หลายเดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ประเทศไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 38-44 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อาจร้อนจัดยิ่งกว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดภัยเงียบที่ประชาชนต้องระวังอย่างมาก นั่นคือ โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ล่าสุด โรงพยาบาลแพร่ได้รายงานพบผู้ป่วยเป็นโรคฮีทสโตรกถึง 5 ราย และได้ส่งเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ทว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 2 ราย เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของโรคฮีทสโตรกที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
ภัยเงียบ! อากาศร้อนจัด จ.แพร่ เจอผู้ป่วย โรคฮีทสโตรก 5 ราย ด่วนส่ง รพ. 2 รายเสียชีวิต
ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มรูปแบบ อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 38 – 42 องศาเซลเซียส หรือบางพื้นที่อาจร้อนจัดยิ่งกว่า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้มีรายงานข่าวถึงเหตุการณ์สลดใจ เกิดเหตุผู้เสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรก 2 ราย ในจังหวัดแพร่ โดยสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 43 องศาเซลเซียส
- รายแรก อายุ 59 ปี พบเสียชีวิตริมถนนข้างบ้าน ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร คาดว่าเป็นลมหมดสติ จากสภาพอากาศร้อนจัด
- รายที่สอง อายุ 76 ปี พบเสียชีวิตหน้าประตูบ้าน ข้างรถจักรยานล้อถีบสำหรับผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากเป็นฮีทสโตรก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน และมีโรคประจำตัว
ทาง โรงพยาบาลแพร่ จึงได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากสภาพอากาศร้อนจัด โดยระบุว่า
“29 เม.ย. 67 บันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ มีคนไข้ฮีทสโตรก เข้ารับการช่วยเหลือที่ห้องฉุกเฉิน รพ.แพร่ 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย และเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย #ความร้อนมันน่ากลัวจริง ๆ
ดูแลสุขภาพให้ดีในช่วงอากาศร้อน ตามข้อปฏิบัติข้างล่างนี้
#ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลแพร่”
เหตุการณ์ที่น่าสลดนี้ เป็นการตอกย้ำถึงอันตรายของ โรคฮีทสโตรก โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ประชาชนควรดูแลตนเอง ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดนาน ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ที่มา: The Bangkok Insight, Khaosod
Facebook: โรงพยาบาลแพร่ – Phrae hospital
โรคฮีทสโตรก อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยปกติแล้ว อุณหภูมิร่างกายของคนเราอยู่ที่ 36.1-37 องศา ถึงแม้จะนอนนิ่ง ๆ ร่างกายก็ยังเผาผลาญพลังงานเกิดความร้อน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายจะควบคุมอุณหภูมิด้วยการระบายความร้อนออกสู่ภายนอก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธี หลัก ๆ คือ
1) การถ่ายเทความร้อนภายในออกสู่บรรยากาศรอบ ๆ โดยใช้หลักการที่ว่า “ที่ร้อนมากกว่าจะระบายความร้อนออกสู่ที่ร้อนน้อยกว่า”
2) ขับเหงื่อ ระบายความร้อนออกจากร่างกาย
ซึ่งหากร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน อุณหภูมิจะพุ่งสูงจนเข้าสู่สภาวะ ฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรก คืออะไร?
ฮีทสโตรก คือภาวะที่เกิดเมื่อร่างกายสูญเสียเหงื่อและน้ำมากเกินไป อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อระบบประสาทและอวัยวะต่างๆ เช่น อาการปวดศีรษะ หน้ามืด ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือร่างกายไม่ได้เกิดการระบายความร้อนออกมามากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อได้ และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง: ฮีทสโตรก (Heatstroke) วิธีการรับมือ เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงอย่างเฉียบพลัน
สัญญาณเตือนของ โรคฮีทสโตรก
- ตัวร้อนมาก: อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
- ผิวหนังแห้งและร้อน: ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
- ความดันโลหิตลดลง: รู้สึกอ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นเร็วมาก: ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
- กระหายน้ำมาก: ปากแห้ง รู้สึกอยากดื่มน้ำตลอดเวลา
- วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด: รู้สึกไม่สบายตัว มึนงง
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย: รู้สึกไม่สบายท้อง
- อาการรุนแรง: อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติ
หากพบสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยไปยังที่ร่ม เย็นสบาย ถอดเสื้อผ้าบางส่วน เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ดื่มน้ำ และรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคที่มากับหน้าร้อน โรคฮิตสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกป่วย
วิธีป้องกันฮีทสโตรก
1) หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงอากาศร้อนจัดและเลือกทำกิจกรรมในร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2) สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
เลือกเสื้อผ้าสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี หากต้องออกข้างนอกควรเลือกสวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดด
3) ดื่มน้ำให้เพียงพอ
จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำหวาน ที่สำคคัญการดื่มน้ำเย็น ๆ จะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีค่ะ
4) ดูแลกลุ่มเสี่ยง
ห้ามทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่ควรให้อยู่ตามลำพัง
5) ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกออกกำลังกายในที่ร่ม อากาศถ่ายเท เลือกช่วงเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนมากจนเกินไป
6) สังเกตอาการผิดปกติ
ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรระวังเป็นพิเศษ และถ้าหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
11 หมอผิวหนังเด็ก หมอผิวหนังเด็กเก่งๆ คัดมาให้แล้ว หมอที่ถูกแนะนำว่าดี
อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ทำลูกไข้สูง เป็นหวัด ตาแดง พ่อแม่ต้องระวัง!
แพทย์เผย! เด็กน้อย 3 ขวบ เสียชีวิตเฉียบพลัน สาเหตุไม่ใช่ เล่นน้ำ ตากแดด แต่เป็นเพราะเหตุนี้!