ตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่มักกังวลเกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ว่าลูกจะปกติไหม จะมีโรคหรือติดเชื้ออะไรหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าโอกาส ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ นั้นมีสูงมาก ปกติร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ โดยผลิตสารภูมิต้านทาน หรือ Antibody มาสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ก็มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางตัว ที่ร่างกายของคุณแม่ผลิตสารภูมิต้านทานได้น้อยเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้เอง
ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ มีโรคอะไรบ้าง ?
1. โรคอีสุกอีใส
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicella ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้โดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศและการสัมผัสเข้าสู่ร่างกาย โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีกค่ะ แต่บางรายก็อาจจะมีเชื้อซ่อนอยู่ในปมประสาท และมีโอกาสเป็นงูสวัดได้เช่นกัน
ส่วนการติดเชื้ออีสุกอีใสในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงสามเดือนแรก อาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น แขนขาผิดรูป จอประสาทตาอักเสบ และตาบอด ลำไส้ตีบฝ่อเป็นช่วง ๆ และมีความผิดปกติของระบบประสาทค่ะ นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือเป็นหลังคลอด 2 วัน ทารกก็มีความเสี่ยงเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้ การป้องกันโรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ
2. โรคหัดเยอรมัน
สำหรับโรคหัดเยอรมัน จะเป็นไข้ออกผื่นที่มาจากเชื้อไวรัส อาการไม่ค่อยรุนแรงเท่าไร สามารถติดต่อได้ทางการหายใจ โดยเชื้อในละอองน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยในอากาศ ระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้ก็คือ 7 วันก่อนออกผื่น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะไม่มีอันตรายจากโรคหัดเยอรมัน แต่ทารกในครรภ์ที่อาจจะติดเชื้อและทำให้เกิดความผิดปกติได้ค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ตอนที่ติดเชื้อด้วยค่ะ หากอยู่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความพิการที่เห็นได้ชัด คือ ตาเป็นต้อกระจก ตาเป็นต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำ รวมไปจนถึงอาจจะมีความผิดปกติทางสมองได้ หรือบางครั้งอาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตเพราะติดเชื้อได้ค่ะ
การป้องกันโรคหัดเยอรมันคือการฉีดวัคซีน และควรฉีดตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือไม่ก็ช่วงวัยสาวตอนที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันมาก่อน แต่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์อยู่ไม่สามารถฉีดได้นะคะ หากคุณแม่กังวลให้เลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคนี้ เพราะหากคุณแม่ติดเชื้อแล้ว ทีมแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ค่ะ เนื่องจากทารกมีโอกาสพิการมากถึง 50-90 % เลยค่ะ
3. ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์
จริง ๆ แล้วการตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีลักษณะเป็นมูกใสหรือขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก และมีปริมาณไม่มากเท่าไร แต่อาจจะมีทุกวัน วันละเล็กน้อย ส่วนลักษณะและปริมาณขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ด้วยค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ควรระวังการมีตกขาวที่ผิดปกติจากเชื้อโรคด้วยนะคะ ซึ่งมันจะทำให้ช่องคลอดอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย บางครั้งก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ด้วยค่ะ ส่วนมีตกขาวที่อันตรายหลัก ๆ แล้วจะแบ่งได้ ดังนี้
- ตกขาวมีสีเทาหรือขาวเข้มเหมือนกับเมือกนม
- คุณแม่มีอาการแสบร้อนด้านในช่องคลอด
- เกิดอาการคันรุนแรงตรงบริเวณช่องคลอด
- ส่งกลิ่นอับคล้ายกลิ่นคาวปลา หรือมีกลิ่นเหม็นแรงผิดปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายไหม? เรื่องของ “ตกขาว” ที่แม่ท้องต้องรู้
4. โรคขี้แมว
โรคขี้แมวจะเป็นโรคจากปรสิตที่ชื่อว่า Toxoplasma gondii สามารถพบได้ในมูลของแมว หรือไม่ก็การกินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัด แถมเชื้อมันยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยค่ะ หากได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้เพียงเล็กน้อย แต่ในบางรายก็ส่งผลทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้เช่นกันค่ะ บ้านไหนที่เลี้ยงแมวอาจจะต้องรักษาเรื่องความสะอาดด้วย
เกิดอะไรขึ้นถ้าคุณแม่ติดเชื้อ
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเลวร้ายค่ะ เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจะเข้ามาทำลายเนื้อเยื่อ ขยายจำนวน และปล่อยพิษขึ้นตามส่วนต่าง ๆ โดยที่สาเหตุของการติดเชื้อนั้นมาจาก
- ไวรัส (virus)
- ไวรอยด์ (viroid)
- โปรตีนพรีออน (prion)
- แบคทีเรีย (bacteria)
- พยาธิตัวกลม (roundworm)
- พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)หรือพยาธิเส้นด้าย (Threadworm)
- เห็บ (tick)
- ไร (mite)
- หมัด (flea)
- เหา (lice)
- เชื้อรา (fungi)
- กลากหรือขี้กลาก (ringworm)
- พยาธิตัวตืด (tapeworm)
ปัญหาการติดเชื้อนี้จะยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก เนื่องจากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เช่น อาจจะส่งผลต่อลูกที่อยู่ในครรภ์ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน คุณแม่ตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ความอ่อนเพลีย และอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งในบางกรณีที่มีการติดเชื้อที่ร้ายแรง อาจจะส่งผลทำให้แท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ ทารกพิการแต่กำเนิด และอาจทำให้คุณแม่เสียชีวิตได้ นี่จึงเป็นเหตุผลนึงที่ต้องมีการป้องกันการติดเชื้อ และการรักษาที่ทันท่วงทียังไงละคะ
ป้องกันการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์
- รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์
- สังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอย่างละเอียดและตรวจครรภ์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากคุณพ่อมีการติดเชื้อใด ๆ ก็ตาม
- เลือกคลินิกและโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือและเข็มฉีดยามีการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน
- รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกด้วยอุณหภูมิที่สูงพอแก่การฆ่าเชื้อ ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไปค่ะ
จะเห็นได้ชัดเลยว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นเกิดการติดเชื้อได้ง่ายมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนรวมไปจนถึงเรื่องของภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ดังนั้น อย่าลืมเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ด้วยการเข้ารับวัคซีนเพื่อป้องกัน หากตรวจพบเชื้อก่อนตั้งครรภ์ก็ควรรักษาตัวเองให้เรียบร้อยก่อนค่ะ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลถึงเจ้าตัวเล็กในท้องได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
9 โรคอันตรายที่เกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์
แม่ติดโควิด ยังสามารถให้นมลูกได้หรือไม่
โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อคืออะไร ทำไมแม่ท้องถึงไม่ควรเป็น
ที่มา : Mom Junction, Phyathai