ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะที่คุณแม่ท้องไม่ควรมองข้าม

ภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือที่เรียกกันว่า ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อน ที่มักเกิดขึ้นในคุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคุณแม่ หรือลูกในครรภ์อีกด้วย ในวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักภาวะเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อหาวิธีรับมือกันค่ะ ไปดูกันเลย

 

ภาวะความดันโลหิตสูงในคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

ภาวะนี้เป็นผลมาจากการ หดรัดตัวของหลอดเลือดแดง และเกิดความดันโลหิตสูงตามมา หากมีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีผลทำลายเนื้อเยื่อที่สำคัญร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต หรือสมอง นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้ เลือดที่ผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ลดลง ส่งผลให้ลูกน้อยได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอด้วยค่ะ

 

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ เกิดได้กับใครบ้าง

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ สามารถเกิดได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนค่ะ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติคือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรก คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ลูกแฝด คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคเบาหวาน โรคไต และโรคความดันโลหิตสูง และคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนก็สามารถความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

 

ภาวะนี้ส่งผลอย่างไรต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์

  • ส่งผลต่อคุณแม่ อาจเกิดอาการชัก หรือเลือดออกในสมอง หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ภาวะของโรครุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ
  • ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ หากคุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูง จะทำให้ปริมาณเลือดที่ผ่านรก มายังลูกน้อยลดลง ดังนั้นจึงอาจทำให้ ลูกน้อยในครรภ์มีภาวะโตช้ากว่าปกติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ได้ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ความดันโลหิตสูง อาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ ต้องระวังให้ดี

 

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

 

อาการที่บ่งบอกภาวะความดันโลหิตสูง ในคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่จะมีอาการบวมตามมือ และใบหน้า หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ บางรายอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่แน่ชัด ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ จึงฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และควรตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับการวินิจฉัย และดูแลรักษาแต่เนิ่น ๆ ค่ะ

ภาวะความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์ นับว่าเป็นภาวะที่มีอันตรายอย่างมาก หากคุณแม่มีภาวะนี้ แพทย์อาจจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจ และติดตามภาวะของโรค และสุขภาพของทารกอย่างใกล้ชิดค่ะ โดยการรักษา ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค และอายุครรภ์ หากการตั้งครรภ์ครบกำหนด หรือภาวะของโรค มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น แนวทางการรักษา คือ ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายอาจจำเป็นจะต้องผ่าตัดคลอดค่ะ

ทั้งนี้ เมื่อคุณแม่คลอดอย่างปลอดภัยแล้ว ภาวะความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น อาจยังไม่ได้ลดลงตามปกติทันที แต่โดยทั่วไป จะกลับสู่ปกติอย่างช้าสุดไม่เกิน 12 สัปดาห์ หลังคลอดค่ะ และคุณแม่หลายท่านมีคำถามว่า หากตั้งครรภ์ต่อไป จะมีโอกาสเป็นภาวะนี้ซ้ำหรือไม่ คำตอบคือมีโอกาสเกิดซ้ำได้ในครรภ์ถัดไป และมีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้รับการประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

1. คุณแม่ควรพักผ่อนให้มากขึ้น โดยนอนพักหลังรับประทานอาหารกลางวัน 2 ชั่วโมง และกลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

2. คุณแม่ควรงดการทำงานหนัก เพื่อดูแลตัวเอง และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

3. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียม เช่น ผักใบเขียว กล้วย หรือมันฝรั่ง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้บำรุงสุขภาพครรภ์ให้ดี และช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างดีเยี่ยม

4. หากคุณแม่ต้องรับประทานยาลดความดัน ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำสั่งแพทย์ และหากมียาลดความดันโลหิตเดิมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ควรนำมาให้แพทย์ดู เนื่องจากยาบางชนิดไม่ควรรับประทานในระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ แต่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกอาจตัวเล็กกว่าปกติ!!

 

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

 

5. คุณแม่ต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบอะไรที่ผิดปกติ แพทย์จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

6. คุณแม่ควรตรวจติดตามวัดความดันโลหิตของตนเองเป็นระยะ ประมาณ 2-3 ครั้ง / สัปดาห์

7. เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติ ดังนี้ ควรพบแพทย์ทันที

  • ลูกน้อยดิ้นน้อยลง สังเกตโดยการนับเวลาลูกดิ้นเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ถ้าดิ้นน้อยกว่า 3  - 4 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ หรือนับลูกดิ้นเวลาใดก็ได้ โดยนับลูกดิ้นจนครบ 10 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ
  • คุณแม่ที่มีอาการบวมบริเวณหน้า ท้อง มือและเท้า หรือบวมทั้งตัว มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 2 - 3 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์
  • คุณแม่ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นลักษณะอาการเริ่มต้นของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมีอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกได้ คุณแม่จึงควรมาพบแพทย์โดยเร็วค่ะ
  • คุณแม่ที่มีอาการปวดเกร็งท้อง เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นอาการของรกลอกตัวก่อนกำหนดได้

 

โดยสรุปแล้ว การตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และลูกในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่จึงควรใส่ใจและดูแลครรภ์ ด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ และควรฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรกตั้งครรภ์นะคะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ความดันโลหิตสูง โรคร้ายและภัยเงียบ ที่คนกรุงควรระวัง

ความดันโลหิตต่ำในเด็ก อันตรายหรือไม่? มีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคความดันโลหิตสูง อาการและแนวทางรักษา ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับความดันโลหิตสูง

ที่มา : 1

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!