ดราม่า ครูทุบหลัง : โรงเรียน “บ้านหลังที่สอง” สู่ ฝันร้าย” ของเด็กน้อย
“โรงเรียน” สถานที่ที่ควรอบอุ่น ปลอดภัย เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ของเด็ก ๆ กลับกลายเป็น ห้องขัง สร้างฝันร้ายและบาดแผลในใจ จากกรณีล่าสุด ที่มีข่าว ครูทุบหลัง เด็กหญิงวัย 6 ขวบ และขังในห้องเก็บของ เหตุการณ์นี้ถึงกับสร้างความสะเทือนใจ และความหวาดกลัว จนทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2567 ได้มีคุณแม่ท่านหนึ่ง นามว่า น.ส.สุนิษา ออกมาร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 น้องแป้ง ลูกสาวของตน ในวัย 6 ขวบ ชั้น ป.1 ถูกครูสาว อายุ 32 ปี ทำร้ายร่างกายโดยใช้มือทุบหลัง และนำเด็กไปขังในห้องเก็บของ ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.อุทัยธานี จนกระทั่งกลับถึงบ้าน เด็กหญิงได้ร้องไห้ด้วยอาการหวาดผวา และ เล่าให้แม่ฟังว่าถูก ครูทุบหลัง และขังในห้องเก็บของ
จนกระทั่ง วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา น.ส.สุนิษา ได้เดินทางไปพบกับรอง ผอ.โรงเรียน และครูสาวที่ทำร้ายลูก แต่ตัวครูสาวกลับปฏิเสธข้อกล่าวหา อ้างว่าไม่ได้ทำรุนแรงอย่างที่เด็กพูด หลังจากนั้นทาง ผอ.โรงเรียนก็ได้แจ้งมาว่าจะตักเตือนครูสาวผู้กระทำผิด ซึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยคือ บทลงโทษเพียงแค่นี้ เพียงพอแล้วหรือไม่? ทาง น.ส.สุนิษา รู้สึกไม่พอใจกับบทลงโทษที่โรงเรียนมอบให้กับครูผู้กระทำผิด จึงได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวัน เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำของครู ว่ามีความผิดจริงหรือไม่
ซึ่งทางครูสาวได้เข้าชี้แจงกับทางตำรวจโดยอ้างว่าน้องแป้งเอาแต่ร้องไห้ตั้งแต่มาถึงโรงเรียน จึงต้องการสั่งสอนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้หยุดร้องและอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ แต่สุดท้ายก็ไม่หยุดร้อง จึงพาน้องแป้งไปสงบสติอารมณ์ โดยพาไปบริเวณห้องเก็บของ
นอกจากนี้ทางด้านยายของเด็ก ได้เผยอีกว่า ตอนนี้น้องแป้งอาการน่าเป็นห่วงมาก รู้สึกกลัว และ หวาดผวาตลอดเวลา จนไม่กล้าไปโรงเรียนแล้ว ทางครอบครัวจะรู้สึกอุ่นใจขึ้นบ้างหากครูออกมาชี้แจงหรือขอโทษ เพราะ น.ส.สุนิษา ในฐานะแม่ เธอเพียงต้องการความเป็นธรรมให้กับลูก ต้องการคำขอโทษจากครู และต้องการให้ครูคนดังกล่าวถูกย้ายไปสอนที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก แต่การกระทำของครูที่เป็นถึงแม่พิมพ์ของชาติ กลับไม่ยอมรับความผิด ทำให้ชื่อเสียงของครูหลายท่านได้รับผลกระทบ
ทำอย่างไร เมื่อครูลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุ?
จากเหตุการณ์ที่เด็กหญิงถูก ครูทุบหลัง เด็กนักเรียนวัย 6 ขวบ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มเกิดความกังวลใจ ว่าลูกของตนจะพบเจอเหมือนเหตุการณ์นี้ไหม ซึ่งถ้าหากลูกน้อยได้ประสบพบเจอเรื่องดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองอย่างไรได้บ้าง มาดูกันค่ะ
1) เปิดใจรับฟังลูก
ปัญหาที่พบเจอได้บ่อยคือเมื่อเด็กถูกทำร้าย มักจะรู้สึกกลัวไม่กล้าบอกใครรู้ สาเหตุมาจากการถูกขู่ ยิ่งถ้าหากคนที่รังแกเป็นคุณครูด้วยแล้ว ก็จะทำให้เด็กรู้สึกสับสนว่าควรทำอย่างไร เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรรับฟังปัญหาลูกน้อยอย่างเปิดใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นที่พึ่งพาได้และพร้อมที่จะช่วยลูกแก้ปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ อาจลองเริ่มจากพูดคุยถึงเรื่องที่ลูกพบเจอในแต่ละวันให้เป็นกิจวัตร เช่น วันนี้ไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรอยากเล่าให้พ่อกับแม่ฟังไหม ครูและเพื่อนเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น
2) หาสาเหตุของการที่ครูทำร้ายเด็ก
เมื่อได้รับรู้เรื่องราวจากลูกแล้ว ลองนึกถึงปัญหาที่ทำให้ลูกโดนครูทำร้ายมาจากอะไรได้บ้าง ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ อาจเป็นไปได้ว่าตัวคุณครูเองที่อารมณ์ร้อน หรือความไม่เข้าใจกันระหว่างตัวครูและเด็กทำให้เกิดปัญหา เพราะหากเรารู้ถึงสาเหตุแล้ว จะทำให้คุณพ่อคุณแม่จะสามารถรับมือกับปัญหาของลูกได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
3) พูดคุยกับครู
หากทราบถึงปัญหาที่ไม่เป็นธรรมกับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย ควรหาโอกาสคุยกับคุณครูที่ทำร้ายลูกของเราโดยตรง แต่ถ้าหากไม่สามารถพูดคุยได้ให้ลองคุยกับคุณครูท่านอื่นดู เพื่อที่อาจจะช่วยสอดส่องดูแลลูกเราอีกแรง แต่ถ้าหากยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งฝ่ายบริหารของโรงเรียนหรือทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำการตรวจสอบ และหาความจริง
4) พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก
หากปัญหานี้ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาด้านอารมณ์และความรู้สึกหลังโดนครูรังแก ซึ่งปัญหาความรู้สึกเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง จึงควรรีบหาตัวช่วยด้วยการพาไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ช่วยประเมินสภาพจิตใจและรับการช่วยเหลือ เพราะการรักษาจิตใจของลูกน้อยตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าปล่อยให้ปัญหานี้กลายเป็นปมในใจลูกน้อยไปจนถึงตอนโต
บทความที่เกี่ยวข้อง : พาลูกพบจิตแพทย์เด็ก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไปได้สบายหายห่วง
การลงโทษเด็กนักเรียนในไทย มีอะไรบ้าง
แม้จะมีกฎกระทรวงออกมาในปี 2548 โดยการห้ามตีนักเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย
- การว่ากล่าวตักเตือน
- ทำทัณฑ์บน
- ตัดคะแนนความประพฤติ
- ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ โรงเรียนยังใช้วิธีลงโทษด้วยความรุนแรงอยู่ โดยที่ครูส่วนใหญ่ก็ได้ทราบถึงกฎกระทรวงแต่ครึ่งหนึ่งคิดว่ากฎข้อนี้ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ นอกจากนี้ ครูจำนวนมากยอมรับว่า ไม่รู้วิธีอื่นที่จะจัดการพฤติกรรมนักเรียนและมองว่าการลงโทษที่มาจากความหวังดีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และยังจำเป็นต่อการควบคุมเด็กในชั้นเรียน เพราะการลงโทษไปในทางนี้สามารถเห็นผลได้ในทันที
จากเหตุการณ์ที่ ครูทุบหลัง เด็ก และ ขังไว้ในห้องเก็บของนั้น เป็นเหมือนบททดสอบความรับผิดชอบของโรงเรียน ระบบการศึกษา และทดสอบความเป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตัวเด็ก คือ การที่มีพ่อแม่ พร้อมรับฟังทุกปัญหาอยู่เสมอ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
10 เหตุผล ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่มีลูกคนเดียว พร้อมเคล็ดลับการเลี้ยงลูก
ดราม่ากีฬาสี! โรงเรียนจับเด็กแก้ผ้า แข่งใส่เสื้อผ้า ผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก!
อย่าปล่อยให้ลูกของคุณตกเป็นเหยื่อ: แนวทางป้องกันเด็กถูก คุกคามทางเพศ ออนไลน์
ที่มา : khaosod.co.th, baby kapook.com, story motherhood