เกิดเหตุระทึกขวัญ เด็ก 10 ขวบ ตกท่อ เหล็กแหลมเสียบขา เลือดอาบภายในหมู่บ้านชุมชนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ปทุมธานี ชาวบ้านต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ พบแผลฉกรรจ์ เลือดไหลอาบ
ด.ช.วิภูษิต (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 10 ปี กำลังเล่นเตะบอลกับเพื่อนภายในหมู่บ้าน ก่อนจะพลาดท่าจนขาซ้ายตกลงไปติดในท่อระบายน้ำ ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์รีบเข้าช่วยเหลือดึงตัวเด็กขึ้นมา แต่ขาของเด็กยังติดอยู่ด้านใน
นางชัชชญา ขยันการ อายุ 76 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า เห็นเด็ก ๆ กำลังเล่นเตะบอลอยู่ และได้เตือนเด็กๆ ระวังท่อระบายน้ำที่ชำรุด แต่หลังจากนั้นได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ จึงรีบวิ่งไปดู พบว่าขาของ ด.ช.วิภูษิต ติดอยู่ในท่อระบายน้ำ และยังเผยอีกว่า ฝาท่อระบายน้ำจุดดังกล่าวมักชำรุดบ่อยครั้ง และเคยแจ้งเทศบาลให้นำมาซ่อมแซมแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
หลังจากที่ได้แจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากเทศบาลนครรังสิตเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ พบเด็กชายคนดังกล่าวร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด มีแผลฉกรรจ์บริเวณขาซ้ายจนเห็นกระดูก เจ้าหน้าที่รีบให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลบางปะกอกรังสิต 2
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าท่อระบายน้ำจุดดังกล่าวไม่มีฝาปิด เจ้าหน้าที่จึงทำการปิดทับด้วยปูนเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังพบฝาท่อระบายน้ำอีกหลายแห่งภายในหมู่บ้านที่ชำรุด บางแห่งใช้ไม้หน้าสามวางบนแผ่นเหล็กซึ่งมีสนิมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ด้าน ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องแล้ว และสั่งการให้หน่วยซ่อมบำรุงเร่งดำเนินการปิดท่อระบายน้ำจุดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวแล้ว และจะเร่งรัดแก้ไขท่อระบายน้ำที่ชำรุดอื่น ๆ ในพื้นที่โดยเร็วที่สุด
เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง หลายคนวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปล่อยปละละเลยไม่ดูแลความปลอดภัยของประชาชน เกรงว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีก
ที่มา: amarintv.com, สำนักข่าววันนิวส์
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอุบัติเหตุ เด็ก 10 ขวบ ตกท่อ
เหตุฉุกเฉินจากการมีเลือดออกสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันและมีความรุนแรงแตกต่างกันไป แผลถลอกเล็กน้อยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลหรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย แต่บาดแผลบางอย่างก็รุนแรงได้ ทั้งนี้หากรู้จักวิธีควบคุมและหยุดเลือดออกสามารถช่วยชีวิตได้ในกรณีแผลฉีกขนาดใหญ่หรือแผลลึก แผลที่เกิดจากปืนหรือวัตถุระเบิด หรือแผลทะลุอื่น ๆ เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลาเฉลี่ย 7 ถึง 10 นาทีในการเดินทางมาถึงหลังจากติดต่อ แต่ผู้บาดเจ็บสาหัสอาจเสียชีวิตจากการเสียเลือดภายในเวลา 5 นาที ทั้งนี้หากอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวคุณสามารถช่วยเหลือ จากข่าว เด็ก 10 ขวบ ตกท่อ ได้ดังต่อไปนี้
1. ประเมินแผลและขอความช่วยเหลือ
เมื่อคุณพบเห็นผู้ประสบอุบัติเหตุที่ดูเหมือนว่าจะได้รับบาดเจ็บสาหัส พยายามทำความเข้าใจและประเมินลักษณะความรุนแรงของอาการบาดเจ็บของเขาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือการตั้งสติและรีบโทรแจ้ง 1669 (เบอร์ฉุกเฉิน) ในทันที และสิ่งที่ไม่ควรทำคือการพยายามถอด หรือดึงบางสิ่งออกจากแผล รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตัวเอง
2. สังเกตอาการผู้ประสบอุบัติเหตุ
คอยสังเกตว่าผู้ประสบอุบัติเหตุ มีอาการอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น อาการบวม อาเจียน ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ระดับความรู้สึกตัว หรือรู้สึกมึนงง หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบแจ้งผู้มาช่วยเหลือ และในกรณีที่ผู้ช่วยเหลือไม่สามารถเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้ในทันที หรือใช้ระยะเวลานาน ให้หมั่นสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด บันทึกอาการที่เกิดขึ้น แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อมาถึง
ข้อควรระวัง
- ห้ามพยายามดึงผู้บาดเจ็บขึ้นมาจากท่อด้วยตัวเองหากไม่แน่ใจว่าปลอดภัย
- ห้ามให้ผู้บาดเจ็บดื่มน้ำหรือกินอาหาร หากมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
- ห้ามให้ผู้บาดเจ็บเคลื่อนไหวหากสงสัยว่ากระดูกหัก
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องควรขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและอาการของผู้บาดเจ็บแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพิ่มเติม
บทความที่น่าสนใจ: ลูกลื่นล้ม แล้วนิสัยเปลี่ยน พาไปหาหมอช็อก พบกะโหลกแตก!
เสียเลือดเยอะมีอาการอย่างไร
จากกรณีดังกล่าวและมีรายงานว่าเสียเลือดมากซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้นวันนี้เราจึงนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเสียเลือดมากมาให้อ่านกันเพื่อเตรียมรับมือ หากตกอยู่ในสถานการณ์จริง หรือพบเห็นผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ
ภาวะช็อกจากภาวะเลือดพร่อง (Hypovolemic Shock) หรือภาวะเสียเลือดมากเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียเลือด หรือของเหลวในปริมาณมากและรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณเลือดไหลเวียนลดลง ซึ่งเรียกว่าภาวะเลือดต่ำ ซึ่งภาวะนี้ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรง
อาการของภาวะช็อกจากภาวะเลือดพร่อง
อาการของภาวะช็อกจากภาวะปริมาตรต่ำ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม สาเหตุของการช็อก และความเร็วในการสูญเสียเลือดหรือของเหลว โดยมีสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วและตื้น
- รู้สึกอ่อนแอหรือเหนื่อยล้า
- สับสนหรือมึนงง
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีเลย
- ผิวซีดเย็นชื้น
ทั้งนี้ผลข้างเคียงของภาวะช็อกจากภาวะเลือดพร่อง หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะช็อกจากภาวะเลือดพร่องอาจส่งผลร้ายแรงและถึงแก่ชีวิตได้ ได้แก่ ความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต และสมอง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามในกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งตัวกับลูกน้อยของคุณ อันดับแรกคือจะต้องตั้งสติ ใจเย็น ๆ อย่าตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ให้รวดเร็ว และตัดสินใจว่าควรทำอะไรต่อไป และตรวจสอบอาการเบื้องต้นว่าลูกได้รับบาดเจ็บตรงไหน มีเลือดออกหรือไม่ หายใจปกติหรือไม่ หากลูกไม่รู้สึกตัว รีบโทรแจ้ง 1669 ทันที
ที่มา: massgeneralbrigham.org, webmd.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เคล็ด(ไม่)ลับ! จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
แผล ลูกมีแผลทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่คุณแม่ก็ทำได้
เด็กเลือดออก วิ่งหกล้มแล้วเลือดออก ควรรับมือยังไงบ้าง?