองคอของลูก และอีกมือตบหลังลูกเบา ๆ
- ให้ลูกนั่งตรง ๆ บนตักคุณแม่ และใช้มือหนึ่งค่อย ๆ ประคองบริเวณหน้าอกของลูกเอาไว้ จากนั้น เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อย และใช้อีกมือตบหลังลูกเบา ๆ คุณอาจลูบหลังลูกเป็นวงกลม เพื่อกระตุ้นให้เรอด้วยก็ได้ค่ะ
- วางลูกคว่ำลงบนตักของคุณ ใช้มือหนึ่งประคองใต้อกลูก ขณะที่อีกมือลูบหลังเป็นวงกลมหรือตบเบา ๆ
- ถ้าลูกเรอไม่ออก ลองงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก วิธีนี้อาจช่วย ขับลม ออกมาได้ค่ะ
- ให้ดูดนมแม่ แม้ว่าสะอึกก็ให้คุณแม่จับทารกเข้าเต้า เพื่อดูดนมได้ค่ะ การ ดูดนม แม่จากเต้าจะช่วยฝึกทารกหายใจ ที่สำคัญไม่ต้องให้ทารกดื่มน้ำนะคะ สักพักอาการจะดีขึ้นเอง
- ใช้จุกนมหลอก บางครั้งอาการสะอึกของทารกก็ไม่ได้มาจากการป้อนนมเสมอไป ฉะนั้น เวลาที่ลูกเริ่มสะอึกขึ้นมาเอง คุณแม่ลองปล่อยให้เขาดูดจุกนมหลอกดูก็ได้ค่ะ เพราะอาการสะอึกจากการอิ่มนมสามารถหายเองได้ เมื่อกะบังลมของลูกผ่อนคลายมากขึ้น ลูกจะหยุดสะอึกเอง
วิธีไล่ลมให้ทารก
การไล่ลม ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันเวลาที่ทารกสะอึกได้ชัดเจนมาก ๆ ทั้งยังช่วยให้น้ำนมไหลออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ โดยวิธีการไล่ลม คุณแม่สามารถทำได้ 4 วิธี ดังนี้
- หลังจากที่ลูกกินนมอิ่มแล้ว คุณแม่ต้องทำให้ลูกเรอออกมา โดยสามารถทำได้ด้วยการตบหลังเบา ๆ อย่างอ่อนโยน หรือไม่ก็ใช้มือวนเป็นวงกลมไปมาบริเวณท้อง เพื่อไล่ลมออกค่ะ จะได้ไม่ทำให้ทารกสะอึก
- อุ้มลูกพาดบ่า ศีรษะของลูกต้องพาดอยู่บนไหล่ของแม่ จากนั้นค่อย ๆ ลูบหลังลูกเบา ๆ เพื่อช่วยให้น้ำนมที่เพิ่งดื่มเข้าไป มันไหลออกจากกระเพาะอาหาร
- อุ้มทารกนั่งบนตัก จากนั้นเอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อย และใช้มือประคองคางของลูกเอาไว้ ส่วนอีกมือหนึ่งให้ลูบจากหลังไล่ตั้งแต่เอวขึ้นมาจนถึงต้นคอเบา ๆ เพื่อไล่ลมออก
- ให้ลูกดูดนมจากเต้า และไม่ต้องให้ดื่มน้ำตามค่ะ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงให้ลูกดื่มนมจากขวดบ่อย ๆ เพราะการดูดนมจากขวดทำให้ทารกยิ่งดูดเอาลมเข้าไปในกระเพาะอาหารมากขึ้นนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกท้องอืด ท้องป่อง ท้องแข็ง เรอบ่อยตดบ่อย รับมืออย่างไรให้ถูกวิธี
ข้อห้าม! เมื่อลูกมีอาการสะอึก
- ในเด็กแรกเกิด ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อแก้อาการสะอึกเหมือนผู้ใหญ่ เพราะน้ำจะยิ่งเข้าไปดันบริเวณกะบังลม ทำให้เขาสะอึกมากขึ้นและอาจจะสำลักน้ำได้ค่ะ
- ห้ามใช้วิธีบีบจมูกลูก เพื่อให้เขากลั้นหายใจแบบที่ผู้ใหญ่ชอบทำกันเด็ดขาด เพราะเด็ก ๆ ยังไม่ได้เรียนรู้วิธีการหายใจแบบผู้ใหญ่ อาจทำให้ลูกขาดอากาศและเป็นอันตรายได้ค่ะ
- ห้ามเขย่าลูกเพื่อให้เขาหาย แต่ให้จับนั่งตักหรืออุ้มพาดไหล่ แล้วใช้มือค่อย ๆ ลูบบริเวณด้านหลังแบบเบา ๆ เพื่อไล่ลมออก หรือจะค่อย ๆ ตบไล่แบบอ่อนโยนอย่างที่ให้ข้อมูลไปข้างต้นค่ะ
ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการสะอึกของทารกว่าจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้มีอันตรายอะไรต่อทารกมากเท่าไร ถือเป็นอาการที่ปกติมาก ๆ ในเด็กวัยนี้ เพราะกะบังลมของเจ้าหนูยังทำงานได้ไม่สัมพันธ์กัน จึงทำให้เกิดอาการสะอึกได้บ่อย ๆ เมื่อปล่อยไปสักพักจะหายเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่หายห่วงได้เลย แต่ถ้าหากมีอาการสะอึกที่แปลก ๆ หรือสะอึกนานเกินกว่าปกติ รวมถึงมีไข้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระออกมาด้วย ต้องรีบพาไปหาหมอทันทีเลยค่ะ อาจจะมีอาการสะอึกมาจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
ทารกท้องร้อง เกิดจากอะไร? เป็นสัญญาณแจ้งเตือนของลูกใช่หรือไม่?
ทารก สะอึก เป็นอันตรายไหม ? คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือกับอาการนี้อย่างไร ?
ที่มา : sukkaphap-d, premierehomehealthcare, enfababy