ทารกน้อยเคลื่อนไหวไปมาในท้องแม่
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ทารกในครรภ์มีอวัยวะต่างๆ เกือบสมบูรณ์แล้วนะคะ สมองก็เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหนูขณะที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ เมื่อคุณแม่เคลื่อนไหวลูกน้อยก็จะเคลื่อนไหวไปมาตามคุณแม่ไปด้วย ทำให้ผิวหนังของทารกจะรับรู้การสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูกตลอดเวลามีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทรับรู้ความรู้สึก
นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณแม่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน การเดิน ยืน นั่ง นอน ล้วนมีผลต่อพัฒนาการของลูกได้ทั้งสิ้น หากเป็นเช่นนี้ อยากชวนคุณแม่มานั่งเก้าอี้โยกเพื่อเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์กันค่ะ
คนท้องนั่งเก้าอี้โยกดีต่อพัฒนาการทารกในครรภ์
1. การเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ด้วยวิธีการนั่งเก้าอี้โยกของคนท้อง เป็นการกระตุ้นเซลล์สมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการรับรู้ของทารก
2. ทารกได้เรียนรู้การโยกอย่างเป็นระบบ คือ โยกหน้าแล้วตามด้วยหลังเสมอ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไปเป็นการพัฒนาเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว
3. ขณะที่แม่ท้องนั่งเก้าอี้โยกไปมา ทารกน้อยได้เรียนรู้การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เมื่อเก้าอี้โยกไปข้างหน้า ทารกจะรู้จักเกร็งตัวไปข้างหลัง เพื่อต้านแรงโยก เพื่อพยุงตัวให้อยู่ตรงกลางเสมอ ทารกน้อยสามารถทำได้ง่ายเพราะลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำ การกระทำเช่นนี้ เปรียบเสมือนเป็นบทเรียนให้ทารกฝึกใช้ไหวพริบ เข้าใจและปรับตัวตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาใหม่ได้
4. เมื่อคลอดออกมาแล้ว ยังดีต่อพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในแง่ของการพัฒนาระบบกล้ามเนื้อและการทรงตัว ทารกหลังคลอดจึงพลิกคว่ำและหงายได้เร็วกว่าเกณฑ์ปกติเมื่อรู้แบบนี้แล้ว ในช่วงตั้งครรภ์มานั่งเก้าอี้โยกเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์กันนะคะ
สารพัดวิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์
วิธีการเสริมพัฒนาการให้ทารกในครรภ์ สามารถทำได้หลายวิธี นอกจากการนั่งเก้าอี้โยกตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อข้างต้น ยังมีวิธีการอื่น ๆ ขอรวบรวมไว้ให้คุณแม่เพื่อเป็นแนวทาง ดังนี้ค่ะ
1. อ่านหนังสือ
การอ่านหนังสือช่วยเสริมพัฒนาการสมองจากการฟัง เมื่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกในครรภ์ฟังนั้น ลูกจะได้ยินเสียงแม่ได้ชัดกว่า และรับรู้ความรู้สึกได้ไวจากน้ำเสียงขึ้นลง เสียงหัวใจเต้น ขณะอ่านหนังสือได้ดี ข้อมูลจากจากหนังสือ “สร้างเด็กฉลาดด้วยการอ่านหนังสือ เล่านิทาน” โดย สสส. “เซลล์สมองจะพัฒนามากขึ้นและแตกแขนงออกไป ก็ต่อเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เมื่อเซลล์สมองได้รับการกระตุ้นมากเท่าไร เส้นใยสมองก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นสายใยมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งเส้นใยสมองเพิ่มขึ้นมาก เด็กก็ยิ่งฉลาดมาก”
สำหรับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์นั้น พญ.จันทร์เพ็ญ ได้พูดถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือไว้ว่า “เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ยิน แต่เด็กจะคุ้นชินกับคำและประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งพ่อแม่มีการต่อยอดหลังจากลูกคลอดออกมา เด็กจะยิ่งมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น”
2. ไฟฉายกระตุ้นการมองเห็น
ลูกน้อยในครรภ์สามารถกะพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้น วิธีการคือ คุณแม่นำไฟฉายส่องไปที่หน้าท้อง แล้ววนเป็นรูปวงกลมรอบสะดือช้า ๆ เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่รับรู้แสง ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหวและสนใจแสงไฟ เมื่อคุณแม่ส่องไฟทารกภายในครรภ์จะมีการตอบสนอง เช่น การถีบหน้าท้องหรือการดิ้น แสดงว่า เจ้าตัวน้อยรับรู้และเกิดการตอบสนองนั่นเอง เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอดได้อย่างดี
บทความแนะนำ ไฟฉายส่องท้องกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็น
3. การลูบท้อง
การลูบท้องของคุณแม่ด้วยการสัมผัสลูบเป็นวงกลม ทำซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอวันละ 10 นาที เวลาที่ควรลูบท้อง คือ ช่วงเวลาเย็นค่ะ เพราะในช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลาย และเป็นช่วงที่ทารกน้อยตื่นอยู่ บริเวณที่ลูกดิ้น คุณแม่ใช้มือลูบท้องพร้อมกับพูดคุยกับลูก ทักทายกัน ทารกจะรับรู้สัมผัสของคุณแม่ แม้จะไม่เข้าในสิ่งที่คุณแม่พูด แต่รับรู้ได้จากการสัมผัสและน้ำเสียงอันอ่อนโยน วิธีลูบท้องนี้จะช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองให้ทารกด้วยค่ะ
4. ฟังเพลง
คนท้องฟังเพลงเบา ๆ ทำให้จิตใจสบาย ผ่อนคลาย ลูกจะได้รับความรู้สึกนี้ไปด้วยค่ะ ขณะที่เพลงบรรเลงไปนั้น ทารกได้ยินก็จะเคลื่อนไหวตามเพลง เป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านการได้ยินและการเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน เพลงที่ฟังไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิคหรือโมสาร์ทก็ได้ค่ะ เป็นเพลงเบาสบายที่คุณแม่ชอบฟังอยู่เสมอก็ได้ค่ะ จะให้ดีคุณแม่ควรร้องเพลงตามไปด้วยจะดีที่สุดเลยค่ะ
บทความแนะนำ รวมเพลงสําหรับคนท้อง ฟังได้ทั้งแม่และลูก
5. ทำสมาธิ
คำว่าสมาธิ ไม่ได้แปลว่าต้องนั่งสมาธิ แบบขาขวาทับขาซ้ายที่มักจะคุ้นเคยกันเท่านั้นนะคะ การทำสมาธิ อาจเป็นการทำสิ่งใดที่คุณแม่ผ่อนคลายและจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งนั้น เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง การฝึกโยคะ หรือแม้แต่การเดินเล่นสบาย ๆ เป็นต้น การทำสมาธิช่วยกระตุ้นช่วยให้ระบบประสาทและวงจรในสมอง ขณะที่คุณแม่ทำสมาธิจิตของคุณแม่สงบนิ่ง ส่งผลต่อคลื่นสมองของทารกน้อยให้เรียบและเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นผลดี เพราะจะช่วยพัฒนาในด้านความจำของเจ้าหนูต่อไป
ได้ทราบถึงวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์แล้วนะคะ คุณแม่สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ค่ะเพราะจะเป็นผลดีต่อพัฒนาการทั้งด้านสมอง การมองเห็น การเคลื่อนไหวของทารกต่อไป
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจให้ลูกในท้อง
เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการของลูกรัก