การตรวจติดตามหลังคลอด เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ และห้ามละเลยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหลังคลอดนั้น ระบบการไหลเวียนของร่างกายของคุณแม่ ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ การจะต้องไปหาแพทย์ที่ดูแลตามนัดในแต่ละครั้งมีความสำคัญเสมอ เพราะหากพบเจอสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณแม่ ก็เสมือนเป็นการป้องกันสุขภาพของลูกน้อยได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
ความสำคัญเรื่องสุขภาพของคุณแม่
การตรวจติดตามหลังคลอด ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดูแลตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอด โดยเฉพาะหลังคลอดนั้นควรจะต้องใส่ใจตัวเองให้มาก ทั้งการ บำรุงเลือด เพื่อทำให้ระบบไหลเวียนในร่างกายเกิดความสมดุล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ และถูกสัดส่วน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย และสร้างน้ำนมให้กับลูกอย่างเพียงพอ โดยเน้นการรับประทานอาหารจำพวก ผัก เนื้อ นม และไข่
เมื่อคุณแม่คลอดบุตรแล้ว ตัวคุณแม่จะต้องใช้พลังงานในการเลี้ยงดูลูกอย่างหนัก ทำให้น้ำหนักของแม่ลดลง และต้องพยายามลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน ขนมหวาน ผลไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่อ้วนขึ้น และลดได้ยาก เนื่องจากติดพฤติกรรมการรับประทานขณะตั้งครรภ์ ควรหมั่นออกกำลังกายเบา ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้แม่มีสุขภาพแข็งแรง และมีรูปร่างเหมือนเดิมได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดีหากแม่ปล่อยตัวเองให้อ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับความอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับคุณแม่หลังคลอด คือ บรรดาคุณแม่ส่วนใหญ่ต้องใช้ทุกช่วงเวลาอยู่กับลูก ซึ่งเป็นงานที่ทั้งเหนื่อย หนัก และต้องทุ่มเทเวลาให้อย่างมาก กระทั่งส่งผลให้คุณแม่ไม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่ได้ออกกำลังกาย และต้องนอนดึก เพราะคอยห่วงสุขภาพการกินอยู่ของลูกมากกว่าตัวเอง หากผู้เป็นแม่หันมาให้ความสำคัญกับตัวเองบ้างก็จะไม่เจ็บป่วย
ขณะเดียวกันในเวลาเช่นนี้สุขภาพจิตของแม่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น คุณสามีจึงควรที่เอาอกเอาใจภรรยา ด้วยการช่วยแบ่งเบาภาระร่วมกัน หากคุณแม่ตั้งใจจะมีลูกหลายคน ก็ไม่ควรตั้งท้องถี่เกินไป เพราะสุขภาพของคุณแม่จะทรุดโทรม ควรจะมีการเว้นระยะในการตั้งครรภ์ 1 – 2 ปี ก่อนการตั้งครรภ์ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้แม่มีเวลาใส่ใจทั้งสุขภาพของลูกน้อย และสุขภาพของตัวเองได้ ที่สำคัญหากคุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะส่งผลให้ลูกน้อยเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรง สมบูรณ์ มีอารมณ์ดี และมีความสุขด้วย
ตรวจหลังคลอด
เมื่อคลอดลูกแล้ว คุณแม่คงวุ่นกับการเลี้ยงลูก จนอาจจะลืมนึกถึงการดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาในเรื่องความดัน การขับถ่าย แผลฝีเย็บ เป็นต้น คุณแม่จึงไม่ควรละเลยในเรื่องของการไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจสุขภาพหลังคลอดทุกครั้ง มาดูกันเลยค่ะว่าตรวจหลังคลอดจำเป็น และสำคัญกับคุณแม่ที่คลอดลูกแล้วแค่ไหน
การตรวจหลังคลอด สำคัญอย่างไร
หลังจากที่คุณแม่ทุกคนผ่านการตั้งครรภ์ และผ่านการคลอดลูกมาเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี และแข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะเติบโตขึ้นอีกต่อไป หนึ่งเดือนหลังจากที่คุณแม่คลอดเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณแม่นั้น จะต้องทำการตรวจสุขภาพหลังคลอด เพื่อเป็นการเช็คสภาพร่างกายของคุณแม่นั่นเองค่ะ
ทำไมต้องตรวจหลังคลอด
มีคุณแม่หลายท่าน ที่สงสัยว่าทำไมต้องตรวจหลังคลอด เมื่อคลอดแล้ว สุขภาพร่างกายของแม่คลอดก็ปกติทุกอย่าง การตรวจหลังคลอดสำหรับคุณแม่นั้นมีความจำเป็นมากค่ะ เพราะว่าคุณหมอจะตรวจเช็คทุกอย่างในร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด ว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรหรือไม่หลังจากคลอด เพราะว่าคุณแม่หลังคลอดที่แผลยังไม่หายดี จะต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ระบบภายในของคุณแม่จะต้องกลับมาเป็นปกติ และเหมือนเดิม คุณแม่จึงต้องมีการตรวจหลังคลอดค่ะ
ตรวจหลังคลอด ต้องตรวจอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว สูติแพทย์จะนัดคุณแม่เพื่อตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 6 สัปดาห์แล้ว (หรือ 4 สัปดาห์หลังคลอด หากมีปัญหาในระหว่างคลอด) ซึ่งจะเป็นการตรวจภายในหลังคลอด เช็คความแข็งแรงของร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ กลับสู่สภาพปกติหรือยัง รวมถึงตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่มีภาวะอื่น ๆ แทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์
1. ตรวจร่างกายทั่วไปหลังคลอด
- ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน : เป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจ ซึ่งปกติแล้วหลังคลอด 6 สัปดาห์ น้ำหนักคุณแม่ควรลดลงประมาณ 5 – 10 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ 2 – 3 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์) ส่วนความดันเลือดควรอยู่ในระดับปกติ 80/120 มิลลิเมตรปรอท หากน้ำหนัก และความดันเลือดยังสูงอยู่ อาจต้องควบคุมอาหารให้เหมาะสม และบริหารร่างกายด้วย
- ตรวจเต้านม : เพื่อดูว่าเต้านมมีความผิดปกติหรือไม่ โดยการคลำที่หน้าอกเพื่อตรวจ มะเร็งเต้านม หรือก้อนน้ำเหลือง ซึ่งคุณแม่อาจจะคลำด้วยตัวเองจากที่บ้านก่อนได้ หากพบก้อนเล็ก ๆ เต้านมแข็ง มีอาการปวด ก็ขอคำแนะนำจากคุณหมอได้
- ตรวจหน้าท้อง : เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และดูว่าผนังหน้าท้องยังหย่อนอยู่ หรือไม่ ซึ่งหลังคลอด 1 เดือนก็สามารถบริหารหน้าท้อง เพิ่มความแข็งแรง และสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้องได้แล้ว หากไม่ได้ออกกำลังกายหลังคลอดก็จะทำให้หน้าท้องยังหย่อน และป่อง ส่วนคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดก็ต้องตรวจแผลผ่าตัด ว่าหายดีหรือยังด้วย
- อาการไข้และการขับถ่าย : ในระยะแรกหลังคลอด หากมีอาการไข้สูง แผลอักเสบ เป็นหวัด หรือปวดท้อง ควรรีบบอกคุณหมอทันที เพราะอาจมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องท้องผูก ทำให้ถ่ายลำบาก และเจ็บแผลคลอด จึงควรกินอาหารที่เส้นใยสูง ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่ม ไม่ต้องเบ่งนาน และป้องกันแผลปริแตก หากท้องผูกมาก คุณหมออาจให้กินยาถ่ายด้วย (งดให้นมลูกระหว่างใช้ยาทุกชนิด)
2. ตรวจภายในหลังคลอด
หลังคลอดแล้ว 6 สัปดาห์ คุณแม่จำเป็นต้องตรวจภายใน เพื่อดูว่าแผลฝีเย็บหายดีหรือยัง การปิดของปากมดลูก (ในกรณีคลอดเอง) และตรวจดูแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ว่ามีการปริแตกไหม รวมถึงการอักเสบบริเวณช่องคลอด และตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย
- มดลูกเข้าอู่ : เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวขึ้นมาก หลังจากคลอดจึงต้องตรวจว่า มดลูกหดตัวแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่มดลูกจะเข้าอู่ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอด มีขนาดปกติเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ และอยู่ในตำแหน่งเดิมภายในอุ้งเชิงกราน เมื่อไปตรวจ คุณหมอจะใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอด และใช้อีกมือคลำบริเวณหน้าท้อง หากคลำพบก้อนที่หน้าท้องแสดงว่ามดลูกเข้าอู่ช้า ซึ่งถ้าอยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ก็ควรให้ลูกดูดนมแม่จะช่วยได้ค่ะ
- แผลคลอด : โดยปกติแล้วแผลคลอดไม่ว่าจะเป็นคลอดเอง หรือการผ่าคลอดมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งอาการปวดแผลหลังคลอด จะปวดประมาณ 3 – 4 วัน หรืออย่างมาก 1 อาทิตย์ และจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากปวดมากสามารถกินยาแก้ปวดลดอาการได้ หากมีอาการปวดแผลฝีเย็บมาก มีอาการบวมแดง กดแล้วเจ็บ อาจเป็นเพราะฝีเย็บอักเสบ ควรรีบพบคุณหมอทันที ส่วนแผลผ่าตัดคลอดจะติดสนิทภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการบวม หรือเลือดไหลซึมออกจากแผล แต่จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าแผลจะหายดี จึงต้องหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
- ดูแลแผลคลอด : ทำความสะอาดแผลทุกวัน วันละ 1 – 2 ครั้งด้วยสบู่ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างอ่อน ล้างกับน้ำสะอาด จากด้านหน้าไปด้านหลัง เพราะการล้างจากก้นมาด้านหน้า จะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผล และช่องคลอด หากเจ็บปวด หรือแผลอักเสบมาก อาจแช่ด้วย น้ำอุ่น 1 ลิตรผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ 1 ช้อนโต๊ะ แช่นานประมาณ 10 – 15 นาที เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น และเลือดไหลเวียนดีขึ้น จะช่วยให้แผลหายเร็ว
- น้ำคาวปลา : หลังคลอด 3 – 4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด หลังจากนี้อีก 10 – 14 วันเป็นน้ำปนเลือด สีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมด (ภายใน 4 สัปดาห์) ในช่วงที่น้ำคาวปลายังไม่หมดนั้น ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด และถ้าน้ำคาวปลาออกมาเป็นสีผิดปกติ หรือยังเป็นเลือดอยู่ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุคือ มีเศษรกค้างอยู่ หรืออาจมีการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูก จึงควรรีบแจ้งให้คุณหมอทราบ
- มะเร็งปากมดลูก : โดยปกติผู้หญิงควรตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งในการตรวจหลังคลอด คุณหมอจะตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ด้วย และตรวจว่าถุงน้ำที่รังไข่ ปีกมดลูกทั้งสองข้าง หรือที่มดลูกมีก้อนเนื้องอกผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ อาจตรวจไม่พบ เพราะมดลูกขยายขนาดใหญ่จนกลบเนื้องอก แต่เมื่อมดลูกเป็นปกติแล้วก็สามารถตรวจพบได้
3. ตรวจอาการผิดปกติหลังคลอด
นอกจากที่คุณแม่จะได้ตรวจร่างกายคลังคลอด และตรวจภายในหลังคลอดแล้ว คุณหมอจะตรวจโรคที่เป็นในระหว่างตั้งครรภ์ว่าหายเป็นปกติหรือยัง เพราะบางโรคจะเป็นเฉพาะตอนที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอดร่างกายจะกลับเข้าสู่สภาพปกติ รวมถึงโรคประจำตัวอื่นที่มีอยู่ก่อนตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ คุณหมอก็จะตรวจดูอาการของโรคให้เช่นกันค่ะ
- เบาหวาน : อาการเบาหวานที่พบในช่วงตั้งครรภ์จะพบ 2 กรณีคือ ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว หรือเพิ่งเป็นเบาหวานเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ มักจะพบในคุณแม่ที่อ้วนมาก น้ำหนักขึ้นเร็ว มีไขมันมาก จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อคลอดลูกแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ และเบาหวานจะหายไป คุณหมอจะเช็คระดับน้ำตาลในเลือด ว่าลงมาอยู่ในระดับปกติต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อ 100 ซี.ซี. หรือยัง หากระดับน้ำตาลยังไม่ลงมาอยู่ในระดับนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นเบาหวาน
- ครรภ์เป็นพิษ : อาการครรภ์เป็นพิษมักเกิดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คือมีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวในปัสสาวะ บวม ซึ่งจะหายไปภายใน 2 – 4 สัปดาห์หลังคลอด (ตามความรุนแรงของอาการ) ดังนั้นหากมีอาการครรภ์เป็นพิษในระหว่างตั้งครรภ์ ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจ เพื่อดูความดันโลหิตว่ายังสูงอยู่ และมีไข่ขาวในปัสสาวะหรือไม่ รวมถึงเป็นการทำงานของไต เพราะภาวะครรภ์เป็นพิษจะทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี ปล่อยให้ไข่ขาวหลุดมาในปัสสาวะได้ และถ้าตรวจพบว่ายังมีไข่ขาวอยู่ในปัสสาวะหลังคลอดแล้ว แสดงว่าอาจมีโรคไตแทรกอยู่ จึงไม่ควรละเลยการตรวจหลังคลอดค่ะ
- ริดสีดวงทวาร : ส่วนใหญ่อาการ ริดสีดวงทวาร มักจะหายภายใน 2 – 3 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว แต่หากเป็น ๆ หาย ๆ อาจต้องใช้การผ่าตัดรักษา ดังนั้น หลังคลอดจึงควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ต้องกลัวว่าการถ่ายจะทำให้แผลเย็บฉีกขาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศ และทวารหนักให้สะอาด เน้นกินอาหารที่มีกากใย และการเดินบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น หากมีอาการเจ็บปวดแผลสามารถประคบด้วยถุงน้ำแข็ง หรือนั่งแช่น้ำอุ่นประมาณ 10 – 15 นาที ทำวันละ 2 – 3 ครั้ง หรือใช้ครีม, ยาเหน็บตามแพทย์สั่ง
อาการหลังคลอด…ต้องพบแพทย์ทันที
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง ชุ่มผ้าอนามัย 1 อัน และเลือดที่ออกมาเป็นก้อน
- ปวดหัวมาก หนาวสั่น หรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ปวดท้องมาก ปวดท้องบิด โดยไม่ได้มีสาเหตุจากอาหารที่กิน
- ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น และน้ำคาวปลามีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด
- เจ็บหรือแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ
- มีหนอง หรือเลือดไหลจากแผลฝีเย็บ หรือแผลฝีเย็บบวมแดงมากขึ้นจนปวดถ่วงถึงทวารหนัก
- มีก้อนที่เต้านม หรือเต้านมบวมแดง
ก่อนการนัดตรวจหลังคลอด คุณแม่ควรหมั่นใส่ใจดูแลร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ และหากคุณแม่มีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือภายใน 12 ชั่วโมง
หลังคลอดคุณแม่อาจจะมีอาการต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย หรือว่าอารมณ์ คุณแม่สามารถเกิดความเครียดได้ทุกเมื่อ การตรวจหลังคลอดก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้คุณแม่มือใหม่ ได้มีโอกาสปรึกษาหมอ และระบายความเครียด พร้อมปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นหลังคลอดได้เช่นกัน
เนื่องจากคุณแม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และขณะคลอด เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่คุณแม่ต้องได้รับการตรวจหลังคลอด โดยทั่วไปหมอจะนัดมาตรวจหลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของคุณแม่แต่ละรายด้วย ซึ่งคุณแม่ไม่ควรละเลยเรื่องนี้ เพราะจะทำให้คุณแม่ได้ทราบว่าร่างกาย หรืออวัยวะต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนใดใดเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงมีการให้คำปรึกษาแนะนำ เกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ครั้งถัดไปเร็วเกินไปอีกด้วย
ในกรณีที่คุณแม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติหลังคลอด เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดหน่วงท้องน้อย มีอาการปวด บวม หรือแดงบริเวณแผลฝีเย็บ มีเลือด หรือหนองไหลออกจากแผล น้ำคาวปลามีสีแดงสด ไม่จางลงภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด รวมถึงมีอาการปวด บวม แดง หรือมีก้อนที่บริเวณเต้านม ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
การตรวจหลังคลอด หลัก ๆ จะประกอบไปด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจภายใน
- การตรวจร่างกายทั่วไป หมอจะทำการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจหน้าท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คุณแม่มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง รวมถึงการตรวจเต้านมเพื่อประเมินว่ามีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ และไหลดีหรือไม่
- สำหรับการตรวจภายใน หมอจะทำการตรวจบริเวณฝีเย็บว่า แผลฝีเย็บหายสนิทติดดีแล้วหรือยัง รวมถึงมดลูกมีการเข้าอู่เรียบร้อยดีหรือไม่ มีการอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณมดลูกหรือไม่ ทำการตรวจบริเวณปากมดลูก รวมถึงมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกตามความเหมาะสม
- ประเมินสภาวะจิตใจ นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจภายในแล้ว หมอจะทำการประเมินสภาวะจิตใจของคุณแม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจพบได้ในคุณแม่หลังคลอดบางราย
- นัดตรวจหลังคลอด คุณแม่ควรให้ความสำคัญ กับการมาตรวจตามนัดหลังคลอด เพราะนอกจากจะทำให้หมอสามารถทำการวินิจฉัย และให้การรักษาในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว คุณแม่ยังจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ และลูกน้อยอีกด้วย
ที่มา :มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลเปาโล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องรู้!
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 67 กิจกรรมที่คุณแม่ ไม่ควรทำในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด