เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการพยากรณ์ 5 โรคติดต่อ ที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดในปี 2567 ภายหลังจากการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2566 ซึ่งสถานการณ์ของโรคติดต่อและการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มระบาดในปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วง เด็กเล็ก ผู้สูงวัย และคนท้องต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
5 โรคติดต่อ ที่มีแนวโน้มระบาดปี 2567 เด็กเล็ก-คนท้องต้องระวัง!
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เผยสถานการณ์ของโรคติดต่อและการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดในปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. โรคติดต่อทางเดินหายใจ
- โรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการป้องกันที่เน้นกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความเสี่ยงของปอดอักเสบที่รุนแรง ซึ่งจะมีการฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง 608 และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อมีอาการป่วย หากผลเป็นบวกต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดกับเด็กเล็กและกลุ่มเสี่ยง 608
- โรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนประจำปีเพื่อลดการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงของปอดอักเสบ โดยขยายฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก ตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 5 ปี หากมีไข้สูง หรือมีอาการหอบเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย หรือใกล้ชิดกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคติดต่อที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
2. โรคติดต่อที่นำโดยแมลง
- โรคไข้เลือดออก โรคไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา โดยทั้งสามโรคนี้ มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยให้ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและรับการวินิจฉัยทั้ง 3 โรคนี้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาทากันยุง และแนะนำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างต่อเนื่อง หากสงสัยว่ามีอาการไข้เลือดออก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ให้รีบไปพบแพทย์ และงดรับประทานยา NSAID เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แม่ท้องอาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงต่อลูกในครรภ์ จึงต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพื่อลดความเสี่ยง
นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังให้เฝ้าระวังและให้คำแนะนำในการป้องกันโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เอชไอวี เอดส์ โรคฝีดาษวานร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงอาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากสงสัยว่าป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งในปัจจุบันมียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีความบกพร่อง ขณะที่โรคหัดยังต้องน่าจับตาเป็นพิเศษ คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลานด้วย
ขณะที่สถานการณ์ของโรคไอกรนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พบผู้ป่วยรวมแล้ว 229 ราย ซึ่งจะมีมาตรการเร่งรัดให้ฉีดวัคซีนไอกรนในเด็กอายุ 2 เดือน จนถึงต่ำกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน รวมถึงแม่ท้องที่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไปยังลูกในครรภ์ จะทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนก่อนถึงระยะเวลารับวัคซีน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไอกรนในเด็ก ทำให้ปอดอักเสบ อันตรายถึงชีวิต พ่อแม่ต้องระวัง!
วิธีสังเกตอาการ 5 โรคติดต่อ
เพราะเด็กเล็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง จึงอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย และอาจมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ รวมถึงแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ด้วย เรามาดูวิธีสังเกตอาการของ 5 โรคติดต่อที่อาจเป็นอันตรายในเด็กเล็ก ผู้ป่วย และคนท้อง
1. โรคโควิด-19
อาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการไอ มีไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ บางคนอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อยจากการติด โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือปอดอักเสบติดเชื้อ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. โรคไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูก มีไข้ แต่อาการของไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่า คือ มีไข้สูงมาก ไอ จาม เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งอาการป่วยที่พบจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย อายุ และโรคประจำตัวด้วย
3. โรคไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เบื่ออาหาร อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดง ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออุจจาระมีเลือดปน บางรายอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หลังจากมีไข้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อก มีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง และความดันโลหิตต่ำจนวัดชีพจรไม่ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไข้เลือดออก คืออะไร มีอาการอะไรบ้าง เป็นภัยร้ายหน้าฝนที่ควรระวัง!!
4. โรคไวรัสซิกา
อาการของโรคไวรัสซิกา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้เล็กน้อยประมาณ 2-7 วัน แต่ไม่มีอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นแดงตามแขน ขา และลำตัว มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
5. โรคชิคุนกุนยา
อาการของโรคชิคุนกุนยา จะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และจะมีอาการไข้เพียง 2 วันเท่านั้น หลังจากนั้นมีอาการปวดข้อ เมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามแขน ขา หรือทั่วร่างกาย ตาแดง ปวดศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ท้องเสีย และรับประทานอาหารไม่ได้
5 โรคติดต่อ เหล่านี้ ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคเหล่านี้อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หากลูกมีอาการผิดปกติ อย่ารอช้า ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรให้ไม่ติดโรค?
5 โรคที่มากับฝน สังเกตลูกมีอาการแบบนี้ไหม พร้อมวิธีป้องกันโรคติดต่อฤดูฝน
วิธีป้องกันเด็กติดเชื้อ วิธีป้องกันเชื้อโรค หากจำเป็นต้องเดินทางช่วงที่มีโรคระบาด
ที่มา : hfocus.org, infoquest.co.th