ทารกทรงตัวดี สมองทำงานดี
การทรงตัวได้ดีของทารกเป็นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ทารกที่มีอายุประมาณ 6 – 7 เดือนเริ่มมีการทรงตัวนั่งได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า การทรงตัวได้ดีของลูกนั้น แสดงถึงสมองของลูกในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทำงานได้ดีและมีพัฒนาการเป็นปกติ จะเป็นอย่างไร ติดตามอ่าน
การทรงตัวของมนุษย์
การทรงตัว คือ เมื่อมนุษย์สามารถยืนได้ด้วย 2 ขา และสามารถควบคุมร่างกายให้ตั้งตรงเรียกว่า มีการทรงตัวเกิดขึ้น การทรงตัวของมนุษย์ถูกควบคุมโดยหูชั้นกลางและหูชั้นใน ในส่วนของหูชั้นในนั้นจะมีเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสายตา ทำหน้าที่สำคัญในการทรงตัว ไม่ว่าร่างกายจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด โอนเอนไปมา กระโดด โยกเยกไปมา
อย่างไรก็ตาม สายตาจะยังสามารถโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ การทรงตัวทำได้ดี เมื่อร่างกายมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีการสั่งการและการควบคุมกล้ามเนื้อที่ดี มีการประมวลผลการรับรู้ของสมองได้ดี
การทรงตัวมีความสำคัญสำหรับทารกเพราะการที่ทารกจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้นั้น หากเจ้าหนูมีการทรงตัวที่ไม่ดี ไม่นิ่งพอ จะไม่มีสมาธิจดจ่อ สายตาจะไม่เพ่งมอง โฟกัสสิ่งต่าง ๆรอบตัว แบบนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้อย่างแน่นอน
สมองส่วนควบคุมการทรงตัว
สมองเล็กหรือซี รีเบลลัม (Cerebellum) มีหน้าที่หลัก ในการทำหน้าที่ประสานงาน ควบคุมการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทรงตัวให้ทำงานอย่างราบรื่น โดยทำหน้าที่ ดังนี้
1. ส่งสัญญาณถึงมีการประมวลผลการรับรู้ของระบบประสาทสัมผัสที่ดีทั้งเรื่องการมองเห็น การรับรู้ข้อต่อหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย
2. ควบคุมการทำงานพื้นฐานด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในเด็กของแรกเกิด การสั่งการจะยังเป็นไปไม่ดีหรือไม่มีจุดประสงค์ เพราะทารกแรกเกิด – 2 เดือน จะยังไม่สามารถไขว่คว้า หยิบจับ หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้
3. เมื่อทารกเติบโตขึ้น สมองมีการเจริญเติบโตเช่นกัน การทำงานของสมองจะมีวัตถุประสงค์มากขึ้น สังเกตได้จากทารกอายุ 4-6 เดือน ในวัยนี้จะเริ่มไขว่คว้าของเล่น โดยอาศัยการประสานงานของประสาทการมองเห็นและการทำงานของกล้ามเนื้อ
4. สมองในส่วนของการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ จะมีลักษณะเช่นเดียวกับประสาทการรับรู้ความรู้สึก คือ สมองข้างซ้าย จะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อข้างขวา ส่วนสมองข้างขวาควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อข้างซ้าย รวมถึงกล้ามเนื้อใบหน้า การหลับตา การขยับปากและแขนขา
5. นอกจากนี้การทำงานของกล้ามเนื้อยังแบ่งออกเป็น การทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การขยับแขนขา การเดิน การวิ่ง การหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น
พัฒนาการด้านการทรงตัวของทารกในแต่ละช่วงวัย
เมื่อทารกแรกเกิดมานั้น สมองของเจ้าหนูเรียกว่าเป็นห้องว่างที่รอการจัดสรรตกแต่งห้องให้สวยงามจากพ่อแม่ เปรียบเสมือนห้องโล่งที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใด ๆ เปรียบได้กับสมองที่ดูแลส่วนของความคิด ความจำ อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้น บุคคลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมองของลูกได้ คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง การกระตุ้นสมองทำให้เกิดประจุกระแสไฟฟ้าเล็ก ๆ ขึ้นในเซลล์สมอง ส่งสัญญาณไปตามเส้นใยประสาท เชื่อมโยงถึงกัน ส่งผลให้เกิดการมองเห็น การได้ยิน การพูด และการเคลื่อนไหว เป็นต้น
แรกเกิด – 3 เดือน
ในช่วงวัยนี้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของทารกน้อยยังไม่แข็งแรง สังเกตได้จาก ลูกมักจะชอบเอียงหน้าไปด้านที่ถนัด ถ้าคุณแม่ไม่เอามือมารองรับศีรษะไว้ศีรษะจะแหงนหงายไปด้านหลัง ดังนั้น คุณแม่ต้องระวังศีรษะของลูกให้ดีนะคะ ในช่วงเดือนต่อไปลองจับลูกนอนคว่ำ ศีรษะของเจ้าหนูจะเงยขึ้นได้ แต่เพียงชั่วขณะเท่านั้นนะคะ จนเข้าเดือนที่ 3 นั่นแหละค่ะ ศีรษะของเจ้าหนูถึงจะตั้งตรงได้ เริ่มชันคอได้ ควบคุมศีรษะได้มากขึ้น
3 – 6 เดือน
ในระยะนี้การควบคุมกล้ามเนื้อหลังดีขึ้น แขน ขา ของลูกขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ทำท่าพลิกไปพลิกมา เริ่มคืบคลานไปข้างหน้าและจะสามารถพลิกคว่ำได้ในช่วง 6 เดือน กล้ามเนื้อหลังจะแข็งแรงมากขึ้น คุณแม่จะเห็นว่า ลูกเริ่มทรงตัวนั่งได้แต่ไม่นานนัก ดังนั้น ควรมีพนักให้ลูกพิงเพื่อไม่ให้ล้มหรือเอนตัวไปมา เป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เช่น ศีรษะกระแทกพื้น
6 – 9 เดือน
ลูกเรียนรู้เรื่องการทรงตัว พลิกคว่ำได้ รู้จักการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ฝึกคลานไป คลานมาได้คล่องแคล่ว จนสามารถคืบตัวไปข้างหน้าข้างหลัง และการทรงตัวนั่งได้เอง แต่ควรมีหมอนมาช่วยพยุงบ้าง เพื่อป้องกันลูกล้มหน้าคว่ำหรือหงายหลัง การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ส่วนแขน ลำตัว ขา ให้ลูกน้อย จะเป็นการเตรียมพร้อมสู่ทักษะการยืนที่มั่นคงต่อไป
9 – 12 เดือน
ทารกมีกล้ามเนื้อแขน ขา ที่แข็งแรงขึ้นมาก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังต้องช่วยเจ้าหนูพยุงตัวเพื่อเริ่มตั้งไข่ แต่เมื่อเจ้าหนูสามารถพยุงตัวขึ้นเองได้แล้ว ทารกบางคนสามารถก้าวเดินได้ตั้งแต่อายุ 11 -12 เดือนด้วยซ้ำ บางคนเดินได้แต่หนูชอบคลานมากกว่านี่คะแม่ ดังนั้น คุณแม่ต้องพยายามจูงใจให้ลูกฝึกเดินและออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่มากขึ้น
การกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวลูก เป็นพื้นฐานการสร้างการเจริญเติบโตให้กับร่างกาย และที่สำคัญยังช่วยพัฒนาศักยภาพสมองของลูกน้อยอีกด้วย
วิธีกระตุ้นให้ลูกน้อยทรงตัวดี
วิธีการกระตุ้นให้ลูกทรงตัวดี มีหลากหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนได้ค่ะ
1. ให้ลูกได้ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ เพราะตอนที่ลูกยังเป็นทารกนอนอยู๋ในท้องของคุณแม่ กล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ จะยึดเพราะต้องอยู๋ในที่แคบ ๆ ดังนั้น เมื่อเจ้าหนูคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงต้องช่วยทารกน้อยบริหารกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อขาและกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อ เช่น จับขาลูกสลับไปมา การนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้นะคะ
2. กระตุ้นให้ลูกน้อยมีการเคลื่อนไหว เช่น ทารกในวัย 2 – 3 เดือน คุณแม่หาของเล่นสีสันสดใสถือเอาไว้ในมือ ให้ลูกเห็นเจ้าหนูจะได้พยายามไขว่คว้า หรือโตขึ้นมาหน่อยจับให้ลูกนอนคว่ำบนที่นอนหรือบนพื้นที่ไม่ควรอ่อนนุ่มจนเกินไป หาของเล่นสีสันสดใส หรือมีเสียงเพื่อกระตุ้นความสนใจให้ลูกคืบคลานมาหยิบเอง ถ้าเจ้าหนูยังคืบไม่เป็น สามารถช่วยได้โดยจับขาลูกงอแล้วช่วยดันก้น ก็จะคืบคลานได้
บทความแนะนำ อข้อดีของการจับลูกนอนคว่ำ ที่ไม่ใช่แค่หัวทุยสวย
ข้อดีของการคืบคลาน การคืบคลานของทารกไม่ใช่ดีต่อพัฒนาการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เท่านั้นนะคะ แต่ข้อดีของการคืบคลานยังช่วยฝึกสมองทั้งสองซีก เพราะขณะที่เจ้าตัวเล็กคืบคลานอยู่นั้น ลูกต้องใช้มือซ้าย มือขวา สลับกัน เพื่อให้คลานไปข้างหน้า
4. การโยนรับ – ส่ง ของเล่น โดยจับให้ลูกนั่ง ส่งของเล่นไปมา ลูกจะมีสมาธิจดจ่อกับการเล่น สายตาต้องมองตามของเล่น กล้ามเนื้อแขนได้ขยับไปมา และที่สำคัญต้องพยุงร่างกายของตนเองให้ทรงตัวได้จึงเป็นการฝึกด้านการทรงตัวให้ลูกได้อย่างดี
บทความแนะนำ สมาธิจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของลูก
5. อย่าอุ้มอย่างเดียวนะคะ ปล่อยให้ลูกเล่นหรือเคลื่อนไหวเป็นอิสระบ้าง เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว เช่น จับขาลูกทั้งสองข้างทำท่าปั่นจักรยานในอากาศจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อขาได้อย่างดี
คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วนะคะว่า การทรงตัวกับสมองของลูกมีส่วนเกี่ยวข้องกสัมพันธ์กันอย่างไร และมีวิธีการกระตุ้นพัฒนาการการทรงตัวอย่างไร มาเริ่มต้นกันเลยค่ะ เพื่อลูกรักมีสมองที่ดีมีการทรงตัวและการเคลื่อนไหวเหมาะสมกับพัฒนาการ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เปลไกวกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองและการทรงตัวของทารก
ฝึกกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนลูกหัดนั่ง