คนท้องท้องเสีย ปวดท้องบิด อาการแบบนี้ส่งผลต่อลูกในท้องหรือไม่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คนท้องท้องเสีย อาการปวดท้องบิด อาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดบิด เรามาดูกันว่าคนท้องท้องเสีย ควรรับมือกับอาการเหล่านี้อย่างไรดี แล้วอาการท้องเสียในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ๆ กับอาการท้องเสียตอนท้องแก่ ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร

 

คนท้องท้องเสีย อาการท้องเสียในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอันตรายหรือไม่

อาการท้องเสีย เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียมีดังต่อไปนี้

  • ท้องเสียจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากการตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของลำไส้ภายใน จึงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ (แพ้ท้อง) ท้องผูก ท้องเสีย เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวมักจะไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 2 – 3 วัน

 

  • ท้องเสียอันเกิดจากการติดเชื้อ

โดยมากการติดเชื้อ มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า “อาหารเป็นพิษ” ซึ่งสารปนเปื้อน อาจจะเกิดจากวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ หรือ มีการปรุงที่ไม่สะอาด และถูกสุขอนามัย จนทำให้เกิดการปนเปื้อนของไวรัส หรือแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงควรใส่ใจในเรื่องของอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ ที่นอกจากจะต้องครบ 5 หมู่ แล้ว ยังต้องสะอาด และปลอดภัยอีกด้วย

 

  • การเปลี่ยนอาหารตอนตั้งครรภ์

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็จะเริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องของอาหารแต่ละมื้อ และมักจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัว เปลี่ยนแปลง จนส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ร่างกายไวต่ออาหารต่าง ๆ มากขึ้น

เนื่องจากฮอร์โมนภายในร่างกาย เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายเกิดอาการต่อต้านอาหารบางประเภท และมีการตอบสนองที่แตกต่างไปจากเดิม บางครั้งจะเป็นการแสดงออกจากการอาเจียนออกมา หรืออาการท้องเสีย ก็ได้เช่นกัน

 

  • ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้

ในเคสของคุณแม่บางคนอาจมีปัญหาที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ จนทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา แม้ว่าสารอาหารบางอย่างอาจจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายของเราสามารถย่อยได้เป็นปกติอยู่แล้วในช่วงก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งในคุณแม่บางรายอาจทำให้เกิดโรคทางระบบย่อยอาหารแทรกซ้อนได้อีกด้วย

เช่น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

1)  โรคเซลิแอค (Celiac Disease)

เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตนกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายผนังลำไส้จนทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ ก่อให้เกิดปัญหาในระบบขับถ่าย ซึ่งพวกกลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวบารเลย์ ข้าวสาลี และข้าวไรย์ค่ะ

2) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)

เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ซึ่งก็คือปลายลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูกหรือท้องเสียได้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

3) โรคโครห์น (Crohn’s Disease)

โรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง หรือน้ำหนักตัวลดลง และยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนมากมักจะเกิดขึ้นที่ลำไส้ส่วนปลายหรือลำไส้ใหญ่

4) โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)

เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผนังบริเวณลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร และส่งผลให้เกิดเลือดออกที่ผนังลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น ผู้ที่เป็นลำไส้อักเสบจะมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีมูกเลือดปนออกมา ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนมากจะเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผนังลำไส้ที่มีการอักเสบนั่นเอง

5) โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

เกิดจากการอักเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย สาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) โรต้าไวรัส (Rotavirus) เชื้อแบคทีเรีย ผ่านการสัมผัส การรับประทานอาหาร ภาชนะที่มีการปนเปื้อน เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเกิดกระบวนการขจัดเชื้อโรคออกจากกระเพาะอาหาร ลำไส้ ซึ่งกระบวนการนี้แหละที่ทำให้กิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ค่ะ

 

  • วิตามินบำรุงครรภ์ทำให้ท้องเสียได้

วิตามินเสริมบางชนิด ที่กินเพื่อการบำรุงครรภ์ อาจส่งผลข้างเคียงกับคุณแม่บางคน ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นก่อนที่จะเลือกกินวิตามินทุกครั้ง คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน หรือถ้าคุณแม่รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์แล้ว เกิดอาการท้องเสียเกิดขึ้น การพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะคุณหมออาจแนะนำให้เปลี่ยนวิตามินที่รับประทาน เป็นชนิดอื่น ๆ ที่ให้ผลในการบำรุงครรภ์ที่เหมือนกัน แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียแต่อย่างใด หรืออาจให้หยุดรับประทานวิตามินนั้นหากไม่มีความจำเป็นมากพอ

 

ท้องเสียระหว่างตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร

อาการท้องเสียระหว่างตั้งครรภ์ คืออาการที่มีการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ 3 ครั้ง หรือมากกว่า ภายในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป หากคุณแม่ท้องมีอาการดังที่กล่าวมา สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ อาการขาดน้ำ เนื่องจากคุณแม่ท้องจะสูญเสียน้ำจากร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณแม่ท้องเอง รวมไปถึงทารกในครรภ์ได้ อาการท้องเสียของคนท้องนั้น เราสามารถแบ่งออกตามลักษณะของอุจจาระได้ 2 แบบ คือ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. อาการท้องเสียที่ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยมักมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือปวดเบ่งที่ทวารหนัก ถ่ายบ่อย และมีปริมาณอุจจาระที่ออกในแต่ละครั้งไม่มากนัก
  2. อาการท้องเสียที่ถ่ายเหลว หรือเป็นน้ำ สีเหลือง หรือเขียวอ่อน ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเป็นน้ำขุ่นขาว คล้ายน้ำซาวข้าว

 

 

คนท้องท้องเสียมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่

อาการท้องเสียระหว่างตั้งครรภ์นั้น โดยปกติแล้ว ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ก็ไม่มีผลกระทบอะไรต่อทารกในครรภ์ เพราะเชื้อโรคทั้งหลายอยู่เฉพาะในลำไส้เท่านั้น จะมีผลแค่ทำให้ลูกดิ้นมากผิดปกติเท่านั้นเอง เพราะมดลูกนั้น ถูกรายล้อมรอบด้วยลำไส้ เมื่อท้องเสีย ลำไส้จะบีบตัวเสียงดังโครกคราก เสียงอาจจะรบกวนการนอนของทารกในครรภ์ จนทำให้ดิ้นมากผิดปกติ เว้นแต่ว่ามีคุณแม่ท้องมีอาการขาดน้ำ มีอาการอาหารเป็นพิษ ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมาก และคุณแม่ท้องดื่มน้ำน้อย แบบนี้ย่อมไม่ดีต่อร่างกายของคุณแม่ท้อง รวมไปถึงทารกในครรภ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องเสียเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 3 วันขึ้นไป ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ก็อาจเกิดขึ้น และส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่อาการท้องเสียของคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย อาจกลายเป็นสัญญาณเตือนใกล้คลอด ซึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาควบคู่กับ น้ำคร่ำแตก หรือ ปากมดลูกเปิด เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินสปอนเซอร์ได้ไหม กินเกลือแร่ เพราะท้องเสียได้ไหม ?

 

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสีย ทานยาอะไรได้บ้าง

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ แล้วเกิดอาการท้องเสียเกิดขึ้น อาจสร้างความกังวล และความรำคาญใจ ให้กับตัวของคุณแม่อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควร และ ไม่ควรทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะกลุ่มยา โลเพอราไมด์ (Loperamide) ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ เช่น ยากลุ่ม ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) เพราะยาต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
  • สามารถกินเกลือแร่ เพื่อลดความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ อันเกิดจากอาการท้องเสีย
  • คาร์บอนแก้ท้องเสีย เลี่ยงได้ควรเลี่ยง คาร์บอนที่เรามักจะทานกันในช่วงที่เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งถ้าเป็นช่วงปกติทั่วไป การทานคาร์บอนเพื่อลดอาการท้องเสีย แต่สำหรับคนที่ตั้งครรภ์อยู่ จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการพิจารณาก่อน แต่ถ้าเป็นไปได้ เลี่ยงได้ควรเลี่ยงค่ะ

อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินยาหยุดถ่ายโดยทันที เพราะทำให้เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย ยังคงตกค้างอยู่ภายในร่างกาย และผลข้างเคียงของยา ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็กในท้องได้

 

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ท้องเสียทานอะไรได้บ้าง

ในช่วงที่มีอาการท้องเสีย หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ซุป ข้าวต้ม และอาหารที่ปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอาหารที่มีรสจัด เช่น ส้มตำ ขนมจีน น้ำพริก เป็นต้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้อาการท้องเสียเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม กาแฟ ชา น้ำอัดลม ของหมักดอง อาหารที่มีกากใยสูง เป็นต้น และควรระมัดระวังการกินน้ำแข็ง น้ำดื่ม หรือน้ำผลไม้คั้นที่ไม่สะอาดด้วยค่ะ

และที่สำคัญ ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำเกลือแร่เยอะ ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเพลีย และจะได้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่หากมีอาการปวดท้องหนัก ไข้สูง อ่อนเพลีย หน้ามืด ถ่ายเป็นเลือด หรือ ลูกดิ้นน้อยลง ก็รีบควรพบแพทย์ในสถานพยาบาล เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 อาหารคนท้องเสีย ท้องเสียกินอะไรดี? พร้อมวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น

 

 

ท้องเสียตอนท้องแก้ไขอย่างไร

  1. ควรดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
  2. หากไม่อ่อนเพลียมาก ยังพอทานอาหารอ่อนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อรักษาสมดุลของน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย
  3. หากมีอาการอ่อนเพลีย และไม่สามารถทานอาหารได้ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ จึงควรทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลืออิเล็คโตรไลท์ หรือ โอ.อาร์.เอส
  4. หลีกเลี่ยงนมสด คาเฟอีน อาหารไขมันสูงย่อยยาก ๆ และอาหารทะเล
  5. เมื่อแม่ท้องมีอาการท้องเสีย ไม่จำเป็นต้องทานยาให้หยุดถ่ายเสมอไป เพราะการขับถ่ายเป็นการระบายเชื้อโรค และของเสียออกจากร่างกาย การใช้ยาบางชนิด เพื่อหยุดการขับถ่ายในทันที อาจทำให้เชื้อโรคถูกกักอยู่ในร่างกาย และอาจมีผลเสียตามมา รวมถึงการทำให้อาการต่าง ๆ หายช้าลงได้
  6. ถ้าท้องเสียเนื่องจากการติดเชื้อ ยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยควรเป็น แอมพิซิลลิน หรือ อม๊อกซิซิลลิน ไม่ควรใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยในกลุ่มยาแก้อักเสบ
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ

 

อาการแบบไหนต้องรีบไปพบคุณหมอ

หากแม่ท้องมีอาการท้องเสียในลักษณะอุจจาระมีมูกหรือฟองปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ คล้ายของเน่า คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อ่อนเพลียมาก หรือมีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง อาการท้องเสียในลักษณะนี้ แม่ท้องไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะถ้าอาการรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน

 

 

ตั้งครรภ์แล้วท้องเสีย ปวดท้องบิด อาหารเป็นพิษหรือเปล่า

อาการที่บ่งบอกว่าอาหารเป็นพิษนั้น สังเกตได้โดย หลังจากที่ทานอาหารที่ไม่สะอาดเข้าไป เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว ทั้งนี้ จะเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ทานเข้าไป และภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนมากจะพบว่าเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ตั้งแต่ 2 – 6 ชั่วโมง หลังจากที่ทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป ซึ่งคุณแม่ท้องสามารถสังเกตตัวเอง ที่บ่งบอกได้ว่า อาการอาหารเป็นพิษกำลังขึ้น ได้จากอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • ท้องเสีย
  • ปวดท้องมาก มีลักษณะการปวดท้องแบบบิด ๆ
  • มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย
  • มีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ตัวร้อน เป็นไข้ร่วมด้วย
  • มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

หากคุณแม่ท้อง สังเกตได้ว่า ตนเองมีอาการ ของอาหารเป็นพิษเกิดขึ้น อันดับแรก ให้รีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อรักษาอาการให้บรรเทาลง และหายป่วยจากอาการอาหารเป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว ไม่ควรปล่อยอาการอาหารเป็นพิษทิ้งไว้ เพราะเมื่อมีการถ่ายอุจจาระที่รุนแรง นั่นแสดงว่า ร่างกายต้องสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมไม่ดีต่อร่างกายของแม่ท้อง รวมถึงทารกในครรภ์ด้วย อีกทั้งไม่แนะนำให้ไปซื้อยามาทานเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายได้

 

หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรงให้ทารก ควรรับประทานอาหารปรุงสุก เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคในอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่ทิ้งไว้นานหรืออาหารค้างคืน หมั่นล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง และไม่ควรออกไปนอกบ้าน หากไม่จำเป็น เพียงเท่านี้ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสียได้แล้วค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

มีอาการท้องเสีย เมื่อมีอาการท้องเสียทำอย่างไร ท้องร่วงสิ่งที่ควรกินและไม่ควรกิน

ท้องเสียเป็นอาการของการตั้งครรภ์ไหม ท้องเสียตอนท้องอันตรายหรือเปล่า ?

คนท้องไตรมาสที่3 คนท้องใกล้คลอด อาหารคนท้องไตรมาส3 อาการที่พบบ่อย แม่ท้องไตรมาสสุดท้าย

ที่มา : Phyathai, Enfababy, Pobpad

บทความโดย

P.Veerasedtakul