เว็บไซต์ต่างประเทศ มีรายงานว่า เด็กหญิงเซียวหยวน (นามสมมุติ) เด็ก 7 ขวบ จู่ ๆ มองเห็นไม่ชัด ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เมื่อเดือนก่อน คุณพ่อคุณแม่จึงได้พาไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่แพทย์ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า สายตาลูกสาวปกติดี และแนะนำให้พาลูกสาวไปพบจิตแพทย์ จนในที่สุดก็พบสาเหตุของอาการดังกล่าว ว่ามีที่มาจากการที่ครอบครัวให้ความสนใจกับน้องชายที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน
ทางจิตแพทย์ ระบุเอาไว้ว่า เสี่ยวหยวนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หลังจากเธอได้เห็นเพื่อนร่วมชั้นที่มีภาวะสายตาสั้น เธอจึงเริ่มคิดว่าอยากจะทำให้พ่อแม่สนใจด้วยการนี้บ้าง เลยเป็นที่มาของอาการกลุ่มโรคทางจิตเวชที่แสดงอาการคล้ายกับโรคทางกาย ซึ่งจะมีอาการผิดปกติของการทำงานหรือการรับความรู้สึกของร่างกาย แต่ความจริงมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใต้การควบคุมของจิตใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสี่ยวหยวนได้รับการบำบัด และได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์แล้ว สายตาของเธอก็ดีขึ้นเช่นเดียวกับสภาพจิตใจ แพทย์เตือนผู้ปกครองให้ใส่ใจสภาพจิตใจของเด็กให้มากขึ้นด้วย โดยพบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นในเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก “separation conversion disorder” ซึ่งในแง่ของการรักษาจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าอาการดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และจำเป็นต้องแจ้งผู้ป่วยว่าผลการตรวจเป็นปกติแล้วในเวลาที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ หลังจากบทความ เด็ก 7 ขวบ จู่ ๆ มองเห็นไม่ชัด ได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้มีชาวเน็ตหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “พ่อแม่ส่วนใหญ่คนเป็นแบบนี้ พอมีลูกคนที่สองก็ไม่ได้ให้ความสนใจลูกคนแรกเท่าไร” “โลกของเด็กมันเล็ก พอโตขึ้นพวกเขาก็จะคลายความกดดันได้เอง เมื่อต้องเจอปัญหา” “ถ้าเกิดพ่อแม่มองไม่เห็นหนู หนูก็จะมองไม่เห็นโลกทั้งใบ” เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อแม่ไม่ดูแลเอาใจใส่ลูก เลวร้ายกว่าพ่อแม่ชอบตามใจ
5 โรคสำคัญทางจิตเวช ที่ควรรู้ !
1. โรคแพนิก
โรคแพนิกคือโรคตื่นตระหนก ซึ่งเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการทำงานไวต่อสิ่งกระตุ้น จนทำให้เกิดอาการแพนิก เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ หรือบางครั้งเหมือนจะถึงชีวิต โดยการเกิดครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว เช่น การเกิดขึ้นตอนกำลังจะขับรถขึ้นทางด่วน เป็นต้น เมื่อเคยเกิดขึ้นครั้งที่ 1 มักมีครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตามมาอยู่เรื่อย ๆ และอาการแพนิกแต่ละครั้งจะเป็น 10-20 นาที และเมื่อหายก็จะหายปกติเลย
อาการของโรคแพนิก
- รู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลา หรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากอาการนี้ เช่น ไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยเขาได้ หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ
2. โรคซึมเศร้า
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ รู้สึกท้อ เบื่อหน่าย มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือบางรายก็อาจจะไม่ได้รู้สึกเศร้า แต่จะเบื่อทุกอย่างรอบตัว ความสำคัญของโรคนี้คือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ดังนั้น หากรู้สึกว่ามีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
อาการของโรคซึมเศร้า
- ตกอยู่ในอารมณ์เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย
- ความคิดเปลี่ยน เริ่มมองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้ค่า หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น ชอบมองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง
- สมาธิความจำเริ่มแย่ ลืมง่าย ชอบเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง
- อาการทางร่างกาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เมื่อยตัว
3. โรคจิตเภท
ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ภาพหลอน และจะพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง ถ้าเกิดว่าเป็นนานเกิน 6 เดือน แล้วไม่รักษาตั้งแต่ต้น จะทำให้การรักษายากขึ้น และผลการรักษาจะออกมาไม่ดีเท่าไร เพราะโรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และจะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ซึ่งปัญหาของโรคนี้ ก็คือผู้ป่วยบางรายรู้สึกว่าตนเองอาการดีขึ้น มักหยุดใช้ยาจึงทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังจากที่หยุดยาไปเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน เช่น 6-7 เดือน ผู้ป่วยจะต้องเริ่มต้นรักษาใหม่ทั้งหมด
4. โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว
โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เรามักจะได้ยินชื่อนี้อยู่บ่อย ๆ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ มีลักษณะทางอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่าง ช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ ในช่วงซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง คล้าย ๆ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือน และจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง อยากทำหลายอย่าง กระฉับกระเฉง นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่จะมีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง บางครั้งพบว่าอยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เช่น อยากไปเที่ยวก็จะจัดการจองตั๋วเลยทั้งที่ยังไม่ทันลางาน และเมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลย เป็นต้น
5. โรคสมองเสื่อม
โรคนี้พบมากในคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอย เช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าวางเอาไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับตัว หรืออาจมัวคิดถึงเรื่องอื่นอยู่ในขณะที่วางกุญแจ ทำให้หลงลืม แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งโรคนี้จะมีลักษณะคือ ไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้เลย หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมาบ้าง เป็นต้น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่มีลูกคนที่สอง อย่าลืมให้ความใส่ใจลูกคนแรกด้วยนะคะ เพราะเด็ก ๆ ยังมีโลกที่ค่อนข้างแคบ ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนัก เขาจึงต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ และเพื่อเป็นการป้องกันอาการโรคทางจิตเวชในเด็กด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่เปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ เมื่อท้องลูกคนที่ 2
10 แนวทาง! เลี้ยงลูกคนโต ไม่ให้เขารู้สึกขาดความรัก ยังไงดี ?
พ่อแม่ รักลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่ลำเอียง เผลอรักลูกไม่เท่ากัน คุณเป็นแบบนี้ไหม ?
ที่มา :