คนท้องไม่สบาย กินยาอะไรได้บ้าง ตอนตั้งครรภ์ระวังป่วยโรคอะไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ช่วงนี้ต้องระวัง คนท้องไม่สบาย ได้ง่ายมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดและความเครียด ที่สั่งสมเข้ามา อาจทำให้แม่ท้องเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินที่ต้องระวังมากขึ้น อีกทั้งช่วงนี้ยังออกกำลังกายลำบาก ทำได้เพียงหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายภายในบ้านเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่คุณแม่ท้องควรสังเกตร่างกายตัวเองให้ดี หากเป็นโรคเหล่านี้แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้เช่นกัน

 

คนท้องไม่สบาย เพราะเป็นโรคไข้หวัด

โดยปกติแล้ว คนทั่วไปมีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี ซึ่ง คนท้องไม่สบาย ด้วยโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน หากเป็นไข้หวัดธรรมดา อาการไม่รุนแรงมาก มักไม่ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เพียงแค่ร่างกายของแม่ท้องอาจจะหายช้ากว่าคนทั่วไป เนื่องจากภูมิต้านทานของผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะลดลง หากคุณแม่มีไข้สูงเกิน 38 องศา หรือรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติ ให้สังเกตตัวเองให้ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หรือไม่สบายนานเกิน 3-5 วัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาที่ควรเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ ยาอะไรบ้างที่ไม่ควรกินตอนท้อง

 

 

8 โรคอันตราย ควรเฝ้าระวังระหว่างตั้งครรภ์

ในผู้หญิงตั้งครรภ์ มักจะมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาบ่อยครั้ง นอกจากโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ทั้งโรคทางพันธุกรรมและระบบการทำงานของสุขภาพทำงานได้ไม่ดี เนื่องจากขาดการดูแลและบริโภคอาหารที่เหมาะสม รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่อาจนำโรคต่าง ๆ มาสู่ร่างกายได้ ลองไปดูโรคที่ควรระวังมีดังนี้

 

1. โรคระบบทางเดินอาหาร

คนท้องไม่สบาย ด้วยโรคนี้ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องการกิน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร  อย่างกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส แต่โรคนี้จะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ ถ้าคุณแม่ไม่สบายเรื้อรัง อาจไม่เกิน 3 วัน แล้วระหว่างนี้อาจจะกินอะไรไม่ค่อยได้ แต่จำเป็นต้องดื่มน้ำให้มาก การติดเชื้อแบบนี้มักไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อ ทารกในครรภ์ แต่ควรดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เช่น ในช่วงที่ 12 ชั่วโมงแรก ไม่ควรกินอาหารอื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะกระเพาะอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส ควรงดอาหารและน้ำ 12-24 ชั่วโมง จึงค่อยเริ่มกินอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ผักต้มเปื่อย จนอาการดีขึ้นแล้วค่อยกินอาหารตามปกติ แต่หากพบว่ามีอาการแย่ลงควรรีบไปพบแพทย์

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

2. โรคหัดเยอรมัน

ปกติแล้วคุณหมอ มักจะแนะนำให้ผู้หญิงฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนที่จะตั้งครรภ์ จากนั้นเว้นช่วงหลังจากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เดือน สำหรับแม่ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน ก็ต้องตรวจดูว่ามีภูมิต้านทานอยู่หรือไม่ เพราะแม่บางคนมีภูมิต้านทานอยู่แล้ว ทั้งนี้โรคหัดเยอรมันมีความอันตรายต่อทารกในครรภ์ เมื่อมีการติดเชื้อในระยะ 2-3 สัปดาห์แรก จะมีอาการเพียงเล็กน้อยจนแทบไม่รู้สึกว่ามีร่างกายผิดปกติ เช่น มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตัว ต่อมน้ำเหลืองโต โดยผลกระทบที่ลูกน้อยในครรภ์จะได้รับ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของมารดา และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ถ้ามีการติดเชื้อในเดือนแรก ลูกอาจจะคลอดออกมาแล้วพิการถึงร้อยละ 35 ในขณะที่การติดเชื้อในเดือนที่ 3 โอกาสที่จะพิการและความรุนแรงลดน้อยลง คือร้อยละ 10-15 เลยทีเดียว

 

3. โรคท็อกโซพลาสโมซิส

โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)  เกิดจากการติดเชื้อที่เรียกว่า ท็อกโซพลาสมา จากการกินเนื้อดิบที่มีเชื้อนี้อยู่ หรือสัมผัสกับอุจจาระแมวที่ติดเชื้อนี้ เมื่อคนท้องไม่สบาย แล้วเกิดติดเชื้อนี้เข้าไป อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือต้องคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดความผิดปกติของสมองได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

4. โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปบี

แม่ตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปบี (Streptococcus Group B)  ถือว่าเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ถึงขั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยปกติการติดเชื้อนี้จะอยู่ในช่องคลอดที่ไม่ปรากฏอาการให้เห็น แพทย์จะนำมูกจากช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่มากพอตั้งแต่ก่อนคลอด จึงทำให้ไม่มีการติดเชื้อต่อทารกในครรภ์ ซึ่งการติดเชื้อชนิดนี้จะเป็นสิ่งที่พบได้น้อย เนื่องจากทางการแพทย์จะระวังโรคนี้มาก

บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส ทำอย่างไร แม่ขอแชร์จากประสบการณ์ตรง

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

5. โรคหัด

คุณแม่ควรฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัด (Measles) ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ เพราะการฉีดวัคซีนเหมือนกับการให้ร่างกายได้รับเชื้อโดยตรงเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเชื้อที่ถูกฉีดเข้าไปอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ หากแม่ท้องติดเชื้อช่วงใกล้คลอด อาจทำให้ทารกเกิดภาวะติดเชื้อไวรัสในเลือด แพทย์จะให้แกมมาโกลบูลินแก่ทารกทันทีที่เกิดเพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ

 

6. โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

โรคที่ต้องระวังที่สุดอีกโรคหนึ่งของผู้หญิงตั้งครรภ์คือ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยร้อยละ 10 ของแม่ตั้งครรภ์จะมีการติดเชื้อ 1 ครั้งและผู้ที่ติดเชื้อแล้ว 1 ใน 3 คนสามารถติดเชื้อซ้ำอีก ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบมักจะไม่แสดงอาการ พบได้เมื่อมีการตรวจปัสสาวะในตอนฝากครรภ์ ถ้าพบการติดเชื้อจะต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อ นอกจากนี้ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่กรวยไต หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กรวยไตอักเสบซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวแม่ท้องและลูกในครรภ์ และหากเป็นกรวยไตอักเสบในช่วงหลังอายุครรภ์เดือนที่ 7 เป็นต้นไป จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

 

7. โรคตับอักเสบชนิดบี

โรคตับอักเสบบี  เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรดูแลและรักษาตัวเองด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ทุกชนิด ร้อยละ 95 ของคนท้องที่ไม่สบายเป็นโรคนี้ ร่างกายจะฟื้นกลับมาได้เอง

 

8. โรคอีสุกอีใส

โรคที่คุณแม่ต้องระวังและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น คือ โรคอีสุกอีใส หากเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ มักจะแสดงอาการจะรุนแรงกว่าเด็ก หากมาเป็นในช่วงกำลังตั้งครรภ์จะต้องได้รับแกมมาโกลบูลินภายใน 96 ชั่วโมงหลังการสัมผัสโรค และควรระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

 

เมื่อคนท้องไม่สบาย เป็นไข้ สามารถกินยาอะไรได้บ้าง

ก่อนอื่นที่จะตัดสินใจกินยาแก้ปวด ลดไข้ คุณแม่ควรรักษาตามอาการก่อนใช้ยา เช่น อาจมีอาการเจ็บคอ ลองดื่มอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาวหรือน้ำขิงอุ่น ๆ ก่อนนอน หากมีอาการคัดจมูก ควรเรียนรู้วิธีล้างจมูกด้วยตนเอง เพื่อลดอาการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกที่บอบช้ำจากการไอหรือจาม และอย่าลืมรับประทานผลไม้จำพวกวิตามินซีเป็นประจำ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่มีอาการไข้ขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจะได้ยามารับประทานดังนี้

  • ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล สามารถรับประทานได้ทุก 4-6 ชั่วโมงโดยรับประทานเม็ดละ 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด (หรือตามแพทย์สั่ง)
  • ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ทั่วไป ซึ่งยาจำพวกนี้จะลดอาการคัดจมูก เนื่องจากแพ้อากาศ อยู่ในหมวดยา คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)  เป็นยาไม่อันตราย แต่ควรใช้ภายใต้การสั่งยาของแพทย์ ซึ่งคุณแม่อาจถามคุณหมอได้ว่า หากยาหมดแล้วยังไม่หาย ควรทำอย่างไร หาซื้อเองได้หรือไม่ และควรใช้ยานานเท่าไร
  • ยาปฏิชีวนะ รักษาอาการอักเสบทั่วไป เช่น คออักเสบ เนื่องจากเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ยาจำพวกนี้ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง ควรไปหาหมอเพื่อรับการรักษาเบื้องต้น จากนั้นคุณหมอจะสั่งยาให้เราอย่างปลอดภัยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ป่วยแล้วต้องทำยังไง กินยาอะไรไม่ให้กระทบลูกในท้อง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ข้อห้ามสำหรับการกินยาลดไข้ บรรเทาอาการปวด

อย่างที่ทราบกันว่า คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ แต่มีข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้

  • ไม่ควรกินเกินครั้งละ 2 เม็ด และห้ามกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตับ
  • ไม่กินยาพร้อมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นอกจากน้ำเปล่า
  • ห้ามซื้อยามารับประทานเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์เด็ดขาด

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรจะดูแลสุขภาพให้ดี เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยอื่น ที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนสำคัญสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือได้รับระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระลึกไว้เสมอว่า หากมีอาการเจ็บป่วยแม้เพียงน้อยนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ อะไรบ้างที่คนท้องไม่ควรกิน

กลัวการคลอดลูก ทำอย่างไรดี มีวิธีไหนที่คนท้องไม่ต้องกลัวการคลอดลูกบ้าง

วัคซีนที่คนท้องต้องฉีด วัคซีนจำเป็นแม่ท้อง หญิงตั้งครรภ์ ต้องฉีดเพื่อลูกในท้องปลอดภัย

แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนท้องไม่สบายได้ที่นี่!

คนท้องไม่สบาย ลูกจะเป็นอะไรไหมคะ แล้วกินยาอะไรได้บ้างคะ

ที่มา : amarinbabyandkids

บทความโดย

Tulya