ต่อมอดีนอยด์โต-ทอนซิลโต ปิดระบบทางเดินหายใจ
ลูกรักหายใจแบบนี้หรือเปล่า ถ้าใช่! แม่ต้องระวัง ต่อมอดีนอยด์โต-ทอนซิลโต ปิดระบบทางเดินหายใจ โดยคุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ เล่าถึงลูกที่มีอาการต่อมอดีนอยด์โต-ทอนซิลโต ว่า
ตามที่หลาย ๆ คนที่ถามมาว่าลูกผ่าตัดอะไร นี่คือข้อมูลเชิงวิชาการนำมาฝากเผื่อให้ทุก ๆ คนที่มีลูกคอยสังเกตลูกเราเวลาเค้าป่วยหรือในเด็กที่นอนกรนหายใจไม่ออก
ลูกชายเป็นหวัดตลอดปีแทบจะไม่มีเลยคำว่าหายหวัดเค้าจะมีน้ำมูกตลอด นอนตอนกลางคืนจะกรนเสียงดังบางครั้งมีหยุดหายใจจนแม่นอนระแวงทุก ๆ คืน ไม่มีวันไหนที่แม่นอนหลับได้เต็มตา คอยดูลูกคอยปลุกเค้าเวลาเค้าหยุดหายใจไปชั่วขณะ
อาการนี้เจอตั้งแต่เค้าได้ขวบที่เห็นอาการ แต่ยังไม่แน่ใจจนเค้าได้ 2.3 ขวบเป็นมากขึ้น ไปหาหมอกินยาก็แค่บรรเทา จนแม่ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ลูกเป็น รู้ว่าลูกมีต่อมอดีนอยด์โตและทอนซิลโตจนจะปิดระบบทางเดินหายใจ พ่อเค้าก็ให้แต่รอๆๆๆๆ
จนเค้า 3.2 ขวบ ไปหาหมอที่คลีนิก หมอส่องดูแบบไม่พูดอะไรมาก เขียนใบส่งตัวด่วนให้ไปโรงพยาบาลเลยค่ะสรุปคือผ่าตัด ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แต่แม่ก็โล่งใจได้ผ่าแม่จะไม่เครียดคอยนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ อีก หลังจากนี้ ก็คอยดูแลหลังผ่าตัดให้ดี หวังว่าเรื่องราวจะเป็นประโยชน์ให้พ่อแม่คอยระวังดูแลลูกของตัวเองให้ดีนะคะ ส่งคลิปให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยนะคะ
อนุญาตให้แชร์เรื่องราวได้นะคะถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์
*** ขอเข้ามาเพิ่มเติมข้อมูลค่ะ เพราะมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านถาม อาการและค่ารักษาพยาบาล
ขอเข้ามาตอบสำหรับที่คุณพ่อคุณแม่ที่เข้ามาถามและแชร์กันออกไปสำหรับเรื่องราวของน้องเจเดน
น้องเป็นลูกครึ่งไทย-มาเลเซีย ซึ่งตอนนี้น้องผ่าตัดที่มาเลเซียคะ
** ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่นี่ คิดเป็นเงินไทย 120,000 กว่าบาท ส่วนในไทยเคยพาไปปรึกษาที่ โรงพยาบาลพิษณุโลก พิษณุเวช เพราะแม่เป็นคนพิจิตร ราคาที่หมอแจ้งมาโดยประมาณอยู่ที่ 70000 บาท และหาข้อมูลที่ รพ.ศิริราช ก็มีหมอเก่ง ๆ หลายท่าน
แต่ตอนนั้นน้องอายุ 2.5 ขวบ พ่อของน้องยังไม่ให้ผ่า แม่ก็รอเวลาและหลับ ๆ ตื่น ๆ ไปกับลูก เวลาลูกหลับมันทรมานสำหรับลูกและคนเป็นแม่มาก เวลาเค้าเป็นหวัดจะนอนไม่ค่อยได้เลย เพราะเค้าหายใจลำบาก นอนกระสับกระส่าย และลุกมาร้องไห้งอแงเพราะหายใจไม่ออก
แม่ก็ล้างจมูกให้เค้า เอายาลดน้ำมูกให้ทาน กินทั้งยาแพทย์และยาจีน ที่บ้านแฟนขายยาจีนเพราะก๋งเป็นหมอยาจีน แต่ก็แค่บรรเทาอาการไปเท่านั้น พาลูกไปออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ ก็ดีขึ้นนิดหน่อยและสังเกตลูกจะเหนื่อยหอบ เพราะหายใจไม่ทัน อ้าปากหายใจตลอด
เคยอ่านในพันทิปมีเคสแบบเดียวกันเยอะ เค้าจะมาแชร์ประสบการณ์ให้อ่านแล้วคุณแม่ก็หาข้อมูลในเว็บเกี่ยวกับอาการเหล่านี้จากที่เอามาลงของ รพ. เกี่ยวกับข้อมูลของต่อมอะดีนอยด์และทอนซิล
ซึ่งถ้าลูกหลับไม่เต็มที่การเจริญเติบโตของเด็กก็จะช้า พัฒนาการช้าและจะเป็นเด็กสมาธิสั้น กินข้าวได้น้อยเรียนก็จะไม่ทันเพื่อน ง่วงซึม เพราะกลางคืนพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะต้องหลับ ๆ ตื่น ๆ จากการหายใจไม่สะดวกและเวลาหยุดหายใจแม่ก็จะคอยปลุก
อยากให้พ่อแม่คอยสังเกตลูก ถ้าไม่แน่ใจให้พาไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก มีข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามมาได้นะคะ ยินดีตอบค่ะ เพราะเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่ ลูกคือแก้วตาดวงใจของเรา
ตอนนี้น้องอายุ 3.2 ขวบ ผ่าตัดเมื่อวาน (24/01/18)
การดูแลหลังการผ่าตัด
- น้องจะเจ็บคอและจมูกหลังผ่าตัด หมอให้ทานของเย็น ๆ ได้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ จะดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์ ให้ทานอาหารอ่อน ๆ จำพวก ซุป โจ๊ก
- หลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ของร้อนค่ะ
- หมอจะให้ยาแก้อักเสบ ยาหยอดจมูก น้ำเกลือล้างจมูก
- หลังการผ่าตัดอาจมีเลือดไหลจากทางจมูกบ้าง แต่มันจะหายไปในวันรุ่งขึ้น เสียงอาจเปลี่ยนก็อย่าตกใจ เพราะเป็นจากการผ่าตัดจะดีขึ้นใน 1-2 อาทิตย์ แล้วพักฟื้นเพื่อดูอาการแค่ 1 คืน ถ้าเช้าวันรุ่งขึ้นไม่มีอะไร หมอก็ให้กลับบ้านได้ ไปดูแลที่บ้านได้ค่ะ ถ้าที่บ้านมีคนสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงนะคะ
มีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามได้นะคะ
ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับ
การผ่าตัดต่อมอดีนอยด์ในเด็ก
Cr.รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ต่อมอดีนอยด์ (adenoid) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก (nasopharynx) มีโครงสร้างภายในใกล้เคียงกับต่อมทอนซิล (tonsils) มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ต่อมอดีนอยด์จะทำหน้าที่มากในช่วงวัยเด็ก (1-10 ปี) และจะทำหน้าที่น้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นจะลดขนาดลง และไม่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่
ต่อมอดีนอยด์นี้มักจะมีขนาดโต (adenoid hypertrophy) (เซลล์ในต่อมถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน) หรือมีการอักเสบเรื้อรัง (chronic adenoiditis) (ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำมูก ไอ มีเสมหะลงคอ เรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis), โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis), โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis), โรคหวัด (common cold or acute viral rhinitis) หรือเป็นหวัดบ่อย (เช่น อยู่รวมกับคนกลุ่มมากๆ เช่น ในเด็กที่อยู่ในโรงเรียนอนุบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก) เนื่องจากมีการอักเสบ และการระคายเคืองของโพรงหลังจมูก
การอักเสบของต่อมอดีนอยด์ (adenoiditis) จะทำให้เกิด
- อาการทางจมูก เช่น คัดจมูก หายใจทางปาก หายใจลำบาก น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะในคอ จากน้ำมูกไหลลงคอ ไอ นอนกรน พูดไม่ชัด เพราะมีเสียงอู้อี้ หรือเสียงขึ้นจมูก ถ้าการอักเสบดังกล่าวเรื้อรัง และเป็นนาน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า เนื่องจากต้องอ้าปากหายใจเป็นเวลานาน เช่น ริมฝีปากหุบไม่สนิท, ฟันบนยื่น (adenoid facies)
- อาการทางหู เนื่องจากการอักเสบดังกล่าว อาจทำให้ท่อยูสเตเชียน (ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ (Eustachian tube dysfunction) อาจมีน้ำขังในหูชั้นกลาง (otitis media with effusion) หรือ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media)
- นอนกรน นอนกระสับกระส่าย หยุดหายใจกลางคืนเป็นพักๆ (obstructive sleep disordered breathing)
ต่อมอดีนอยด์จึงเป็นแหล่งเก็บเชื้อโรคที่สำคัญสำหรับโรคไซนัส และหูชั้นกลางอักเสบ การรักษาต่อมอดีนอยด์โต หรืออักเสบ ประกอบด้วย การให้ยา เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (intranasal steroids) หรือ antileukotriene หรือยาต้านจุลชีพ และการล้างจมูก ควบคุมโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (ถ้ามี)
www.facebook.com/jingjai.hinpha.9/videos/1549011768485676/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกปอดติดเชื้อ ไอจนตัวโยน หายใจครืดคราด สัญญาณอันตรายต้องไปโรงพยาบาล
โรคไหลตายในทารก SIDS ลูกจากไปไม่ทันเตรียมใจ ไม่มีอาการใดเป็นสัญญาณเตือน
ทารกควรนอนท่าไหน ปลอดภัย ไม่ไหลตาย