จากกรณีที่คุณแม่ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ขอคำปรึกษาในกลุ่มห้องนั่งเล่นพ่อแม่ ตั้งกฎให้ลูกทำงานบ้านเอง เพราะอยากให้ลูกรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง งานนี้คุณแม่หลายคนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย พร้อมให้แนวทางในการเลี้ยงลูกให้แก่คุณแม่เจ้าของเรื่อง
คุณแม่ขอคำปรึกษา แบบนี้ใจร้ายไปไหม ตั้งกฎให้ลูกทำงานบ้านเอง
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คุณแม่ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กกลุ่มห้องนั่งเล่นพ่อแม่ เพื่อขอคำปรึกษาจากคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่ม โดยได้ระบุว่า
“ขอความเห็นหน่อยค่ะ เราเป็นแม่ที่ใจร้ายไปไหมคะ ถ้าเราจะตั้งกฎแบบนี้ให้กับลูกเรา คือลูกสาวเราอายุ 12 ปี เรามอบหน้าที่ให้เค้าล้างขวดนมน้อง รีดผ้า พับผ้าตัวเอง เก็บผ้าทุกคน (แต่แม่เป็นคนซัก) กวาดถูบ้าน อาทิตย์ละ 1 ครั้ง (จำนวน 2 ห้อง คือห้องโถงกับห้องลูกสาวเอง) แต่ลูกสาวเราติดไอแพดมาก เล่นจนไม่รู้เวลาเราเคยบอกว่าให้ทำอะไรให้เสร็จก่อนสองทุ่ม แล้วหลังจากนั้นจะเล่นแม่ก็ไม่ว่า แต่ทุกวันนี้แม่ต้องคอยบอกให้ทำตลอด เพราะมัวแต่นั่งเล่นไอแพด คือแม่รู้สึกเหนื่อยใจที่ต้องคอยบอกคอยเตือน
เราควรทำยังไงดีค่ะ บ่นมากก็กลัวลูกรำคาญ แต่ถ้าไม่บ่นก็ไม่ค่อยจะทำต้องคอยบอก หรือถ้าลูกไม่ทำเราควรเฉย เราเคยบอกถ้าผลการเรียนตกเราจะให้เล่นไอแพดเป็นเวลา แต่ถ้าเค้ารู้จักรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองโดยแม่ไม่ต้องบอกแม่ก็จะไม่บังคับเรื่องเล่นไอแพด เพราะเรื่องเรียนเราไม่เคยคาดหวังต้องเรียนได้เกรดสูง ๆ ไม่เคยบังคับให้เรียนพิเศษ ไม่เคยให้ไปแข่งกับใคร ขอแค่คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 75%
คือแม่หวังแค่ให้ลูกไม่ต้องเรียนเก่งมากก็ได้ แต่ก็ไม่ต้องแย่เกินไปกลาง ๆ ก็พอ และให้รู้หน้าที่และรับผิดชอบตัวเองโดยที่เราไม่ต้องมาคอยบอกเพราะคิดว่าเค้าก็โตแล้ว น่าจะดูแลตัวเองได้ส่วนหนึ่งและช่วยแบ่งเบาภาระแม่บ้าง เพราะแม่ก็มีน้องอายุ 3 ขวบ ซึ่งติดแม่และก็ซนมาก
อยากฟังความเห็นแนวทางของพ่อ ๆ แม่ ๆ ในการเลี้ยงลูกในวัยนี้ค่ะ”
ซึ่งในโพสต์มีรูปภาพประกอบที่เป็นกฎที่คุณแม่ได้ตั้งเอาไว้ให้กับลูกสาววัย 12 ปี โดยปรากฏข้อความระบุว่า
- “กลับมาจากบ้านย่าเอาโทรศัพท์กับไอแพดมาไว้ที่แม่ทำอะไรให้เรียบร้อย กินข้าว ทำการบ้าน จัดตารางสอน รีดผ้า ล้างขวดนม อาบน้ำ ถึงจะเล่นโทรศัพท์ได้ ทำเสร็จเร็วก็ได้เล่นเร็ว ทำเสร็จช้าก็ไม่ต้องเล่น
- เล่นไม่เกินสามทุ่มครึ่ง นอน
- วันหยุดกวาดบ้านถูบ้าน อาบน้ำไม่เกิน 3 โมงเช้า
- เก็บผ้าไม่ต้องให้บอก ควรรู้เวลาเองได้แล้ว
ไม่อยากโดนบ่น โดนว่า ทำหน้าที่ของตัวเอง รับผิดชอบตามเวลา อายุ 12 มีหน้าที่รับผิดชอบแค่นี้เอง ทำให้ได้ อย่าเอื่อยระเหยจะกลายเป็นคนขี้เกียจและไม่มีความรับผิดชอบ
ความจริงจำทำตารางตั้งแต่ผลการเรียนออก แต่ก็ยอมปล่อย ลองดูพฤติกรรม แต่ก็เหมือนเดิม เล่นแต่ไอแพด หน้าที่รับผิดชอบตัวเองแค่นี้ลองทำดูให้ได้ก่อนนะ โตขึ้นต้องรับผิดชอบอะไรอีกเยอะแยะ แค่นี้บังคับตัวเองไม่ได้ โตไปก็กลายเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ”
ขณะที่คุณแม่ท่านอื่นก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย เพื่อให้คุณแม่เจ้าของเรื่องได้นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงลูก อาทิ
“แค่นี้ ไม่เยอะไปหรอกค่ะ แต่ให้ทำเฉพาะส่วนของเค้า รับผิดชอบหน้าที่ของเค้าพอค่ะ แต่แม่อาจจะใช้โทนที่ซอฟท์ลงหน่อยมั้ยค่ะ อ่านดูเหมือนกำลังโดนบ่น โดนดุอยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ ตัวอย่างคร่าว ๆ นะคะ
- กลับจากบ้านย่า แม่อยากให้ลูก เอาโทรศัพท์และไอแพดมาไว้กับแม่ และลูกทำหน้าที่ลูก คือ…. เสร็จแล้วลูกค่อยมาเอาโทรศัพท์คืนนะคะ
- แม่อนุญาตให้เล่นโทรศัพท์ได้ถึงแค่ 21.30 หลังจากนี้ เป็นเวลานอนค่ะ
- วันหยุด แม่อยากให้ลูกช่วยกวาดบ้าน และถูบ้าน และจัดการตัวเองให้เสร็จก่อน 9.00
- ดูเวลาผ้าแห้ง ช่วยแม่เก็บผ้าด้วยค่ะ
แม่ควรทำข้อตกลงกับน้องให้เป็นกิจจะลักษณะ ไปเลยค่ะ บอกเหตุผลน้อง (ไม่ใช่เชิงติเตียน) และตกลงถึงผลของการไม่ทำตามข้อตกลงค่ะ
เช่น ใน ข้อ 1 ถ้าไม่ทำเสร็จ แม่ก็จะไม่คืนไอแพดให้ รวมไปถึงข้อ 2. ทำเสร็จเร็ว ก็ได้เล่นไอแพดนานขึ้น ประมาณนี้ค่ะ ที่สำคัญแม่ควรให้คำชม ให้คุณค่าในสิ่งที่ลูกทำด้วยนะคะ ถ้าลูกทำไม่สะอาด ชมก่อน ขอบคุณลูกก่อน แล้วค่อย ๆ สอนวิธีค่ะ
ตัวเราเองลูกยังแค่ ไม่ถึง 5 ขวบ แต่เรานึกถึงตัวเองเวลาเป็นเด็ก ถ้าแม่พูดกับเราแบบนี้ เราจะต่อต้านทันทีเลยค่ะ”
“สาระสำคัญมีแค่ 4 ประโยคค่ะ
- กลับบ้าน ทำหน้าที่ตัวเองให้เรียบร้อย
- เล่นipadได้ไม่เกินสามทุ่มครึ่ง
- วันหยุดกวาดบ้านถูบ้านด้วย อาบน้ำไม่เกิน 3 โมงเช้า (อันนี้สงสัยทำไมต้องกำนดเวลาคะ)
- เก็บผ้าเอง
แค่นี้เลย นอกนั้นบ่นล้วน ๆ แม่ทำให้สั้นกระชับค่ะ พอเอามารวมกัน ขนาดเราฟังยังจับประเด็นไม่ได้เลยว่าแม่ตัองการอะไร ตัองการบ่นหรือต้องการให้น้องทำงาน ถ้าจะบ่น ก็บ่นล้วน ๆ ถ้าจะสั่งก็สั่งล้วน ๆ ค่ะ อย่าเอามาปนกัน มันงงไปหมด”
“ขออนุญาตนะคะ รับผิดชอบของส่วนน้องพอแล้วค่ะ ไม่ต้องล้างขวดนมน้อง พี่ช่วยเลี้ยงน้องไหมคะ ให้พี่ช่วยดูน้อง จะได้สานสัมพันธ์พี่น้อง แทนล้างขวดนมเถอะค่ะ”
ด้านคุณแม่เจ้าของเรื่องก็ได้ตอบคอมเมนต์ของเหล่าคุณแม่ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยได้โพสต์ขอบคุณที่ให้แนวทางเลี้ยงลูก และบอกว่าจะปรับปรุงตัวเองและเด็ดขาดกว่านี้ ทำเอาคุณแม่ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจ พร้อมบอกให้คุณแม่เจ้าของเรื่องพูดคุยกับลูกสาวอย่างมีเหตุผล
เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ควรสอนลูกทำงานบ้าน
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกทำงานบ้านได้ตั้งแต่วัยที่เริ่มเดิน หรือประมาณ 2 ขวบ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเรียนรู้ การทำงานบ้านจะช่วยเสริมพัฒนาการเด็กได้เป็นอย่างดี โดยควรเริ่มจากเก็บของเล่นหรือเก็บที่นอนให้เข้าที่ อาจหาไม้กวาดเล็ก ๆ ให้ลูก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลูกถือที่โกยผง หรือนำของเล่นมาใส่ในตะกร้า เมื่อลูกทำเสร็จแล้วก็ควรให้กำลังใจและอย่าลืมชมเชยลูกบ่อย ๆ
เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น โดยอาจฝึกทำงานบ้านตามเวลาที่กำหนด เช่น จัดโต๊ะอาหาร ช่วยทำอาหารง่าย ๆ พับผ้า เก็บที่นอน หรือแยกประเภทเสื้อผ้า พอลูกเข้าสู่วัยเรียนก็ปรับให้เป็นงานบ้านที่ยากขึ้น เช่น แยกขยะ ดูแลสัตว์เลี้ยง และดูแลสวน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสอนงานบ้านให้ลูกทีละอย่าง เริ่มจากงานง่าย ๆ และให้ลูกทำงานบ้านซ้ำ ๆ จนกว่าจะน่าพอใจ วิธีนี้จะเป็นการเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านดียังไง? มาดู ประโยชน์ของการช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
5 แนวทางการเลี้ยงลูกวัยรุ่น
การเลี้ยงลูกช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ลำบากใจ คงเป็นการเลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างแน่นอน เพราะเด็กวัยนี้ถือเป็นวัยที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงมาก และใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เรามาดูแนวทางการเลี้ยงลูกวัยรุ่นที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้น
1. เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น
ก่อนอื่นเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในเด็กวัยนี้ เช่น อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ความวิตกกังวล ความต้องการเป็นอิสระ อยากรู้อยากเห็น ความต้องการความและการยอมรับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของวัยรุ่น บางครั้งลูกอาจไม่รู้ตัวด้วย เพราะสิ่งที่เขาต้องการเกิดขึ้นตามพัฒนาการตามวัยและร่างกายนั่นเอง
2. เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก
การให้ความส่วนตัวกับเด็กวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กวัยนี้ต้องการพื้นที่ส่วนตัว และอยากอยู่กับตัวเองและเพื่อน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของเขา โดยอาจตั้งกฎ กติกากับลูก ว่าช่วงนี้เป็นเวลาของเขา พ่อแม่จะไม่เข้าไปยุ่ง แต่ก็ต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง
เด็กบางคนอาจมีโซเชียลของตัวเอง บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องสังเกตอยู่อย่างห่าง ๆ ไม่เข้าไปรบกวนลูก แต่ก็ต้องไม่ละเลย ส่วนในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่จะโพสต์เรื่องราว รูป คลิป ของลูกลงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็อย่าลืมคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย
3. แบ่งเวลาให้กับลูก
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะงานยุ่งแค่ไหน แต่อย่าลืมว่าลูกวัยรุ่นก็ต้องการเวลาจากคุณเช่นกัน เพราะบางครั้งการให้เวลาแก่เขา ก็จะช่วยให้ลูกเปิดใจได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่าลูกไม่อยากจะคุยด้วย เอาแต่เล่นเกม แต่จริง ๆ แล้ว นั่นอาจเกิดจากการที่คุณไม่มีเวลาให้เขามากพอ ดังนั้น จึงควรให้เวลาแก่ลูกเพื่อพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ลูกแก้ปัญหาอยู่คนเดียว ต้องให้คำปรึกษาแก้เขาด้วย ที่สำคัญอย่าลืมออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าง วิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกวัยนี้ได้ดีมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีสร้างวินัยให้ลูกน้อย เคล็ดลับการสอนลูก ให้รู้จักการแบ่งเวลาเรียนและเล่นได้ดี
4. รับฟังลูก
อย่างหนึ่งที่ลูกวัยรุ่นไม่ชอบ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ขี้บ่น อย่าลืมว่าการสื่อสารที่ดีต้องมีทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ในความจริงแล้วลูกอาจอยากให้คุณได้ฟังเขา ไม่ใช่เอาแต่สอนและบ่น หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะสอนลูก ก็ควรรับฟังก่อนและทิ้งอคติไว้ในใจ ไม่โต้แย้งใด ๆ รอเวลาที่ลูกถามเรา จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยให้ความคิดเห็น โดยอาจพูดว่า “แม่คิดว่าแบบนี้จะดีไหม” อย่าพยายามหรือบังคับเขามาก ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการที่คุณบ่นเหมือนเดิม
5. เชื่อใจในตัวลูก
สิ่งสุดท้ายที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกวัยรุ่นมากขึ้น คือการไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ว่าลูกจะได้รับผิดชอบอะไรก็ตาม หรือคุณพ่อคุณแม่มอบหมายให้เขา ก็ให้เขาลองทำก่อน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกได้ลองก่อน เพื่อให้รู้สึกมั่นใจ หากไม่สำเร็จ ก็ต้องหาแนวทางการเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น ความเชื่อใจจะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณรักและคาดหวังในตัวเขา
เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือการทำความเข้าใจกับธรรมชาติ และคอยอยู่เคียงข้างเขา เพราะเด็กวัยนี้จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนกับตอนเด็ก ๆ หากลูกผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้ ก็จะก้าวสู่โลกของผู้ใหญ่ที่ดีได้นั่นเอง ดังนั้น พยายามพูดคุยและให้กำลังใจลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกผ่านช่วงเวลาที่ยากนี้ไปได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
Do & Don’t เมื่อ ลูกติดไอแพด ควรจัดการยังไงดี ?
ปัญหาวัยรุ่นเมื่อลูก “อารมณ์ร้อน เจ้าอารมณ์” ทำอย่างไรดี ?
วิธีสร้างวินัยให้กับลูก ง่าย ๆ ด้วยงานบ้าน สร้างวินัยแถมเสริมความมั่นใจอีกด้วย
ที่มา : cleanipedia.com, starfishlabz.com