คลิปจับลูกเรอ ให้เรอเอิ๊ก ตดปู๊ด สบายตัว
คลิปจับลูกเรอ ให้เรอเอิ๊ก โดยคุณแม่ พราวพลิน อายุ 35 ปี คุณแม่ของน้องมะตูม ภารุดารินทร์ ที่ตอนนั้นอายุเพียง 2 วัน
คุณแม่พราวพลินอัพเดตว่า ตอนนี้น้องมะตูมอายุได้ 1 เดือน 16 วันแล้ว แต่ตอนถ่ายคลิปนี้ น้องมะตูมอายุได้ 2 วัน ภาพในคลิปเป็นตอนที่พยาบาลจากโรงพยาบาล (โรงพยาบาลที่แม่คลอดน้องมะตูม) ได้จับทำสอนแม่
นอกจากนี้ คุณแม่พราวพลิน ยังกำชับด้วยว่า เวลาป้อนนมเสร็จต้องจับน้องเรอ!
“เวลาป้อนนมเสร็จจับน้องเรอ เพื่อให้ลมที่เข้าไปตอนระหว่างดูดนมถูกไล่ออกมาค่ะ จะได้ไม่เกิดแก๊สในกระเพาะ ที่ทำให้น้องปวดท้องท้องอืดท้องเฟ้อได้ ทำให้น้องไม่ร้องงอแงและนอนได้นานขึ้นเพราะน้องสบายท้องสบายตัวค่ะ”
คุณแม่ท่านอื่นๆ ลองทำตามในคลิปได้นะคะ แต่ต้องจับน้องเบาๆ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้น้องเรอเอิ๊ก ตดปู๊ด สบายตัว สบายใจ ทั้งคุณแม่คุณลูกนะคะ
เทคนิคจับลูกเรอ ให้ได้ผลชะงัด!!!
การเรอสำหรับทารกสำคัญไฉน???
เมื่อทารกกินนมเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมแม่จากเต้า หรือดูดนมจากขวด เมื่อเจ้าหนูอิ่มแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ จับเรอ เพราะตอนกินนม ลูกมักจะกินลมเข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถเรอออกมาได้เอง ดังนั้น การจับเรอเพื่อให้ลมที่ผ่านเข้าไปในท้องได้ออกมาด้วยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ดูดนมจากขวด
บทความแนะนำ ตะลึง! นี่หรือคือวิธีแก้โคลิคของหมอ (มีคลิป)
ควรจับเรอตอนไหนบ้าง
โดยมากมักต้องไล่ลมในช่วงครึ่งทางของการให้นม และทำอีกครั้งหลังให้นมเสร็จ การไล่ลมก่อนให้นมจะช่วยบรรเทาอาการได้ หากลูกมีอาการแน่นท้องมากหรือแหวะนมออกมามากหลังให้นม คุณแม่หลาย ๆ ท่านมักมีความกังวล เนื่องจากไม่สามารถช่วยให้ลูกเรอได้อย่างถูกต้อง หรือช่วยแล้วลูกกลับไม่ยอมเรอ มาดูกันค่ะว่า วิธีการจับลูกเรอ และท่าอุ้มเรอนั้นมีวิธีใดบ้าง
วิธีการอุ้มเรอ
1. อุ้มลูกให้นั่งตรง ๆ พิงอกคุณโดยใช้หัวไหล่และคางของคุณช่วยรับน้ำหนักลูกไว้ ใช้มือหนึ่งประคองคอของลูกและอีกมือตบหลังลูกเบา ๆ
2. ให้ลูกนั่งตรงๆ บนตักคุณและใช้มือหนึ่งประคองส่วนอกของลูกไว้ เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อยและตบหลังลูกเบาๆ คุณอาจลูบหลังลูกเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นให้เรอด้วยก็ได้ค่ะ
3. วางลูกคว่ำลงบนตักของคุณ ใช้มือหนึ่งประคองใต้อกลูก ขณะที่อีกมือลูบหลังเป็นวงกลมหรือตบเบา ๆ
4. ถ้าลูกเรอไม่ออก ลองงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก วิธีนี้อาจช่วยขับลมออกมาได้ค่ะ
ท่าอุ้มเรอให้ได้ผลชะงัก!!!
1. ท่าอุ้มเรอแบบพาดบ่า
ท่าอุ้มพาดบ่า เป็นท่าอุ้มเรอที่นิยมที่สุดและทำได้ง่าย โดยคุณแม่อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาตัว ประคองศีรษะลูกวางบนบ่าหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้ ส่วนมืออีกข้างประคองก้นลูกไว้ ท่านี้ไหล่ของคุณแม่จะช่วยนวดลิ้นปี่ของลูกไปในตัวอย่างเบา ๆ ทำให้ลูกเรอได้
2. ท่าอุ้มเรอแบบนั่งบนตัก
ท่าอุ้มเรอแบบนั่งบนตัก ท่าอุ้มเรอท่านี้ให้คุณแม่จับลูกนั่งตักใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงคางลูกเอาไว้ จากนั้นโน้มตัวลูกเล็กน้อย หลังตรง อุ้งมือของคุณแม่จะอยู่บริเวณลิ้นปี่ของลูก ให้ทิ้งน้ำหนักตัวลูกมากดทับที่มือของคุณแม่ จะช่วยคลึงท้องลูกเพื่อช่วยไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างให้ลูบหลังเบา ๆ ทำสักพัก 5-10 นาที ลูกก็จะเรอออกมาค่ะ
3. ท่าอุ้มเรอแบบวางเด็กบนหน้าตัก
ท่าอุ้มเรอท่านี้ให้คุณแม่อุ้มลูกให้นอนคว่ำ ให้ช่วงหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ของลูกอยู่บนหน้าขา โดยคุณแม่นั่งบนเก้าอี้ท่าชันเข่า ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงไหล่ลูก ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเบา ๆ หน้าขาคุณแม่จะช่วยนวดเบา ๆ ที่ท้องลูก เพื่อช่วยไล่ลมให้ลูกได้เช่นกัน
ข้อควรรู้
1. ทุกครั้งที่จับลูกเรอ ให้คุณแม่เตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือ เวลาที่ลูกแหวะนมออกมาจะได้หยิบใช้สะดวก
บทความแนะนำ ทำอย่างไรเมื่อลูกแหวะนม
2. ทุกครั้งที่คุณแม่อุ้มลูก ต้องใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้เสมอนะคะ เพราะกล้ามเนื้อต้นคอของเจ้าหนูยังไม่แข็งแรงพอนั่นเอง
3. แม้ในช่วงกลางคืนที่ลูกตื่นมากินนม คุณแม่ก็ต้องจับลูกเรอเช่นกันนะคะ ลูกจะได้สบายท้อง นอนอหลับต่อได้ไม่โยเย สำหรับเด็กที่ดูดนมจากเต้าจะมีลมเข้าท้องน้อยกว่าเด็กที่ดูดนมจากขวดนมค่ะ
4. ตัวช่วยป้องกันลมเข้าท้อง
– ให้ลูกกินนมแม่ เพราะการกินนมแม่จะช่วยลดการเอาลมเข้าปาก เข้าท้องมากกว่าการกินนมจากขวดนม
– ปัจจุบันมีขวดนมที่ป้องกันลมเข้าท้อง ขวดจะมีลักษณะโค้งงอ เมื่อลูกยกขวดดูดนม น้ำนมในขวดจะไหลออกมากันอากาศเข้า
– เวลาที่คุณแม่ป้อนนมจากขวด ท่าอุ้มให้อุ้มลูกเข้าอกเหมือนกับเวลาที่ให้นมแม่ค่ะ เพราะท่านี้เมื่อลูกยกขวดนมน้ำนมจะเต็มขวดอยู่เสมอไม่เหลือที่ว่างลดการดูดอากาศจากขวดนม ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนแล้วยกขวดป้อนลูก เพราะมีโอกาสที่ลมจะเข้าท้องได้มากค่ะ
เมื่อไรถึงไม่ต้องอุ้มลูกเรอ
แน่นอนว่าในช่วง 0 – 3 เดือน จำเป็นต้องอุ้มลูกเรออยู่นะคะ เพราะระบบการย่อยอาหารของลูกยังทำงานได้ไม่ดีค่ะ ทารกบางคนคุณแม่อาจจะต้องอุ้มเรอยาวนาน 6 -7 เดือนก็มีค่ะ แต่ส่วนใหญ่เมื่อลูกพลิกคว่ำพลิกหงายได้เองแล้ว คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องไล่ลมให้ทุกมื้อก็ได้ค่ะ
นำมากฝากค่ะ : คลิปอุ้มลูกเรออย่างได้ผล
ได้ทราบวิธีการอุ้มเรอที่ถูกวิธีและทำได้ไม่ยากแล้วนะคะ คุณแม่มือใหม่ค่อย ๆ ฝึกไปนะคะ อย่าเพิ่งท้อ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไประหว่างแม่กับลูก เป็นกำลังใจให้ค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ถ้าไม่เรอจะเป็นอะไรไหม
3 วิธีช่วยแม่แก้ปัญหาเมื่อลูกน้อยมี ภาวะท้องอืดในทารก