การดูแลทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย เกณฑ์น้ำหนักทารกแรกเกิดลูกต้องหนักเท่าใด สาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยเกิดจากอะไร และจะมีวิธีป้องกัน และดูแลอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ เพราะน้ำหนักของทารกแรกเกิดแต่ละคนนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป และการที่ทารกบางคนนั้นมีน้ำหนักแรกเกิดที่น้อยกว่าเกณฑ์ ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกันค่ะ
ปัญหาทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
ทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อย เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ เพราะอาจเสี่ยงต่อการตายในระยะปริกำเนิดหรือแรกคลอด รวมถึงขวบปีแรกของชีวิต นอกจากนี้ ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยยังเสี่ยง ต่อการเจ็บป่วย ภาวะทุพโภชนาการ และการมีพัฒนาการล่าช้าในทุกด้านมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดปกติ ที่สำคัญ ยังส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างมารดากับทารก เนื่องจากทารกต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน การป้องกันทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายการคลอดทารกน้ำหนักน้อยไม่เกินร้อยละ 7 ต่อปี
สถิติทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยยังสูง
สถิติภาพรวมของปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 10.60 (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกลุ่มภารกิจด้านข่าวสารสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2554-2557 มารดามีอัตราการคลอดทารกน้ำหนักน้อย ร้อยละ 10.28, 10.23, 10.68 และ 10.44 ตามลำดับ (ธราธิป โคละทัต และจันทิมา จรัสทอง, 2559)
บทความที่เกี่ยวข้อง : เกณฑ์น้ำหนักทารกแรกเกิด น้ำหนักของทารกแรกเกิด ควรหนักเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นแค่ไหน
สาเหตุหลักของทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
1. สาเหตุจากแม่
สาเหตุหลักของการคลอดทารกน้ำหนักน้อยคือ การคลอดก่อนกำหนด และการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพตนเองของหญิงตั้งครรภ์
- แม่ท้องอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือแม่ท้องอายุมากกว่า 35 ปี
- การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ อาทิ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หรือไวรัสเริม เป็นต้น
- เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์
- ภาวะเจ็บป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
- ภาวะทุพโภชนาการ
- ตั้งครรภ์แฝด
- น้ำหนักแรกเกิดของมารดาน้อย
- เป็นบุตรคนแรก ประวัติมีบุตรน้ำหนักน้อย หรือมีบุตรมาแล้วมากกว่า 5 คน
- ตั้งครรภ์หลังคลอดบุตรคนก่อนไม่ถึง 6 เดือน
- ความผิดปกติของมดลูก
- มีภาวะเลือดข้นขณะตั้งครรภ์
2. สาเหตุจากตัวเด็ก
- การติดเชื้อในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ซิฟิลิส
- ความผิดปกติของโครโมโซม
- ความพิการแต่กำเนิด
วิธีป้องกันทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
- คนท้องต้องรับประทานอาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ
- คนท้องต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเหตุให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
- คนท้องต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
- คนท้องต้องหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก
- คนท้องต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การมีภาวะเครียด ภาวะซีด การติดเชื้อ การใช้ยาหรือสารเสพติด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยได้ อย่างไรก็ตาม คนท้องต้องเฝ้าระวังน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์และสัมพันธ์กับอายุครรภ์ มาฝากครรภ์ให้ครบตามมาตรฐาน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการประเมินสุขภาพอนามัยของตนเองและทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามแพทย์สั่ง และหมั่นไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดการตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์ แก้ปัญหาลูกในท้องตัวเล็ก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ปัญหาที่พบเมื่อทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
- ระบบทางเดินหายใจของทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ยังควบคุมการหายใจได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้ทารกหยุดหายใจได้
- การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เนื่องจากทารกมีผิวหนังค่อนข้างบาง ไขมันใต้ผิวหนังน้อย ทำให้สูญเสียความร้อนได้ง่าย ร่างกายจึงมีอุณหภูมิต่ำได้ง่าย
- ระบบทางเดินอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้การย่อยและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทารกที่น้ำหนักน้อยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันเลือดต่ำ เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อย จึงเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
วิธีดูแลทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
- ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย หมายถึงทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2500 กรัม รวมถึงทารกที่คลอดก่อนกำหนด คือ อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และทารกที่เกิดครบกำหนด คือมีอายุครรภ์ระหว่าง 37 – 42 สัปดาห์
- การดูแลด้านการหายใจ ดูแลให้ทางเดินหายใจโล่งอยู่เสมอ ดูดเสมหะที่ค้างในปากและคออยู่เสมอ หากมีอาเจียนระหว่างหรือหลังให้นม ต้องดูดเสมหะในปากก่อนจมูกเพื่อป้องกันสำลักเข้าหลอดลม
- ดูแลควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ทารกอบอุ่นอยู่เสมอ เช่น ใช้ผ้าขนหนูที่หนาและแห้งห่อตัวทารก สวมหมวกร่วมกับปรับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมห้องให้เหมาะสมกับทารก
- ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากระบบน้ำย่อยและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ ดังนั้น หลังจากให้นมแล้ว ควรจับไล่ลมทุกครั้งเพื่อป้องกันการสำลัก จัดท่านอนตะแคงขวาหลังให้นม ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงเพื่อเพิ่มการดูดซึมสารอาหาร
- ระบบภูมิต้านทาน ดูแลป้องกันการติดเชื้อ เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสทารก และดูแลความสะอาดทั่วไป เช่น ของใช้ทารก ขวดนม เสื้อผ้า
- การดูแลพัฒนาการของทารก ควรให้ทารกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่สงบ มีเสียงรบกวนน้อยที่สุด ส่งเสริมให้ทารกนอนหลับอย่างเต็มที่ ส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมโดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การได้ยิน การมองเห็น การสัมผัส การทรงตัว การดมกลิ่น และการรับรส
การดูแลทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพียงแค่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้น้ำหนักทารกแรกเกิดค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ที่สำคัญควรปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลทารก เพื่อจะได้ทราบความเปลี่ยนแปลงของร่างกายลูกน้อย แต่คงจะดีกว่า หากคุณแม่ดูแลตัวเองเสียแต่วันนี้ก่อนที่จะคลอดลูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบา ๆ หมั่นไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมน้ำหนักทารกแรกเกิดให้ตามเกณฑ์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำหนักแม่น้อยไปไหม กลัวลูกในท้องโตช้า แต่ขุนมากไปน้ำหนักเยอะ ความเสี่ยงก็แยะ
ทารกในครรภ์กินอาหารทางไหน และคนท้องควรกินอะไรให้แข็งแรงไปถึงลูกในท้อง
วิธีวัดการเจริญเติบโตของทารก ชั่งน้ำหนักทารก วัดความยาวทารก วัดเส้นรอบศีรษะลูก
ที่มา : enfababy