ส่อง!!!ทารกแรกเกิดเป็นอย่างไรนะ
หากคุณแม่ไม่ได้คลอดแบบที่ต้องวางยาสลบ คุณแม่ก็จะได้เห็นลูกน้อยที่คลอดออกมา ตัวทารกน้อยจะดูเหี่ยวย่นไปสักหน่อย สีผิวอาจจะสีออกแดง ๆ ม่วง ๆ เมื่อคุณหมอดูดเอาของเหลวที่อยู่ในปากและจมูกของลูก พร้อมกับตัดสายสะดือแล้ว ก็จะนำเด็กไปล้างเนื้อล้างตัวเอาคราบต่าง ๆ ออกจากตัว และทดสอบเด็กแรกเกิดที่เรียกว่า Apgar Score ซึ่งเป็นการประเมิน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1. สีผิว โดยจะดูสีผิวว่าซีดหรือเขียวเกินไปหรือไม่
2. ชีพจร วัดได้เท่าไหร่ ปกติหรือไม่
3. สังเกตหน้าตา ทำหน้าบูดบึ้ง ร้องไห้จ้า หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น
4. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อ่อนปวกเปียกหรือเคลื่อนไหวได้มากน้อยเพียงไร
5. การหายใจ ช้าปกติ หรือว่าดี
บทความแนะนำ 7 เรื่องน่าอัศจรรย์ของทารกแรกเกิด
วิธีการตรวจเช่นนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-10 นาที จากนั้นจะทำการติดป้ายชื่อให้ลูกของคุณ ห่อตัวลูกให้อบอุ่น แล้วพยาบาลจะนำทารกน้อยมาวางไว้ที่อกของคุณแม่
คุณแม่สามารถให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมได้เลย แม้ไม่มีน้ำนมก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รู้ว่า ลูกอยากดูดนมของแม่แล้วนะ แล้วพยาบาลจะนำตัวตาหนูหรือยัยหนูไปที่ห้องพักเด็กแรกเกิดเพื่อสังเกตอาการระยะ 2-3 ชั่วโมงแรกค่ะ
บทความแนะนำ ทำไมเด็กแรกเกิดต้องการนมแม่เร็วที่สุด?
ทารกแรกเกิดเป็นอย่างนี้นะคะคุณแม่
ผิวหนัง
ในช่วงวันแรก ๆ ผิวหนังของลูกจะยังเหี่ยวย่น มีรอยช้ำ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติค่ะ ก็เจ้าหนูนอนแช่ในน้ำคร่ำมาตั้ง 9 เดือนนี่นาผิวจึงเป็นเช่นที่เห็นค่ะ
สำหรับรอยช้ำเกิดจากขณะที่คลอดลูกต้องเบียดตัวผ่านช่องคลอดออกมา หรือบางคนอาจจะต้องใช้เครื่องมือช่วยหนีบออกมา ภายใน 2-3 วัน ลูกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เด็กบางคนจะมีรอยปาน หรือรอยใต้ผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นหว่างคิ้วหรือเปลือกตา ก้น เป็นเพราะลูกของคุณผิวยังบอบบางมาก และใต้ผิวหนังมีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก ริ้วรอยแหล่านั้นจะหายไปในเวลา 1 ปีค่ะ
ผม ขน
เด็กที่เกิดมาบางคนมีผมน้อย บางคนมีผมมาก โดยเฉพาะลูกสาวทั้งสองของผู้เขียนหัวเหม่งออกมาเลยค่ะ ผมน้อยมาก แต่พอโตก็ขึ้นมาผมเยอะตามปกติ และบางคนมีขนอ่อนตามหัวไหล่ หลัง หน้าผาก ปลายหู พวกขนตามลำตัวเหล่านี้จะหลุดออกไปเองเมื่อเด็กโตขึ้นค่ะ
บทความแนะนำ อยากให้ลูกคิ้วเข้ม คิ้วสวย คิ้วผมดกดำ ทำอย่างไรดี ?
ศีรษะ
ศีรษะของเจ้าหนูจะมีขนาดหนึ่งในสามของร่างกาย หน้าผากกว้าง จนดูเหมือนลูกหัวโต ๆ ยาว ๆ และเมื่อลูบไปรอบ ๆ ศีรษะจะรู้สึกว่าไม่เรียบและรอยเหลื่อมอยู่บ้าง นั่นคือรอยต่อของกะโหลกศีรษะหรือที่เรียกกันจนชินปากว่า กระหม่อมยังปิดไม่สนิท เมื่อลูกอายุประมาณ 2 ขวบกระหม่อมนี้จะปิดสนิทเอง
บทความแนะนำ ไขข้อสงสัย : กระหม่อมของของทารกปิดช้าหรือเร็ว?
ตา
ลูกตาของเจ้าหนูจะยังไม่สัมพันธ์กัน อย่าเพิ่งตกใจแบบผู้เขียนนะคะที่คิดว่าลูกเกิดมาตาเหล่ เล่นเอาเครียดไปหลายวัน เพราะดวงตาของลูกจะมาพัฒนาหลังจากที่คลอดออกมาแล้วค่ะ อาการตาเหล่แบบนี้จะหายไปเอง
บทความแนะนำ ไขข้อข้องใจ รู้ได้อย่างไรว่าทารกแรกเกิดทำไมตาเหล่
เปลือกตา คิ้วและขนตา
เปลือกตาจะมีลักษณะพองออกมาเล็กน้อย ยังเป็นเส้นบาง ๆ เลือน ๆ อยู่ยังไม่ต้องรีบหาอะไรมาทานะคะ ปล่อยไว้สักพักก็จะชัดขึ้นเองค่ะ
บทความแนะนำ ชวนคุณแม่!!!มาทำความสะอาดทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี
อ่าน ส่อง!!!ทารกแรกเกิดเป็นอย่างไรนะ (ต่อ) คลิกหน้าถัดไป
ใบหู
อาจจะม้วนมาข้างหน้า หรือบางคนอาจม้วนไปด้านหลัง หรือบางคนหูคนละข้างม้วนไปคนละทางไปเลย เพราะใบหูยังนิ่มอยู่ค่ะ แต่เมื่อเจ้าหนูโตขึ้นไปหูก็จะคลี่ออกมาเองค่ะ
จมูกและแก้ม
เด็กทุกคนเกิดมาจมูกจะแบน และปลายจมูกจะบานกว้าง กันทั้งนั้นค่ะ ไม่ใช่ว่าลูกของคุณดั้งหักแต่อย่างใด ก็แก้มยุ้ยๆของเจ้าหนูย้อยลงมาดึงดั้งจมูกลงไปด้วย แก้มยุ้ย พองๆ นิ่มๆ ของทารกน้อยน่าหอมจริง ๆ ใช่มั๊ยคะคุณแม่
ช่องปาก
อาจจะมีสีขาว ๆตามแนวเหงือกและเพดานอยู่บ้างนิดหน่อย
หัวนม
เด็กบางคนจะมีไตแข็งๆ และมีของเหลวออกมา ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะนั่นคือฮอร์โมนของแม่ที่สะสมอยู่ในตัวลูก
สะดือ
จะมีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ สีเหลืองยาวๆ ประมาณ 1-2 นิ้ว และจะค่อย ๆ แห้งและหลุดออกเองตามธรรมชาติประมาณ 1-2 สัปดาห์ ที่สำคัญคุณแม่ต้องรักษาความสะอาดของสะดือเจ้าหนูให้ดีที่สุดค่ะ
บทความแนะนำ 5 สิ่งห้ามใช้กับสะดือเด็กแรกเกิด
มือ เท้า เล็บ
มือและเท้าจะมีขนาดเล็กและนุ่มนิ่มน่าสัมผัสเป็นที่สุด เล็บมีลักษณะบาง ใส และคม ในช่วงแรกต้องใส่ถุงมือกันขีดข่วนใบหน้าตนเองก่อนนะคะ
บทความแนะนำ ระวัง! ใส่ถุงมือ ถุงเท้าให้ทารก สกัดกั้นพัฒนาการลูกน้อย
เจ้าจำปี-น้องจำปา
อย่าตกใจนะคะที่เห็นอวัยวะเพศของตาหนูหรือยัยหนูบวมใหญ่จนน่ากลัว เพราะนั่นเป็นเพราะฮอร์โมนที่ได้รับจากแม่
เจ้าจำปี ของตาหนูจะมีหนังหุ้มปลายองคชาติปิดไว้ ถ้าไม่ได้ขลิบส่วนลูกอัณฑะก็จะเลื่อนออกมาอยู่ในถุงอัณฑะ แต่บางคนหากลูกอัณฑะยังไม่เลื่อนลงมากุมารแพทย์ช่วยจัดการดูแลให้เองค่ะ ไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่อย่างใด
น้องจำปา ของยัยหนู จะบวมใหญ่ และมีเลือดขับออกมาทางช่องคลอด แต่นั่นเป็นเรื่องปกติ จะค่อย ๆ ยุบลงเองค่ะในเวลาไม่นาน
เราได้มาทำความรู้จักกับอวัยวะต่าง ๆ ของเจ้าตัวน้อยที่คุณเฝ้ารอคอยมาถึง 9 เดือนแล้วนะคะ ต่อไปคงเป็นหน้าที่คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยทะนุถนอมเจ้าตัวน้อยที่แสนจะบอบบางไว้ให้ดีที่สุด ก็รักมากและรอคอยมานานนี่นา ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงโซ่ทองคล้องใจของคุณค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ “คุณแม่มือใหม่หัวใจเกินร้อย” โดยมิ่งขวัญ ลิรุจประภากร
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณหมอป้ายตาทารกแรกเกิดเพื่ออะไร?
ชวนคุณแม่!!!มาทำความสะอาดทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี