คำหยาบที่หลุดออกมาจากปากลูกน้อย ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนรู้สึกกังวลใจใช่ไหมคะ? อย่าเพิ่งตกใจค่ะ ปัญหา ลูกพูดคำหยาบ สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่นุ่มนวลและได้ผล ซึ่งการสอนลูกให้พูดจาไพเราะ เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของลูกในระยะยาว มาเรียนรู้ 7 เทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่จัดการกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นี้ของลูกน้อยได้อย่างง่ายดายกันค่ะ
สารบัญ
ล้วงให้ลึกถึงจุดเริ่ม ทำไม? ลูกพูดคำหยาบ
การที่ลูกน้อยพูดคำหยาบ อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลและไม่สบายใจ แต่ก่อนที่จะแก้ไขปัญหา เราต้องเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดคำหยาบเสียก่อน ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น
|
ลูกอาจเลียนแบบคำพูดจากผู้ใหญ่รอบข้าง เช่น พ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อน |
|
เมื่อลูกโกรธหรือหงุดหงิด อาจใช้วิธีพูดคำหยาบเพื่อระบายอารมณ์ |
|
การที่ลูกพูดคำหยาบอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกน้อยใช้ในการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนรอบข้าง |
|
การดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือฟังเพลงที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้ ลูกพูดคำหยาบ ได้ |
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเด็กๆ มักจะเริ่มจดจำและพูดคำหยาบเมื่ออายุได้ประมาณ 4 ขวบค่ะ โดยกระบวนการคือ เริ่มจากจดจำคำต่างๆ เมื่อได้ยินบ่อยๆ จะเริ่มมีการทดลองใช้ ซึ่งในความคิดของลูกน้อย “คำหยาบ” หรือคำพูดที่ไม่สุภาพเหล่านั้นเป็นเพียงคำที่ตัวเองไม่รู้ความหมายแน่นอน แต่สิ่งที่ลูกสัมผัสและรู้สึกได้ชัดเจนคือ เมื่อ ลูกพูดคำหยาบ ออกมาแล้ว จะมีผลกระทบต่อผู้ฟัง เช่น คุณแม่ตกใจ ตาโต หยุดทุกอย่างที่กำลังทำแล้วหันมาดุ มาซักไซ้ไล่เลียง ดังนั้น วิธีการตอบสนองที่ถูกต้องเมื่อได้ยินคำหยาบจากปากลูกคือ ตั้งสติ ทำใจให้นิ่ง อย่าตอบสนองให้ลูกรู้ว่าการที่พูดคำหยาบเป็นเรื่องใหญ่ แล้วลองใช้วิธี กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วยเทคนิคที่ theAsianparent นำมาฝากกันค่ะ
ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ
พฤติกรรมการพูดคำหยาบของลูกน้อยส่วนใหญ่มักเกิดจาก “การเลียนแบบ” คนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัวค่ะ ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรกคือ การเป็น Role Model ของคุณพ่อคุณแม่ และคนใกล้ชิดลูก แล้วค่อยกำราบ ลูกพูดคำหยาบ อย่างนุ่มนวล ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ ไม่ต้องใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือการลงโทษที่กระทบกระเทือนจิตใจลูก ดังต่อไปนี้ค่ะ
-
เป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model)
ความยากของการปรับพฤติกรรมการพูดคำหยาบของลูกน้อย อยู่ที่ “พฤติกรรมการพูดของคุณพ่อคุณแม่” นี่แหละค่ะ เพราะต่อให้สอนลูกมากเท่าไรว่าคำหยาบไม่ดี ไม่ควรพูด แต่คุณพ่อคุณแม่กลับพ่นคำหยาบเป็นไฟ เม้าท์ใครต่อใครด้วยภาษาสุดแซบอยู่เสมอ จะหวังให้ลูกน้อยพูดจาไพเราะนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยค่ะ เพราะต้นแบบที่ลูก “เห็น” อยู่ทุกวันนั้นขัดกับคำสอนที่ “ได้ยิน” ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ใช้คำพูดที่ไพเราะ สุภาพอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้คำหยาบคาย
-
ไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรม ลูกพูดคำหยาบ ด้วยความตื่นตระหนก
เมื่อลูกพูดคำหยาบ ตั้งสติ ทำใจให้นิ่ง หลีกเลี่ยงการหัวเราะ แสดงความตกใจ หรือดุมากเกินไป เพราะอาการตอบสนองเหล่านี้จะกลายเป็นแรงเสริมในทางอ้อมที่ทำให้ลูกพูดคำหยาบต่อ เพราะลูกเรียนรู้ว่าคำบางคำเมื่อพูดแล้วทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลันได้ เช่น หยุดพูด หรือวางมือจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ ลูกจึงอยากพูดเพื่อทดสอบอิทธิพลของคำนั้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรวางเฉย เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีความหมาย แล้วค่อยบอกลูกอย่างใจเย็นว่า “เราไม่พูดแบบนี้นะลูก”
-
สอนให้ลูกรู้จักคำที่เหมาะสม
เมื่อลูกพูดคำหยาบหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคำพูดบางคำไม่เหมาะสมที่จะใช้ และสอนให้ลูกใช้คำที่สุภาพแทน เช่น พูดอธิบายกับลูกว่า “คำบางคำไม่ควรพูดนะลูก เพราะคนที่ได้ยินจะรู้สึกไม่ดี” ซึ่งอาจรวมถึงการใช้คำพูดง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตพระจำวัน แต่ไม่ใช่คำสุภาพหากพูดในบางสถานการณ์ เช่น พูดถึง “อึ ฉี่” บนโต๊ะอาหาร ควรบอกให้ลูกเข้าใจว่า หากลูกปวดอึหรือปวดฉี่ให้กระซิบให้แม่ฟัง หรือในกรณีที่ลูกใช้คำหยาบในการระบายอารมณ์ ควรสอนลูกให้ใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่า เช่น เวลาโกรธให้พูดว่า “หนูกำลังโกรธแล้วนะ” แทน อ้อ… คำสบถที่คุณพ่อคุณแม่พูดเวลาตกใจ ไม่ได้ดังใจ หรือโกรธ ต้องเก็บไปเลย ห้ามนำมาใช้ให้ลูกได้ยินนะคะ ท่องไว้ค่ะว่าลูกพร้อมเลียนแบบเสมอ
ไม่พูดคำหยาบ และอยากให้ลูกพูดจามีหางเสียงด้วย ทำไงดี? |
|
|
|
-
อธิบายถึงผลกระทบ
บอกให้ลูกเข้าใจว่าการพูดคำหยาบจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่น่ารักของตัวลูกเองในสายตาคนอื่นด้วย
-
ดึงลูกออกจากสื่อที่ไม่เหมาะสม
กรณีที่ลูกอยู่ในวัยรับสื่อหน้าจอได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกสื่อหน้าจอที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ไม่มีความรุนแรง คำหยาบ หรือการแสดงออกพฤติกรรมที่ไม่ดีในหน้าจอนั้นๆ ที่สำคัญคือควรนั่งดูไปพร้อมกับลูกด้วย เพื่อป้องกันการรับสื่อด้วยตัวเองโดยขาดวิจารณญาณที่ถูกต้องเหมาะสมของลูก นอกจากนี้ อาจชวนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันหรือปรับพฤติกรรมการพูดคำหยาบของลูก เช่น ใช้การเล่นบทบาทสมมติ สอนให้ลูกรู้จักการใช้คำพูดที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาที่สุภาพกับลูก
-
สร้างกฎกติกาภายในบ้าน
เมื่อลูกน้อยโตขึ้นมากพอที่จะเรียนรู้ความหมายของคำเหตุและผลได้ คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกร่วมกันสร้างกฎภายในบ้านว่า “ภายในบ้าน ห้ามพ่อ แม่ ลูก พูดคำหยาบหรือคำไม่สุภาพ” แล้วปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัดอย่างเท่าเทียมกันทุกคน หากมีการพูดคำหยาบขั้นจะต้องมีการลงโทษ เช่น จำกัดการรับชมสื่อ ควบคุมเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้เวลากับหน้าจอ การให้ทำงานบ้านชดเชยความผิด ฯลฯ แต่ไม่ควรใช้วิธีลงโทษทางกายที่รุนแรง เพราะจะทำให้ลูกเป็นเด็กขี้ขลาด ขี้กลัว ทั้งยังเป็นการบ่มเพาะนิสัยก้าวร้าวได้ในอนาคต
-
ชื่นชมพฤติกรรมที่ดี
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่พูดจาไพเราะ ไม่พูดคำหยาบ และสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาภายในบ้านได้ ควรให้คำชมเชยและให้กำลังใจให้ลูกรักษาพฤติกรรมดีๆ เช่นนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากทำตาม 7 เทคนิคข้างต้นแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาลูกพูดคำหยาบได้ หรือลูกมีพฤติกรรมที่น่ากังวล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจิตวิทยาเด็กนะคะ
ปัญหาลูกพูดคำหยาบสามารถแก้ไขได้นะคะ หากพ่อแม่ให้ความสำคัญและใช้วิธีการที่เหมาะสม การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตเป็นเด็กที่มีมารยาทที่ดีและเป็นที่รักของทุกคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกต้องใช้เวลา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีความอดทนและความเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน แต่อธิบายเหตุผลง่ายๆ ให้ลูกฟัง เชื่อว่าลูกจะรับรู้ถึงความปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ได้แน่นอนค่ะ
ที่มา : www.phyathai.com , www.childrenhospital.go.th , www.thaihealth.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
7 วิธี สอนลูกให้มี Logical Thinking รู้ถูกผิด รู้หน้าที่ อยู่เป็น คิดได้
ลูก 2 ขวบไปโรงเรียนวันแรก เตรียมลูกให้พร้อมก้าวสู่โลกแห่งการเรียนรู้