ลูกน้อยของเราแตกต่างจากผู้ใหญ่ การนัดตรวจสุขภาพลูก และทำวัคซีนครั้งแรก ของเด็กนอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังแล้ว พ่อแม่ก็จะได้รับคำแนะนำไปด้วยว่า ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร พ่อแม่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร หรือเรื่องของการเลี้ยงดูลูกว่า พัฒนาการแบบนี้ พฤติกรรม และพื้นอารมณ์แบบนี้ปกติหรือเปล่า หากละเลยไม่พาลูกไปตรวจอาจทำให้ลูกได้รับการช่วยเหลือล่าช้า จากโรคที่รักษาหรือช่วยบรรเทาเบาบางได้ อาจกลายเป็นโรคที่หมดโอกาสรักษาและกลายเป็นปัญหาของลูกน้อยไปตลอดชีวิตได้ค่ะ
อะไรจะดีไปกว่าการเห็นลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างสมวัย และแข็งแรง การนัดตรวจสุขภาพลูก และทำวัคซีนครั้งแรก เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ กับลูกได้นั้น เพราะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้ดีในแต่ละย่างก้าวของชีวิต
สร้างเกราะป้องกันด้วย “วัคซีน”
การฉีดวัคซีนของเด็กวัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี นับว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กเพื่อป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งวัคซีนในแต่ละชนิดนั้นสร้างมาจากไวรัส หรือแบคทีเรียที่ถูกทำให้สิ้นฤทธิ์ด้วยกรรมวิธีทางการแพทย์ จนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว ซึ่งวัคซีนเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และสามารถป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้
กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กในวัยต่าง ๆ
การฉีดวัคซีนของเด็กนั้นจะต้องให้ตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยสำนักโรคติดต่อ มีการสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนได้ฟรีสำหรับเด็กทุกคน จำนวน 9 ชนิด ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ถึง 11 โรค คือ วัคซีนวัณโรค หรือ วัคซีนบีซีจี วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคบาดทะยัก วัคซีนโรคโปลิโอ ที่มีทั้งแบบชนิดรับประทาน และชนิดฉีด วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคหัดเยอรมัน วัคซีนโรคคางทูม วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนโรคเอชพีวี
ช่วงระยะการนัดตรวจตามอายุของเด็ก
1 เดือน > 2 เดือน > 4 เดือน > 6 เดือน > 9 เดือน > 12 เดือน > 15 เดือน > 18 เดือน > 2 ขวบ > หลัง 2 ขวบขึ้นไป
หลังจาก 2 ขวบขึ้นไป คุณหมอแนะนำให้ตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อความมั่นใจ ได้รับการประเมินการเจริญเติบโต พัฒนาการ และหากลูกน้อยเจ็บป่วยหรือมีความผิดปกติ จะสามารถรักษาหรือช่วยเหลือได้ทันท่วงที
Checklist 9 ข้อ : เมื่อตรวจร่างกายเด็ก ไม่ควรพลาด!
- การตรวจร่างกายเด็กทั่วไป และการเจริญเติบโต เช่น สัญญาณชีพ ได้แก่อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ การเจริญเติบโต ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบศีรษะของทารกในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโต และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- ประเมินภาวะโภชนาการ สามารถตรวจได้ทั้งจากการเจริญเติบโต อัตราการเจริญเติบโต สัดส่วนร่างกาย คุณหมอจะซักประวัติ เรื่องการรับประทานอาหารของลูกน้อย ว่าเพียงพอหรือไม่ และอาจจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อช่วยในการประเมิน และให้การรักษา
- ประเมินพัฒนาการด้านพฤติกรรม และอารมณ์ เนื่องจากพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับการประเมินจากคุณหมอ หากลูกน้อยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือมีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง การได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ (ก่อนช่วงอายุ 3 – 6 ขวบ) ซึ่งสมองกำลังพัฒนาเต็มที่ จะสามารถทำการรักษา และช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่า หรือใกล้เคียงเด็กปกติได้ดีกว่า
- ตรวจสุขภาพในช่องปาก และฟัน ลูกน้อยเพียง 1 ขวบ หรือถ้าเริ่มมีฟันซี่แรก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาไปหาทันตแพทย์สำหรับเด็กได้แล้ว เนื่องจากเด็กในวัยนี้ จะเริ่มมีฟันขึ้น และสามารถเคี้ยวอาหารด้วยตัวเองได้ การพาไปพบทันตแพทย์ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำแนะนำดี ๆ ในการดูแลสุขภาพปาก และฟันรวมถึงป้องกันปัญหาฟันผุของลูกน้อยได้ด้วย
- ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน การตรวจคัดกรองทั้งสองภาวะนี้ ควรตรวจตั้งแต่แรกเกิด (ในช่วง 1 – 2 เดือนแรก) เนื่องจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะพร่องเอนไซม์ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกเกิด จะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเสียดายมาก
- ตรวจคัดกรองภาวะซีด หรือภาวะการขาดธาตุเหล็ก เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ในช่วงวัย 6 – 9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับอาหารอื่นนอกเหนือจากนม และต้องมีการปรับตัวในการกินอาหาร จึงทำให้มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือเหมาะสม และอาจขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะซีดได้
- ตรวจการได้ยิน เด็กควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากการได้ยินสัมพันธ์กับการพูด หากเด็กบกพร่องในการได้ยิน จะส่งผลให้มีปัญหาไม่พูด หรือพูดช้าตามไปด้วย หากหมอตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ เด็กจะได้ใส่เครื่องช่วยฟัง หรือมีการแก้ไขด้วยวิธีการอื่น ๆ ให้เขาสามารถพูดได้เหมือน หรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ
- ตรวจสายตา เด็กควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเข้าโรงเรียนหรือประมาณ 4 – 5 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเริ่มให้ความร่วมมือในการตรวจแล้ว และเพื่อให้เด็กมีสายตาที่ดี พร้อมสำหรับการเรียนรู้ให้ทันเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน หากเด็กมีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียง โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนช่วงนี้ อาจเกิดปัญหา “ตาขี้เกียจ” ส่งผลให้สายตาพิการตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคทางสายตาอย่าง “มะเร็งจอประสาทตา” ก็เป็นโรคที่สามารถตรวจพบและอาจรักษาไม่ให้โรคลุกลามได้ในช่วงวัยทารก
- ตรวจปัสสาวะ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยตรวจปัสสาวะสักครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ เพื่อคัดกรองโรคไตตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่แสดงอาการป่วยในวัยเด็ก แต่ส่งผลระยะยาวกับลูก
การตรวจร่างกายเด็ก : เด็กยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องตรวจ
อีกกรณีที่คุณหมอแนะนำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือ ความดัน ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ และอาจจะต้องมีการตรวจเลือดและร่างกายอย่างละเอียดเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพของผู้ใหญ่ หากตัวเด็กเองมีภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมในการตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียดแต่ควรปรึกษาคุณหมอเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น
เด็กกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งคือ เด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็ว หรือช้ากว่าเกณฑ์ เช่น เด็กผู้หญิงมีเต้านมตั้งแต่ 8 ขวบ หรือเด็กผู้ชายอายุประมาณ 13 – 14 ปี แต่เสียงยังไม่แตก ยังไม่ฝันเปียก หรือยังไม่มีขนบริเวณหัวหน่าว และรักแร้ หากลูกมีลักษณะอาการเช่นนี้ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา และตรวจอายุกระดูกด้วยการเอ็กซเรย์
ต้องฉีดวัคซีนอะไรในแต่ละช่วงเดือน
อายุ | วัคซีนหลัก | วัคซีนเสริม |
---|---|---|
แรกเกิด | – วัคซีนป้องกันวัณโรค บีซีจี (BCG)
– วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี เข็มที่ 1 (HBV 1) |
|
1 เดือน | – วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี เข็มที่ 2 (HBV 2) | |
2 เดือน | – วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 1 (DTwP-HB1)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 1 (OPV 1 หรือ IPV 1) |
– วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 1 (DTaP 1)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 1 (IPV 1) – วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 1 influenza type B (Hib 1) – วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต เข็ม 1 (PCV 1) – วัคซีนโรต้า เข็ม 1 (Rota 1) |
4 เดือน | – วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 2 (DTwP-HB2)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 2 (OPV 1 หรือ IPV 1) |
– วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 2 (DTaP 2)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 2 (IPV 2) – วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 2 influenza type B (Hib 2) – วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต เข็ม 2 (PCV 2) – วัคซีนโรต้า เข็ม 2 (Rota 2) |
6 เดือน | – วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 3 (DTwP-HB3)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 3 (OPV 3) |
– วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 3 (DTaP 3)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 3 (IPV 3) – วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 3 influenza type B (Hib 3) – วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็ม 3 (PCV 3) – วัคซีนโรต้า เข็ม 3 (Rota 3) – วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ปีละครั้งช่วงอายุ 6 เดือน-18 ปี เน้นช่วงอายุ 6-24 เดือน ปีแรกฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ |
9 – 12 เดือน | – วัคซีนป้องกันหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม เข็มที่ 1 (MMR 1) | – วัคซีนไข้สมองอักเสบ เจ อี (Live JE) เข็มที่ 1 และ 2 |
9 – 18 เดือน | – วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่ 1 และ 2 (ฉีดห่างกัน 1-4 สัปดาห์) (MBV JE 1, JE 2 หรือ Live JE 1) | – วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่ 1 (Live JE 1) เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 อีก 3-12 เดือนต่อมา |
12 – 18 เดือน | – วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ (HAV) ให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
– วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 1 (VZV 1) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 1 (MMRV 1) – วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิด คอนจูเกต เข็ม 4 (PCV 4) |
|
18 เดือน | – วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น ครั้งที่ 1 (DTwP กระตุ้น 1)(OPV กระตุ้น 1)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดกินกระตุ้น ครั้งที่ 1 |
– วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดไร้เซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 1 (DTaP กระตุ้น 1) วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 4 H. influenza type B (Hib 4)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 4 (IPV 4) |
2 – 2.5 ปี | – วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่ 3 (MBV JE 3 หรือ Live JE 2) | – วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็ม 2(JE 2) |
2.5 ปี | – วัคซีนป้องกันหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม เข็มที่ 2 (MMR 2) | |
4 ปี | – วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTwP กระตุ้น 2)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน กระตุ้น ครั้งที่ 2 (OPV กระตุ้น 2) |
– วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2(DTaP กระตุ้น 2)
– วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 5 (IPV 5) – วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 2 (VZV 2) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 2(MMRV 2) |
หลังจากฉีดวัคซีนทารกหรือเด็กบางคนอาจมีรอยแดงหรือบวมบริเวณรอบๆ บริเวณที่ฉีด มีไข้ หรืออาจมีอาการบางอย่างจากการสร้างภูมิต้านทานบ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด หากคุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลต่ออาการที่เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ที่มา : รพ.เปาโล , รพ.เด็กสินแพทย์ , รพ.เวชธานี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วัคซีนเด็ก ควรพาลูกไปฉีดเมื่อไหร่ ทำไมคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนให้ตรงเวลา