เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกเริ่มนั่งตอนไหน เช็ก! พัฒนาการ พร้อมวิธีฝึกลูกนั่ง

พัฒนาการลูกน้อยเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการนั่ง คลาน เดิน มาดูกันค่ะว่า เด็กนั่งได้กี่เดือน ลูกเราจะเริ่มนั่งตอนไหน พร้อมวิธีฝึกลูกนั่งแบบง่ายๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การที่ลูกน้อยเริ่ม “นั่ง” ได้ ถือเป็นก้าวสำคัญอย่างหนึ่งของพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนรอคอยเลยนะคะ โดยเด็กแต่ละคนก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนอาจนั่งได้เร็ว บางคนอาจช้ากว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่พ่อแม่หลายบ้านก็อาจยังมีความสงสัยว่าเมื่อไรลูกน้อยจะพร้อมสำหรับการนั่ง บทความนี้จะพาไปไขข้อข้องใจว่า เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกเริ่มนั่งตอนไหน พร้อมเช็ก! พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และ วิธีฝึกลูกนั่ง อย่างปลอดภัยค่ะ

เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกเริ่มนั่งตอนไหน?

เด็กทารกนั้นมีพัฒนาการที่รวดเร็วที่สุดค่ะ เนื่องจากวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน ซึ่งตามธรรมชาติแล้วพัฒนาการของลูกน้อยวัยทารกจะแบ่งเป็นด้านต่างๆ ได้คือ พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านอารมณ์และสังคม และด้านภาษา โดยคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกวัยนี้คือ ทารกเริ่มนั่งตอนไหน เด็กนั่งได้กี่เดือน เมื่อไรลูกนั่งตัวตรง กี่เดือนพลิกตัวและคลานได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถ เช็ก! พัฒนาการ ของลูกวัยทารกว่าปกติหรือเปล่าได้จาก “สิ่งที่ลูกทำได้” ในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

เช็ก! พัฒนาการ สิ่งที่ลูกน้อยควรจะทำได้ตามวัย

อารมณ์และสังคม
  • อายุ 2 เดือน ทารกเริ่มยิ้มตอบได้
  • อายุ 4 เดือน ลูกน้อยเริ่มดีใจเมื่อเจอคุณแม่ คุณพ่อ หรือคนที่เลี้ยง
  • อายุ 9 เดือน ลูกสามารถเล่นจ๊ะเอ๋กับคุณพ่อคุณแม่ได้
กล้ามเนื้อมัดใหญ่
  • วัย 4 เดือน ทารกจะเริ่มพลิกคว่ำได้
  • วัย 6 เดือน เริ่มนั่งได้
  • ลูกเริ่มคลานได้ตอน 8 เดือน
กล้ามเนื้อมัดเล็ก
  • ลูกน้อยจะเริ่มหยิบจับของชิ้นเล็กได้ เช่น หยิบลูกเกดเข้าปากเองได้ ในวัย 9 เดือน
ภาษา
  • เมื่ออายุ 9 เดือน ลูกจะเริ่มเรียกแม่ว่า “มามา” เรียกพ่อว่า “ปาปา”
  • วัย 1 ขวบ ลูกจะเริ่มพูดเป็นคำได้ 1 คำ เช่น พูดว่า “นม” เมื่อรู้สึกหิว หรืออยากกินนม พูดว่า “ไป” ได้ และเริ่มชี้บอกความต้องการได้ รวมถึงเดินเองได้

ใช่ค่ะ… เราเพิ่งเฉลยไปว่า เด็กนั่งได้กี่เดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วลูกน้อยมีความพยายามที่จะพลิกคว่ำตั้งแต่ช่วงวัย 4 เดือนแล้ว โดยเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ทารกจะ “เริ่มนั่งได้” เมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และการที่ทารกเริ่มนั่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อส่วนลำตัวและคอของลูกน้อยแข็งแรงขึ้นแล้วค่ะ

เด็กนั่งได้กี่เดือน ลูกจะนั่งตัวตรงตอนไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกพร้อมนั่ง

การนั่งได้ของลูกน้อยนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถส่งผลได้นะคะ ทั้งความพร้อมของร่างกายที่แตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ ลำตัว และหลัง ที่จะต้องรองรับน้ำหนักตัวของทารกได้ ไปจนถึงการได้รับการฝึกให้นั่งบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาการได้ดีขึ้น แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าลูกพร้อมนั่ง? คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ว่าลูกน้อยมักจะตั้งศีรษะขึ้นได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน และเริ่มดันตัวขึ้นโดยใช้แขนขณะนอนคว่ำ กระทั่งเข้าสู่ช่วงวัย 4 เดือน คอลูกจะแข็งขึ้น ตั้งศีรษะได้อย่างมั่นคงโดยคุณแม่ไม่ต้องพยุงค่ะ

ท่าทางการนั่งของทารกในแต่ละช่วงอายุ

4-6 เดือน อาจจะนั่งได้บ้างแต่ยังต้องมีคนช่วยประคอง
6-7 เดือน เริ่มนั่งได้เองโดยไม่ต้องอาศัยพยุงนานนัก
7-8 เดือน นั่งได้นานขึ้น สามารถเอื้อมหยิบของเล่นได้
9 เดือนขึ้นไป นั่งได้อย่างมั่นคง สามารถลุกขึ้นนั่งได้เอง

 

ทั้งนี้ หากลูกวัย 9 เดือนขึ้นไป ยังนั่งไม่ได้ หรือไม่สามารถนั่งโดยมีคนพยุงได้ กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงขณะเคลื่อนไหว ควบคุมศีรษะให้มั่นคงไม่ได้ เอื้อมมือหรือหยิบจับสิ่งของเข้าปากเองก็ไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงความล่าช้าของทักษะการเคลื่อนไหวโดยรวมของลูก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ รวมถึงอาจมีความผิดปกติจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวโตผิดปกติ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ฝึกลูกนั่งยังไงให้ถูกวิธี ไม่กระทบพัฒนาการ

แม้ลูกน้อยจะเริ่มหัดนั่งด้วยตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนตามพัฒนาการ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยเตรียมความพร้อมการฝึกนั่งของลูกน้อยได้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกเริ่มพลิกตัว แม้กระดูกหลังหรือคอลูกยังไม่ค่อยแข็งแรงนักก็ไม่ต้องกังวลค่ะ ให้ลูกพลิกตัวได้เองก่อน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ประคองและโอบลูกน้อยเอาไว้ จะเป็นการฝึกให้ลูกเริ่มทำท่าทางอื่นๆ นอกจากการนอนต่อไป โดยเฉพาะการฝึกนั่ง ที่มี วิธีฝึกลูกนั่ง ดังนี้

  • ให้ลูกนอนคว่ำ

โดยคุณแม่จับลูกนอนคว่ำในช่วงเวลาที่ลูกตื่นอยู่ อาจนอนคว่ำบนตัวคุณแม่แล้วกระตุ้นให้ลูกยกศีรษะขึ้นมาด้วยการชวนเล่น เป็นการช่วยให้ลูกมีกล้ามเนื้อคอ ท้อง และหลัง ที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าลูกเริ่มยกศีรษะขึ้นได้ และยกไหล่ได้มากขึ้นด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ประคองลูกนั่ง

เมื่อลูกควบคุมศีรษะให้ยกขึ้นได้อย่างมั่นคงแล้ว อาจฝึกลูกนั่งโดยการประคองหรือใช้หมอนหนุนรอบตัวและหลังลูก เพื่อให้ลูกอยู่ในท่านั่งได้นานขึ้น เกิดความเคยชินและสามารถลุกนั่งได้เอง ซึ่งต่อไปจะสามารถนั่งได้ดีขึ้น

  • ฝึกการทรงตัว

คือการฝึกให้ทารกเข้าใจสมดุลของร่างกายในการทรงตัว เริ่มจากการให้ลูกน้อยนั่งบนพื้นโดยตัวอยู่ระหว่างขาของคุณแม่หรือคุณพ่อในท่าขัดสมาธิ เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยในการทรงตัวนั่ง จากนั้นใช้มือช่วยจับให้ลูกทรงตัวด้วยตัวเอง ซึ่งลูกอาจใช้มือดันพื้นเพื่อพยุงตัว ต่อมาคุณแม่จึงเริ่มปล่อยมือ ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกจะสามารถนั่งได้นานขึ้น

  • ดึงตัวลูกให้ลุกขึ้นนั่ง

เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ลูกลุกนั่งได้ง่ายขึ้น โดยคุณแม่จับลูกหันหลังเข้าหาตัวเอง ใช้ขาแม่หนีบขาลูกไว้ จากนั้นจับแขนหรือดึงตัวลูกให้ลุกขึ้นเหมือนท่าลุกนั่งในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง และควรฝึกเมื่อลูกมีอายุ 5 เดือนขึ้นไปเท่านั้นนะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ปล่อยลูกเล่นบนพื้นบ้าง

การปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสเล่นที่พื้นบ้าง จะทำให้ลูกมีพัฒนาการในการนั่งได้ดีกว่าการให้ลูกอยู่บนที่นอนหรืออยู่ในเปลอย่างเดียว ซึ่งคุณแม่อาจใช้เบาะรองนั่งเพื่อป้องกันลูกล้มตัวลงแล้วหัวฟาดพื้น หรืออันตรายจากอุบัติเหตุอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

  • เล่นกับลูกในท่าที่ต้องนั่ง

เช่น เล่นเกมซ่อนหา หรืออ่านหนังสือให้ฟัง จะช่วยให้ลูกเกิดความเคยชินกับการนั่งมากขึ้น และนั่งได้นานขึ้นค่ะ

การฝึกลูกให้นั่งนั้นสิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้และเข้าใจพัฒนาการลูกน้อยก่อนว่า เด็กนั่งได้กี่เดือน ทารกเริ่มนั่งตอนไหน อย่าเร่งรัด ให้ลูกได้พัฒนาไปตามวัยของตัวเอง ซึ่งวัยทารกนั้นยังมีกระดูกที่อ่อนค่ะ หากไม่ได้รับการฝึกนั่งอย่างถูกต้องอาจส่งผลให้ลูกหลังค่อม และเสียบุคลิกได้เมื่อโตขึ้น การจับทารกนั่งขณะที่ทรงตัวเองไม่ได้กำลังของกล้ามเนื้อหลังยังไม่แข็งแรงเพียงพอ จะทำให้ลูกรู้สึกเมื่อย ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง หรืออาจทำให้กระดูกสันหลังเสียรูปได้ นอกจากนี้ ไม่ควรปล่อยลูกให้นั่งนานเกินไป ควรเปลี่ยนท่าให้นอนบ้าง เพื่อป้องกันการผิดรูปของกระดูกสันหลังค่ะ

 

ที่มา : www.sukumvithospital.com , www.breastfeedingthai.com , helpmegrowmn.org , 2pasafamily.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อย่าเพิ่งอี๋ ลูกน้อยอึสีเขียว ดำ เทา บอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพลูก

White noise เสียงไดร์เป่าผม ช่วยกล่อมทารก หลับสบายจริงไหม ?

ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย บำรุงยังไง ให้แข็งแรง มีน้ำหนักตามเกณฑ์

บทความโดย

จันทนา ชัยมี