ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และที่สำคัญอย่าลืมใส่ ” หน้ากากอนามัย ” การระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด – 19 ยังไม่จบ และยังคงกลับมาระบาดอีกเป็นระยะ เราใส่หน้ากากอนามัย จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้า ความแตกต่างของ หน้ากากอนามัยแต่ละชนิด นอกจากรูปร่าง และลักษณะแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น และเชื้อไวรัส ก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต
สำหรับในประเทศไทย หน้ากากอนามัยแต่ละชนิด ที่ขายกันตามท้องตลาด มีอยู่ประมาณ 6 แบบ ดังนี้
- หน้ากากอนามัย N95
- หน้ากากอนามัย FFP1
- หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
- หน้ากากอนามัยคาร์บอน
- หน้ากากอนามัยแบบผ้า
- หน้ากากอนามัยฟองน้ำ
หน้ากากอนามัยแต่ละชนิด มีประสิทธิภาพในการป้องกันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง TheAsianparent ได้สรุปมาให้แล้ว ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง 5 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก เสริมเกราะป้องกันในช่วง โควิด-19 และฝุ่น PM 2.5
มารู้จักกับหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ
1. หน้ากากอนามัย N95
หากเปรียบเทียบกับหน้ากากชนิดอื่น ๆ แล้ว หน้ากากอนามัย N95 มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีที่สุดถึงร้อยละ 95 ด้วยลักษณะของหน้ากากอนามัยชนิดนี้ ที่ครอบบริเวณปาก และจมูกอย่างแนบสนิท จึงทำให้เชื้อไวรัส หรือสารปนเปื้อนอื่น ๆ ไม่สามารถเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้
หน้ากากอนามัย N95 ผลิตจากโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ถือว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ในระดับดีมากด้วย
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันไวรัส
- ป้องกันแบคทีเรีย
- ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี สามารถป้องกันเชื้อไวรัส และสารปนเปื้อนได้มากถึงร้อยละ 95
ข้อเสีย ลักษณะของหน้ากากกระชับกับใบหน้ามาก อาจทำให้ผู้ใส่รู้สึกอึดอัด และหายใจลำบาก การพับเก็บทำได้ยาก เพราะหน้ากากมีลักษณะเป็นฝาครอบ
ราคาประมาณ 60 บาทขึ้นไป/ชิ้น
2. หน้ากากอนามัย FFP1
หน้ากากอนามัย FFP1 มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้มากถึงร้อยละ 95 นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันสารเคมี มลพิษ ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างได้ด้วย และสามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 94
แม้ว่าจะราคาต่อชิ้นจะค่อนข้างสูง แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันสารปนเปื้อนต่าง ๆ ก็สูงตามไปด้วย อีกทั้งการออกแบบแมสก์ชนิดนี้ยังมีลักษณะโค้งด้านบน กระชับไปกับรูปหน้าด้วย
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันไวรัส
- ป้องกันแบคทีเรีย
- ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี ด้านบนมีลักษณะโค้ง ครอบลงไปกับบริเวณจมูก และปากได้มิดชิด สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้มากถึงร้อยละ 95
ข้อเสีย ต้องระวังการใส่หน้ากากอนามัย FFP1 ให้ถูกด้าน ถ้าใส่ผิดจะทำให้ฝุ่น และไวรัสผ่านเข้าไปได้
ราคาประมาณ 100 บาทขึ้นไป/ชิ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง สารเคมีในชีวิตประจำวันที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
3. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ แมสก์สีเขียวนี้ เป็นชนิดเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ ผลิตจากพลาสติกพอลิโพรไพลีน ซึ่งปลอดภัยกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และสารคัดหลั่งจากคนสู่คนได้ถึงร้อยละ 99 ดักจับฝุ่นละอองได้ขนาดเล็กสุดที่ 3 ไมครอน ป้องกันได้ถึงร้อยละ 66.37
วิธีการใส่ ให้หันด้านที่เป็นสีเขียวออกด้านหน้า สำหรับการป้องกันฝุ่นละออง และเกสรดอกไม้ แนะนำให้ใส่ซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อประสิทธิภาพที่มากขึ้น
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันไวรัส
- ป้องกันแบคทีเรีย
- ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่สูง เนื่องจากมีการควบคุมราคาจากภาครัฐ อีกทั้งยังป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และสารคัดหลั่งจากคนสู่คนได้เป็นอย่างดี
ข้อเสีย หากขนาดของหน้ากากไม่พอดีกับใบหน้า อาจทำให้เลื่อนหลุดขณะทำกิจกรรมระหว่างวันได้ การใช้มือสัมผัสบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเดิม
ราคาประมาณ 2.5 บาทขึ้นไป/ชิ้น
4. หน้ากากอนามัยแบบมีชั้นกรองคาร์บอน
หน้ากากอนามัยแบบมีชั้นกรองคาร์บอน มีคุณสมบัติไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีความหนาของเส้นใยสังเคราะห์ถึง 4 ชั้น เนื่องจากมีการเสริมชั้นกรองคาร์บอนเข้าไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ จึงมีประสิทธิภาพในป้องกันกลิ่นได้มากขึ้น
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันไวรัส
- ป้องกันแบคทีเรีย
- ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
ข้อเสีย การเลือกซื้อควรดูให้ดีว่า มีการเสริมชั้นกรองคาร์บอนเข้าไป เพื่อกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน มีหน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีสีสันคล้ายกับหน้ากากอนามัยแบบมีชั้นกรองคาร์บอน แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำกว่ามาก
ราคาประมาณ 8 บาทขึ้นไป/ชิ้น
5. หน้ากากอนามัยแบบผ้า
หน้ากากอนามัยแบบผ้า หรือผ้าปิดจมูก ผลิตจากวัสดุหลากหลาย ทั้งผลิตจากผ้าฝ้าย ผลิตจากใยสังเคราะห์ซ้อนทับกัน และอื่น ๆ จึงทำให้มีความแตกต่างกันทั้งประสิทธิภาพ และราคา
โดยรวมแล้ว หน้ากากผ้า มีคุณสมบัติในการป้องกันการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย ป้องกันฝุ่นละอองได้ แต่มีข้อจำกัดคือไม่กรองอณูขนาดเล็กมาก ๆ ได้ ซึ่งหน้ากากที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ซ้อนกันหลายชั้น จะกรองอณูละเอียดได้ดีกว่า
ปัจจุบันหน้ากากผ้าเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากราคาไม่แพง สามารถซัก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง มีการใช้วัสดุกันน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน้ากากผ้า อีกทั้งยังมีหลายแบบ หลากสไตล์ให้เลือกอีกด้วย
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันแบคทีเรีย
- ป้องกันฝุ่น
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี มีหลายราคาให้เลือกตามความต้องการ รูปแบบ สีสันหลากหลาย ที่สำคัญคือ สามารถซัก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง
ข้อเสีย ไม่สามารถกรองอณูขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM 2.5 ได้ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และสิ่งปนเปื้อนได้เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิต
ราคา แตกต่างกันตามวัสดุที่นำมาผลิต
6. หน้ากากอนามัยแบบฟองน้ำ
หน้ากากอนามัยแบบฟองน้ำ ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอนสำหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ สามารถกรองฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก และละอองเกสรดอกไม้ได้ ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้สามารถใส่เพื่อป้องกันฝุ่นได้ แต่คุณสมบัติในการป้องกันเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียค่อนข้างต่ำ
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
- ป้องกันฝุ่น
- ป้องกันละอองเกสร
ข้อดี สามารถซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แห้งเร็ว พับเก็บได้โดยไม่เสียรูปทรง
ข้อเสีย ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ค่อนข้างต่ำ
ราคาประมาณ 5 บาทขึ้นไป/ชิ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง ฝุ่นละออง pm 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน วิธีป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ อาการแบบไหนต้องหาหมอ
การซื้อหน้ากากอนามัย ควรเลือกจากอะไร
หน้ากากอนามัยมีให้เลือกหลากหลายมากในปัจจุบัน การเลือกซื้อหน้ากากอนามัย จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และควรเลือกให้ได้มาตรฐาน โดยไม่คำนึงถึงราคาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะได้หน้ากากอนามัย ที่ไม่สามารถปกป้องผู้ใส่ จากเชื้อไวรัสใดๆ ได้
ในการเลือกซื้อหน้ากากอนามัย ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้คำแนะนำบนเว็บไซต์อย. ดังนี้
1. ดูชื่อของสินค้า
หีบห่อควรระบุว่าเป็นหน้ากากอนามัยชนิดใด เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ , Surgical mask , Medical mask , หน้ากาก N95 หน้ากาก FFP เป็นต้น
2. มองหาวัตถุประสงค์ และวิธีการใช้
โดยควรระบุว่าหน้ากากชนิดนั้น ๆ สามารถใช้เพื่อป้องกันอะไรได้บ้าง เช่น ใช้เพื่อกรองฝุ่น ป้องกันไวรัส กันน้ำ กันละอองฝอย เป็นต้น
3. การรับรองที่ได้มาตรฐาน
สำหรับหน้ากากอนามัย N95 ควรจะระบุประเภท หรือมาตรฐานของหน้ากากด้วย เช่น N95, FFP2, P2 เป็นต้น ตัวเลข และตัวอักษรเหล่านี้ บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในกรองของหน้ากากอนามัยตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ เช่น N95 เป็นการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา FFP2, FFP3 เป็นการรับรองจากฝั่งยุโรป N95 , P2 เป็นการรับรองจากประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วน KN95 เป็นมาตรฐานจากประเทศจีน โดยตัวเลขที่มากขึ้น ก็หมายความถึงประสิทธิภาพการกรองที่มากขึ้นด้วย
สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากนี้เพื่อความสบายในการสวมใส่ เช่น ขนาดของหน้ากากอนามัย พอดีกับใบหน้า สายคล้องหู ไม่รัดตึงจนเกินไป อะลูมิเนียมบริเวณดั้งจมูก เพื่อเพิ่มความกระชับ และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเล็ดลอดเข้าไปได้
เมื่อไหร่ที่ควรต้องเปลี่ยนหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัย เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเราจากเชื้อโรค และฝุ่นละออง จึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค แบคทีเรีย ฝุ่นละอองต่าง ๆ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ เพราะประสิทธิภาพของหน้ากากจะลดลงตามอายุการใช้งาน หากจำเป็นจริง ๆ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน หรือหากสังเกตว่าสีของหน้ากากเปลี่ยน หรือรู้สึกว่าสกปรกมาก ๆ ก็ควรเปลี่ยนทันที
บทความที่คุณอาจสนใจ :
คนท้องสวมหน้ากากอนามัย ได้นานขนาดไหน ส่งผลต่อลูกไหม
ที่มา : officemate.co.th , hd.co.th , oryor.com