สัปดาห์หน้ามีนัดไปเที่ยวทะเล หรือต้องเดินทางไปทำธุระสำคัญ แต่ถ้าประจำเดือนดันมาช่วงเวลานั้นพอดี! สาว ๆ อย่างเราคงจะเซ็งกันไปตาม ๆ กัน ความสนุกเรา คงจะหดหายไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว หากคุณมีปัญหา ลักษณะนี้ การทานยาเลื่อนประจำเดือน ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของสาว ๆ หลาย ๆ คน ที่ไม่อยากแบ่งความสนุกสนาน หรือความคล่องตัว ในการเดินทาง ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากังวลกับการมาของประจำเดือนใช่ไหมล่ะ ?
แต่การทานยาเลื่อนประจำเดือนนั้น เราควรที่จะต้องรู้จัก วิธีการทาน อย่างถูกต้อง และเหมาะสม กับสภาพร่างกายของเรา เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และเกิดผลกระทบใด ๆ กับ สุขภาพร่างกายของเรา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาต้องห้าม ช่วงให้นมบุตร 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 50
ยาเลื่อนประจำเดือน คืออะไร ?
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นตัวยาที่จะช่วยเลื่อนวันที่จะมีประจำเดือนของผู้หญิงออกไป ยาเลื่อนประจำเดือนนี้ เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสเทอโรน ซึ่งจะยับยั้งการหลุดร่อนของเยื่อบุผนังมดลูก ให้ออกมาช้ากว่ากำหนด
นับจากวันที่ประจำเดือนมาเป็นวันแรกไปอีก 14 – 15 วัน จะเป็นวันตกไข่ ซึ่งร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนออกมา เพื่อทำให้เยื่อบุผนังมดลูกหนาขึ้น รองรับกับการฝังตัวของตัวอ่อน ในกรณีที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์นับจากวันตกไข่ แต่หากไม่มี ร่างกายจะหยุดสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดออกมากลายเป็นประจำเดือนในที่สุด การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน จึงต้องรับประทานในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนการมีประจำเดือน เพื่อเพิ่มการสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนให้ทัน ก่อนการสลายตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : นับวันตกไข่จากมูกช่องคลอด สังเกต มูกจากช่องคลอด บอกวันไข่ตกได้
ยาเลื่อนประจําเดือน มียี่ห้ออะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่?
ยาเลื่อนประจำเดือน มีตัวยาชื่อว่า นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ที่จำหน่ายในท้องตลาด มีชื่อการค้า Primolut-N, Steron, Norca ประกอบด้วยยานอร์เอทีสเตอโรน ขนาดยา 5 มก. ต่อ 1 เม็ด เช่น
- ยี่ห้อ Primolut-N แผงละ 15 เม็ด บรรจุกล่องละ 2 แผง ราคาต่อกล่องอยู่ที่ 200 บาทขึ้นไป ซึ่งสามารถแยกซื้อเป็นแผงได้เช่นกัน
- ยี่ห้อ Steron แผงละ 10 เม็ด ราคาจำหน่ายจะอยู่ที่ แผงละ 50 บาทขึ้นไป
- ยี่ห้อ Norca แผงละ 10 เม็ด ราคาจำหน่ายอยู่ที่ แผงละ 50 บาทขึ้นไป เป็นต้น
การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน ทานอย่างไรให้ได้ผล
การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน จะต้องรู้รอบเดือนของตัวเองอย่างแน่ชัด และรับประทานก่อนรอบเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 3 – 5 วัน หากรับประทานช้ากว่านั้น อาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากร่างกายรู้แล้วว่าไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น จึงหยุดการสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และทำให้มีประจำเดือน
วิธีกิน ยาเลื่อนประจำเดือน
ควรกินยาเลื่อนประจำเดือนล่วงหน้า อย่างน้อย 3 วัน ก่อนการมาของประจำเดือน โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น หรือครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ที่รับประทาน
- ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด โดยผู้ที่น้ำหนักน้อยกว่า 65 กก. ให้รับประทานทุก 12 ชม. (วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น)
- น้ำหนักตัวตั้งแต่ 65 กก. ขึ้นไป ให้รับประทานทุก 8 ชม. (วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น) โดยสามารถรับประทานหลังอาหาร 30 นาทีหรือพร้อมมื้ออาหารก็ได้
ข้อควรระวัง ไม่ควรทานยานานเกิน 2 สัปดาห์ และจะมีประจำเดือนภายใน 2 – 3 วันหลังจากหยุดยา ดังนั้น การรับประทานยาก่อนประจำเดือนมาแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกได้หลุดลอกออกมาแล้ว ยาจึงอาจมีผลเพียงช่วยลดปริมาณและจำนวนวันของการมีประจำเดือนให้น้อยลง แต่หลังจากหยุดยา จะทำให้มีประจำเดือนซ้ำอีกในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ปลอดภัยหรือไม่ และกินอย่างไรให้ปลอดภัย
ผลข้างเคียงของยาเลื่อนประจำเดือน
การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนบ่อย ๆ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะทำให้รอบเดือนมีความผิดปกติได้ เช่น มาน้อยกว่าปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาด เป็นต้น อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการคัดตึงหน้าอก เป็นต้น
สำหรับผู้ที่รับประทานยาเลื่อนประจำเดือนก่อนการมาของรอบเดือนเพียงแค่ 1 วัน ไม่ทำให้ประจำเดือนมาช้า แต่อาจจะลดจำนวนวันที่มีประจำเดือน หรือ ปริมาณของประจำเดือนลดลงได้
ถ้ากินยาเลื่อนประจำเดือนแล้ว ประจำเดือนจะมาตอนไหน
หากรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน หรือยาเลื่อนเมนส์แล้ว รอบเดือนใหม่จะมาหลังจากหยุดยา 2 – 3 วัน
ยาเลื่อนประจําเดือนเลื่อนได้กี่วัน ?
หากคุณได้มีการกินยาเลื่อนอยู่เป็นประจำ ต่อเนื่อง ยังคงกินยาเลื่อนประจำเดือนต่อเนื่อง ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกว่าจะหยุดยา ประจำเดือนจะมาหลังหยุดยาไปแล้ว 2-3 วัน บางคนอาจนานถึง 7 วัน แต่ข้อบ่งใช้ของยาเลื่อนประจำเดือนคือ ห้ามทานติดต่อกันเกิน 14 วันหรือ 2 สัปดาห์ เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน
- ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือใช้บ่อยเกินไป ควรรับประทานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
- ผู้ที่มีประวัติเป็น หรือเคยเป็นโรคต่อไปนี้ โรคมะเร็งเต้านม โรคตับ โรคอ้วน และโรคหลอดเลือดอุดตัน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำเกิดความผิดปกติกับร่างกาย และอวัยวะเพศของลูกในครรภ์
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะตัวยาจะปะปนกับน้ำนมแม่ และส่งต่อไปสู่ลูกได้
- ผู้ที่มีเลือดออกโดยไม่ทราบว่าเป็นเลือดประจำเดือนหรือไม่ ไม่ควรซื้อยาเลื่อนประจำเดือนมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
กลุ่มผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการทานยาเลื่อนประจำเดือน
ยานอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) หรือยาเลื่อนประจำเดือน มีข้อห้ามในการใช้ยาสำหรับบุคคลใน 5 กลุ่ม ต่อไปนี้
- สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวยา อาจจะทำให้ทารกในครรภ์มีการพัฒนาอวัยวะเพศที่ผิดแปลกออกไป โดยเฉพาะครรภ์ของเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์มากกว่าเดือนครึ่ง หรือ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป
- คุณแม่ที่ให้นมบุตร น้ำนมแม่จะมีตัวยาปะปนออกมาด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อลูกได้
- ผู้ที่มีประวัติ หรือความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับ หรือเคยเป็น เนื่องจากตัวยานอร์เอทีสเตอโรน จะถูกกำจัด หรือขับออกที่ตับ หากตับทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะเกิดการตกค้างของตัวยา ทำให้ส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว เช่น โรคตับอักเสบ เป็นต้น
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศ เนื่องจากตัวยา จะเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้อร้ายเหล่านี้ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทานยาในขณะตั้งครรภ์
จากที่เกริ่นมาข้างต้น ในกรณีที่ตัวคุณแม่ได้ทานยาเลื่อนประจำเดือน โดยที่ไม่ทราบว่าตนเองนั้นตั้งครรภ์ลูกอยู่ ตัวยาที่ทานเข้าไปอาจจะมีผลต่อการพัฒนาการของอวัยวะเพศภายนอกของทารกในครรภ์ได้ แต่จากทดสอบนั้น ยังไม่พบว่าตัวยาเลื่อนประจำเดือนนี้ จะส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการในด้านอื่น ๆ
ดังนั้น หากคุณมาทราบในภายหลังว่ามีการตั้งครรภ์หลังจากทานยาเลื่อนประจำเดือนไปแล้ว อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ ให้ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนเพื่อการดูแลทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจใด ๆ การตรวจการตั้งครรภ์ก่อนจะเริ่มใช้ยาเลื่อนประจำเดือน จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก และไม่ควรมองข้ามเด็ดขาดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 29 ควรเริ่มกินยาคุมเมื่อไร ?
“ยาธาตุน้ำขาว” ยานี้คนท้องกินได้ไหม เกิดอาการจุกเสียด กรดไหลย้อน
แหล่งที่มา : pharmacy.mahidol, jeban