การพาลูกออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูเมนูอาหารให้ดี เพราะอาจมีสารปนเปื้อนที่ทำให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้ อย่างเช่นในกรณีนี้ที่ แม่พาลูกไปกินอาหารทะเล ที่ร้านอาหารในตลาดใกล้บ้าน เมื่อกินไปได้สักพัก ลูกมีอาการตาลอย พูดจาไม่รู้เรื่อง เหมือนจะหมดสติ ต้องรีบนำตัวไปส่งโรงพยาบาล ภายหลังคุณหมอตรวจพบว่า เกิดจากการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินที่มาพร้อมกับอาหารที่กินเข้าไป
เตือนภัย! แม่พาลูกไปกินอาหารทะเล สักพักต้องรีบส่งโรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ใช้ TikTok ชื่อบัญชี @mommyyoboh ได้โพสต์คลิปแชร์ประสบการณ์ที่พาลูกออกไปกินอาหารทะเล โดยเป็นวินาทีที่คุณแม่กำลังซักถามอาการจากลูกสาววัย 9 ขวบ ที่พึ่งรับประทานอาหารทะเลเมนูแซลมอน และกุ้งเผา ไปได้ไม่กี่คำเท่านั้น และใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาที ก็มีอาการมองเห็นภาพม่วง ๆ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่มีแรง เหมือนจะวูบ รวมถึงใบหน้าก็มีเหงื่อออกจำนวนมาก
โดยคุณแม่เจ้าของคลิปดังกล่าวได้โพสต์คลิปพร้อมกล่าวในคลิปว่า “ก่อนพาลูกไปกินข้าวที่ไหนเช็กให้ดี ไม่งั้นลูกคุณอาจจะเป็นแบบลูกฉัน เพราะว่าล่าสุดพาลูกไปกินอาหารทะเล จู่ ๆ น้องก็มีอาการแน่นิ่งไปเหมือนหมดสติ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่นาที ไม่มีอาการอะไรเลย คอพับตลอดเวลาจนต้องคอยตบหน้าไม่ให้หลับ ลูกมีอาการตาลอยพูดจาไม่รู้เรื่อง ตัวเย็น ปากซีด เหงื่อแตก เหมือนโดนพิษอะไรสักอย่าง ข่าวก็ออกบ่อยแต่ไม่คิดว่าจะโดนกับตัว เกิดขึ้นในเด็กเวลามีพิษก็แสดงอาการเลย
ลูกบอกว่าเห็นภาพเป็นสีม่วง แล้วเราเป็นผู้บริโภค ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน แล้วถ้าสารพิษมันรุนแรงจะทำยังไง และสิ่งที่ฉันคิดมันไม่เกินจริง เพราะว่าหมอบอกว่าลูกอาจจะพบสารเคมีบางอย่าง เช่น ฟอร์มาลิน บางทีมันปนเปื้อนโดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งกินยิ่งอร่อยล่ะตัวดี ถ้าชอบกินอาหารทะเลต้องระวัง”
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไร ถ้าลูกแพ้อาหารทะเล แล้วทารกหัดกินอาหารทะเลก่อน 1 ขวบได้ไหม
หลังจากที่คลิปนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้ามารับชมคลิปกว่า 4.5 ล้านวิว พร้อมกับเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก เช่น “ฟอร์มาลินฉ่ำค่ะในอาหารทะเล” “ร้านควรแก้ไขนะคะแบบนี้” “หลาย ๆ คนแพ้อาหารทะเลครับ ผมก็เป็นครับ ต้องกินยาแก้แพ้เวลากินกุ้ง” “ได้เก็บอาหารบนโต๊ะ ใส่ถุง ไปตรวจหรือเปล่าครับ” “เห็นภาพม่วง ๆ เนี่ย เราเคยเป็นตอนเจ็บท้องหนักมา ช็อกและหมดสติ ภาพม่วงมาเต็มและวูบสลบไปเลย” “เคยกินปลาทะเลแล้วเจอเหมือนกันค่ะ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ตาบวม” เป็นต้น
ภายหลังคุณแม่เจ้าของเรื่อง ก็ได้ออกมาโพสต์คลิปอีกครั้ง เป็นการเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังสารพิษจากอาหารทะเล โดยคุณแม่ได้เล่าว่า “หลังจากที่ลูกมีนเข้าโรงพยาบาล เพราะว่าน็อกอาหารทะเล มีนก็เลยต้องไปหาดูว่าในอาหารทะเลมีสารพิษอะไรบ้าง หลัก ๆ ที่เจอเลยคือ ฟอร์มาลิน ซึ่งฟอร์มาลินมันไว้แช่ศพอะ แล้วคือเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าร้านอาหารทะเล เขาเป็นคนใส่มา หรือว่าต้นสายปลายสายใส่มา เราไม่มีทางรู้ได้เลย
น้องเลือดกำเดาไหลตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ และก็มีผมร่วง อันนี้มีนไม่แน่ใจว่าเป็นผลข้างเคียงหรือว่าเป็นผลมาจากที่น้องโดนสารพิษโดนฟอร์มาลินก็ไม่รู้ เพราะว่าเลือดกำเดาน้องไหลตั้งแต่เช้าเลย ตอนนี้คือไหลแบบถี่มาก 7-10 ครั้งต่อวันเลย บางคนเอาฟอร์มาลินมาใช้ในทางที่ผิด เอามาแช่ในอาหารทะเลเพื่อดึงดูดให้น่ากิน ให้ดูสด ดูใหม่”
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การตั้งคำถามของผู้บริโภคว่าทำไมจึงมีการใช้สารฟอร์มาลินกับอาหาร ถึงแม้ว่ากฎหมายจะห้ามไม่ให้นำมาใช้กับอาหาร แต่ร้านค้าบางรายก็นำมาใช้ได้ โดยเฉพาะในอาหารทะเล หมู และผักสดต่าง ๆ ก็ใช้สารนี้เพื่อให้วัตถุดิบมีความสดใหม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องแพ้อาหารทะเล แพ้กุ้ง ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?
ฟอร์มาลิน คืออะไร
ฟอร์มาลิน เป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากกระบวนการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยังมีในรูปแบบของสารเคมี โดยมีลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน เรียกว่า สารฟอร์มาลดีไฮด์ และมีเมทานอลปะปนอยู่ด้วย โดยทั่วไปมักใช้ในด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์ โดยใช้ในการรักษาศพไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย และยังใช้เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรค ด้วยคุณสมบัติของฟอร์มาลิน ทำให้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อให้คงความสดใหม่ ยาวนาน และดึงดูดให้น่ารับประทาน
ฟอร์มาลินอันตรายอย่างไร
ผู้ที่ได้รับสารฟอร์มาลินจากการสูดดมหรือจากไอระเหย อาจมีอาการระคายเคืองทางผิวหนัง แสบปาก คอ และจมูก หากสูดดมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอักเสบของปอดหรือหลอดลม ในทางการแพทย์ฟอร์มาลินถือเป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งในโพรงจมูก คอ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในกรณีที่ได้รับสารฟอร์มาลินผ่านการรับประทาน อาจมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งหากรับสารฟอร์มาลินในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง : สารปนเปื้อนในอาหาร! ที่คุณแม่ต้องระวัง อย่าเผลอให้ลูกน้อยกิน!
วิธีป้องกันสารฟอร์มาลินในอาหาร
อาหารสดต่าง ๆ เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งผักสดที่จำหน่ายในตลาด ไม่สามารถบอกได้ว่ามีสารฟอร์มาลินปนเปื้อนหรือเปล่า ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตและรู้จักวิธีการป้องกันสารปนเปื้อนในอาหาร ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พยายามสังเกตและดมกลิ่น หากมีสารฟอร์มาลินปนเปื้อน จะมีกลิ่นฉุนไปจากเดิม เช่น อาหารทะเลจะมีกลิ่นที่เปลี่ยนไปและมีกลิ่นคาวน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการเลือกอาหารที่มีเนื้อสัมผัสต่างจากเดิม เช่น เนื้อหมูจะมีความหยุ่น ไม่นุ่มเหมือนทั่วไป
- ก่อนทำอาหาร ควรล้างทำความสะอาดวัตถุดิบโดยใช้วิธีให้น้ำไหลผ่านมาก ๆ
- ล้างวัตถุดิบด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ นำไปแช่สารละลายด่างทับทิมที่เจือจาง แล้วล้างอีกครั้งหลังจากแช่สารละลายด่างเจือทับทิมด้วย
- เน้นการปรุงอาหารด้วยความร้อนที่สูง เพื่อช่วยลดปริมาณสารฟอร์มาลินที่ตกค้างในอาหาร
โดยปกติแล้ว สารฟอร์มาลินส่วนใหญ่ มักจะพบเจอในอาหารทะเล เนื่องจากอาหารเหล่านี้เน่าเสียได้เร็ว ดังนั้น หากจะรับประทานอาหารประเภทนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและตรวจสอบอย่างละเอียด และควรทำความสะอาดให้ดีก่อนจะนำมาปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคนในครอบครัว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กเล็กกินกุ้งได้ไหม อาหารทะเลชนิดนี้เด็กรับประทานได้ตอนอายุเท่าไหร่?
เด็กเล็กกินอาหารทะเลได้ตอนกี่เดือน วิธีให้ลูกเริ่มทานอาหารทะเลอย่างถูกวิธี
แพ้อาหารทะเล ทาน ยาแก้แพ้อาหารทะเล ป้องกันได้หรือเปล่า หรือรักษาแบบไหน
ที่มา : mommyyoboh, news.ch7.com, today.line.me, rama.mahidol.ac.th