การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่ายมีหลายสิ่งที่สำคัญ และมองข้ามไม่ได้ หลายอย่างต้องเรียนรู้ และจัดสรรเวลาให้เหมาะสม วันนี้เราจึงมาแชร์ ความรู้ ตารางเลี้ยงเด็ก วัย 0-1 ปี ที่สำคัญมากสำหรับเด็กทุกคน
4 เรื่องต้องรู้เมื่อมีลูกน้อย มัดรวม ตารางเลี้ยงเด็ก วัย 0-1 ปี ที่สำคัญ
ในช่วงทารกแรกเกิดจนถึงลกอายุ 1 ปี มีหลายสิ่งที่ต้องรู้เพื่อจัดการให้เหมาะสมตามเวลา เรามาแชร์ข้อมูลสำคัญทั้ง 4 ข้อ เพื่อให้คุณแม่ไม่พลาดที่จะเตรียมตัวดูแลลูกน้อยให้เติบโตสมวัยกัน
1. การให้นมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกเป็นอย่างน้อย
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารกตามธรรมชาติ ทารกแรกเกิดควรได้รับนมแม่ให้ไวที่สุด โดยเฉพาะนมแม่หลังคลอดที่เรียกว่า “น้ำนมเหลือง (Colostrum)” เนื่องจาก เป็นระยะที่มีสารอาหารสูงสุดที่ทารกต้องการเป็นอย่างมาก เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM และ DHA เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ นอกจากจะช่วยพัฒนาการรอบด้านทั้งทางด้านภูมิคุ้มกัน สมอง และทางเดินอาหาร ในน้ำนมเหลืองยังมีสารสำคัญอย่างแลคโตเฟอร์ริน ที่สามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยกำจัดเชื้อโรค โดยแลคโตเฟอร์รินนั้นจะไปดึงธาตุเหล็กที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแบคทีเรียก่อโรค ทำให้แบคทีเรียเหล่านั้นไม่สามารถเติบโตได้ น้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์รินจึงเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่ แต่จะพบได้มากที่สุดในช่วง 1 – 3 วันหลังคลอดเท่านั้น
ส่วนคุณแม่ที่กังวลว่า น้ำนมเหลืองจะหาไม่ได้เลยใช่ไหมหลังจากนั้น คุณแม่ยังพอเบาใจได้ เพราะนมแม่ในช่วงอื่น ๆ ยังมีส่วนผสมของแลคโตเฟอร์รินที่พบในน้ำนมเหลืองอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่ได้มากมาย ไม่เข้มข้นเท่าหลังคลอดใหม่ ๆ เท่านั้นเอง นมแม่หลังจากผ่านช่วงหลังคลอดยังถือว่ามีประโยชน์ต่อทารกมากอยู่ดี ซึ่งทารกควรรับนมแม่ต่อเนื่องไปอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่จะเริ่มทานอาหารเสริมอื่น ๆ ในบางมื้อ ดังนั้นหากคุณแม่มีปัญหาเรื่องการให้นม เช่น มีน้ำนมน้อย ควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที
2. ตารางการให้นม และปริมาณนมที่ต้องเตรียม
สำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 1 ปี จะต้องการปริมาณน้ำนมต่อวันที่แตกต่างกัน ไปจนถึงจำนวนครั้งที่ต้องให้ในแต่ละวัน ซึ่งคุณแม่สามารถศึกษาได้ จากข้อมูลด้านล่างนี้
- ทารกแรกเกิด – 2 เดือน : ต้องการนมวันละ 24 ออนซ์ ให้ 1 – 3 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 8 – 12 ครั้งในทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 2 – 3 เดือน : ต้องการนมวันละ 24 – 32 ออนซ์ ให้ 3 – 4 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 6 – 8 ครั้งในทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง
- ลูกอายุ 3 – 6 เดือน : ต้องการนมวันละ 24 – 32 ออนซ์ ให้ 4 – 8 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 6 – 8 ครั้งในทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง
- ลูกอายุ 6 – 7 เดือน : ต้องการนมวันละ 32 ออนซ์ ให้ 6 – 8 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 5 – 6 ครั้งในทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง (ให้อาหารเสริมได้ 1 มื้อ)
- เด็กเล็กอายุ 7 – 9 เดือน : ต้องการนมวันละ 32 ออนซ์ ให้ 6 – 8 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 5 – 6 ครั้งในทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง (ให้อาหารเสริมได้ 2 มื้อ)
- เด็กเล็กอายุ 9 – 12 เดือน : ต้องการนมวันละ 24 ออนซ์ ให้ 7 – 8 ออนซ์ / ครั้ง ให้วันละ 3 – 5 ครั้งในทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง (ให้อาหารเสริมได้ 3 มื้อ)
อย่างไรก็ตามเด็กเล็กยังสามารถกินอาหารชนิดอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ร่วมกับนมแม่ได้ โดยเฉลี่ยไปจนถึงอายุ 2 ปี ดังนั้นหากผู้ปกครองพบว่าลูกของตนยังไม่ยอมหย่านมก็อย่าเพิ่งตกใจไป
3. สรุปตารางการนอนของเด็กอายุ 0 – 1 ปี
สำหรับการนอนของลูกในช่วงแรกเกิดไปจนถึง 1 ปีจะต้องการรูปแบบการนอนที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกทารกจะนอนบ่อย และนานกว่า จนเวลาผ่านไปจำนวนชั่วโมงในการนอนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปได้เอง ดังนี้
- ทารกแรกเกิด – 1เดือน : นอน 16-18 ชม./วัน โดยจะนอนไม่เป็นเวลา กลางวันจะนอน 8-9 ชม. กลางคืนอีก 8-9 ชม.
- ทารกอายุ 1 – 3 เดือน : นอน 15-16 ชม./วัน และนอน 3-4 ครั้ง/วัน กลางวันจะนอน 7-8 ชม. กลางคืนอีก 8-9 ชม.
- ลูกอายุ 3 – 6 เดือน : นอน 15 ชม./วัน และนอน 3 ครั้ง/วัน กลางวันจะนอน 6-7 ชม. กลางคืนอีก 9-10 ชม.
- ลูกอายุ 6 -12 เดือน : นอน 14-15 ชม./วัน และนอน 2-3 ครั้ง/วัน กลางวันจะนอน 3-4 ชม. กลางคืนอีก 10-11 ชม.
- เด็กอายุ 1 ปี : นอน 15-16 ชม./วัน และนอน 1-2 ครั้ง/วัน กลางวันจะนอน 2-3 ชม. กลางคืนอีก 11-12 ชม.
เมื่อลูก ๆ โตขึ้น การนอนกลางวันจะค่อย ๆ น้อยลงตามไปด้วย ผู้ปกครองไม่ต้องตกใจ หากลูกนอนกลางวันน้อยลง และต้องการเล่นมากกว่า เด็กหลายคนจะเลิกนอนกลางวันไม่เท่ากัน แต่มักจะไล่เลี่ยกันในช่วงอนุบาล ไปจนถึงประถมต้น
4. วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับช่วงอายุ 1 ปี
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การฉีดวัคซีนของลูก ที่จำเป็นจะต้องได้รับอย่างครบถ้วนที่สุด ไม่ควรขาดแม้แต่เข็มเดียว โดยทั่วไปแล้ว เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี ควรได้รับวัคซีน ดังต่อไปนี้
- ทารกแรกเกิด : HB1 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด) และ BCG วัคซีนป้องกันวัณโรค
- วัคซีนทารกอายุ 1 เดือน : DTP-HB-Hib1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ, OPV1 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน และRota1 วัคซีนโรต้า
- วัคซีนทารกอายุ 4 เดือน : DTP-HB-Hib2 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ, OPV2 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน, IPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด และ Rota2 วัคซีนโรต้า
- เด็กอายุ 6 เดือน : DTP-HB-Hib3 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ, OPV3 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน และ Rota3 วัคซีนโรต้า
- เด็กอายุ 9 เดือน : MMR1 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
- วัคซีนทารกเด็กอายุ 1 ปี : LAJE1 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
โดยปกติแล้วแพทย์จะเป็นคนแนะนำในการรับวัคซีนของทารกอยู่แล้ว คุณแม่ควรพูดคุยกับแพทย์ และพาลูกมาฉีดวัคซีนตามกำหนด สิ่งที่สำคัญคือ ควรให้ลูกได้รับวัคซีนในช่วงเวลาที่ถูกต้อง จากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์เท่านั้น
การดูแลลูกน้อยตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ก็มีความยากง่ายที่แตกต่างกันกับในช่วงแรกเกิดนี้ นอกจากอาหารการกิน การให้รับนมแม่ นมผง การดูแลสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สารอาหารในน้ำนมแม่ สุดยอดประโยชน์จากธรรมชาติสำหรับลูกน้อย
นอกจากนมแม่ ให้ลูกกินอะไรได้อีก สารอาหารอะไรบ้างที่สำคัญกับทารก ?
รู้หรือไม่!! MFGM คือ สารอาหารในนมแม่ ช่วยพัฒนาสมองของลูกรัก ให้พร้อมเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่มา :unicef, nakornthon