เป็นประเด็นร้อนทันทีหลังจากที่มีคุณแม่วัย 21 ปี คลอดลูกคนที่ 3 ในห้องน้ำ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าท้อง จึงต้องเรียกทีมกู้ภัยเข้าให้ความช่วยเหลือนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า จริงหรือ?! ยิ่งมีประสบการณ์การคลอดลูกมาแล้วด้วยถึงสองครั้ง!! ผู้สื่อข่าวของ “มติชน” จึงได้เดินทางไปสอบถามยังสูตินรีแพทย์ เพื่อไขข้อข้องใจสำหรับประเด็นร้อนนี้ทันที
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.พิจิตร และโฆษกแพทยสภา บอกว่า การที่หญิงสาวคนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอดลูกออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเกิดขึ้นได้ โดยสาเหตุคือ
1.ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์จริง ๆ เพราะปกติมีการคุมกำเนิดอยู่แล้ว แต่อาจเกิดจากการคุมกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ฉีดยาคุมไม่ตรงเวลา กินยาไม่ตรงเวลา เป็นต้น ประกอบกับประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีประจำเดือนเพียงปีละ 1-2ครั้งก็สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ แม้อายุครรภ์จะมากถึง 8-9 เดือน หลายคนก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะท้องอาจเล็ก และเข้าใจว่าอ้วน หรือผิวหนังบริเวณท้องอาจหนามาก จนลูกดิ้นก็ไม่รู้สึก หรือเข้าใจว่าปวดท้องปกติ
2. คนที่มีประจำเดือนหลายคนก็เข้าใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่จริง ๆ ท้อง นั่นเพราะประจำเดือนที่ออกมามีลักษณะกะปริบกะปรอย หรือได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งเสี่ยงแท้ง พอมาพบสูตินรีแพทย์จึงทำให้ทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม กรณีท้องโดยไม่รู้ตัวย่อมเกิดขึ้นได้ อย่างที่รพ.พิจิตร ก็พบเคสลักษณะนี้เช่นกัน โดยหลายรายมาด้วยอาการปวดท้อง เข้าใจว่าท้องเสีย พอมาตรวจ และแพทย์คลำเจอก้อนที่ท้อง จึงไปตรวจอัลตราซาวน์ ปรากฏว่าตั้งครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป เคยเจออายุน้อยสุดไม่ถึง 10ขวบด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้มาจากความผิดปกติของไข่ตก นอกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น ซึ่งเฉลี่ยพบปีละ 10 รายได้ หลายครั้งพ่อแม่เป็นคนพามาให้แพทย์ตรวจเอง
“ตัวเราแยกไม่ออกหรอกว่า ท้องหรือไม่ท้อง ยิ่งท้องสาวด้วยแล้ว แต่หากจะสังเกตก็ต้องดูว่า เราคุมกำเนิดหรือไม่ ประจำเดือนขาดหายประมาณ 2-3เดือนหรือไม่ เต้านมคัด ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้สามารถไปซื้อที่เทสการตั้งครรภ์ได้” พญ.ชัญวลี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีท้องไม่รู้ตัว จนกระทั่งคลอดลูกเองนั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่ พญ.ชัญวลี กล่าวว่า การตั้งครรภ์และการคลอดลูกนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงแต่ละคน แต่หากแม่มีภาวะโรคประจำตัว หรือมีโลหิตจางก็จำเป็นต้องมาฝากครรภ์ เพื่อให้แพทย์ดูแล
ด้าน ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การท้องโดยไม่รู้ตัวนั้น มาจากเจ้าตัวไม่อยากท้อง และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท้องขยายใหญ่ขึ้นก็คิดว่าอ้วน หรือประจำเดือนขาด ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้เกิดจากกลไกทางจิตใจที่ปฎิเสธความจริงว่าตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ในทางกลับกันคนอยากท้อง แต่ไม่ท้องและเข้าใจว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ยังมี แต่จริง ๆ แล้วเป็นภาวะท้องปลอม ที่ท้องขยายใหญ่ก็เพราะมีลมอยู่ข้างใน และส่วนใหญ่หญิงกลุ่มนี้จะมีรูปร่างที่ท้วม ๆ ด้วย
“ส่วนคนที่ท้องแต่ไม่รู้ตัวนั้น เพราะไม่สังเกตตัวเองด้วย อย่างลักษณะของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น คนปกติไม่ค่อยทราบ แต่หมอจะทราบว่าอ้วนจากไขมันกับตั้งครรภ์ต่างกันอย่างไร ส่วนคนที่เคยมีลูกแล้ว แต่ปรากฏว่าเกิดท้องขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวจนกระทั่งคลอดเองนั้นก็มีเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าครั้งล่าสุดยังไม่อยากท้อง อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นจะพบมาก ยิ่งท้องสาว ๆ ท้องแรก ยิ่งดูไม่ออก ดังนั้น การที่จะสังเกตได้ก็ต้องอาศัยคนใกล้ตัว พ่อแม่ ญาติ อย่างเคสที่พบในรพ.รามาฯ มีแม่สังเกตว่าลูกสาวผิดปกติ เนื่องจากแม่จะเป็นคนซื้อผ้าอนามัยให้ลูกใช้ทุกเดือน แต่สังเกตว่าลูกไม่ได้ใช้จึงพามาตรวจ พบว่าท้อง 4 เดือน” ผศ.นพ.สัญญา กล่าว
ผศ.นพ.สัญญา กล่าวทิ้งท้าย ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การสังเกต ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูก็ต้องคอยดูว่าเด็กนักเรียนมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ ซึม แยกตัวออกจากเพื่อนๆ และเมื่อพ่อแม่หรือครูพาไปพบแพทย์ แพทย์ก็ต้องใส่ใจ ตรวจอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นว่ายังเด็ก ๆ คิดว่าไม่ท้อง ซึ่งไม่ใช่ ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมมือกันหมด
ที่มา: มติชน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เหลือเชื่อ! ไม่รู้ว่าท้อง จนคลอดลูกในห้องน้ำ
แม่ท้องไม่รู้ตัว ไม่แพ้ท้อง ลูกไม่ดิ้น เป็นไปได้ไหม?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!