กรมการแพทย์ชี้ โรคลมแดดในเด็ก ช่วงหน้าร้อนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม พร้อมแนะนำให้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดย นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า ช่วงหน้าร้อนของประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงแดดได้ จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ง่าย เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้มีความเสี่ยงถึงชีวิตได้ เช่น โรคลมแดด เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากความร้อนได้ง่าย หากปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศา ก็จะส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วยค่ะ
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคลมแดดสั้น ๆ ว่า เป็นภาวะฉุกเฉินที่อุณหภูมิของร่างกายเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดจากอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนมากและร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งค่อนข้างส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับวิธีการป้องกันในเด็ก พยายามดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง และสวมเสื้อผ้าที่มีความโปร่งสบาย ให้เลือกสีอ่อน ๆ และลดกิจกรรมที่ออกแรงเยอะเวลาที่อยู่กลางแจ้ง และที่สำคัญไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการชักหรือหมดสติได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฮีทสโตรก คนท้อง ต้องระวัง! เตือนคุณแม่ตั้งครรภ์ระวังโรคลมแดด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคลมแดดในเด็ก
- สภาพสิ่งแวดล้อม การปล่อยให้ผิวสัมผัสกับรังสีความร้อนเป็นเวลานาน เช่น เล่นกลางแจ้งท่ามกลางแดดจัด ๆ
- ปัจจัยทางด้านสรีรวิทยา ร่างกายมีความผิดปกติ สำหรับการระบายความร้อน เช่น มีภาวะขาดน้ำ หรือปริมาณสารในร่างกายไม่พอ และร่างกายระบายความร้อนได้ช้ากว่าปกติหรือได้น้อยกว่าปกติ
- ปัจจัยทางสังคม กลุ่มผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้ง หรือกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เด็ก ผู้พิการ หรือคนแก่ และไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน และไม่ถ่ายเท
- มีโรคประจำตัว อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ
กลไกการเกิดภาวะลมแดด โรคลมแดดในเด็ก
สำหรับคนปกติทั่วไปเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ร่างกายของเราก็จะตอบสนอง (thermoregulatory response) พร้อมกับมีการเต้นของหัวใจที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่มันจะได้ไปสูบฉีดเลือดสู่ผิวหนังมากขึ้นเพื่อระบายความร้อนทางเหงื่อ แต่ถ้าหากร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้ หรือยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ร่างกายยังมีอุณหภูมิสูงแบบต่อเนื่องอยู่เป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้ปริมาณเลือดที่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ลดน้อยลง จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และระบบอวัยวะภายในร่างกายก็ล้มเหลวตามไปด้วยอย่างเช่น สมอง ตับ ไต กล้ามเนื้อ และระบบเลือด
การรักษาโรคลมแดดเบื้องต้น
- การทำ CPR ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำเพื่อเตรียมการช่วยเหลือกู้ชีพ และออกซิเจน เพื่อที่จะให้ระดับออกซิเจนในเลือดสูงกว่า 90%
- พยายามลดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายให้รวดเร็ว โดยคงอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส
หรือไม่ก็เฉลี่ยอยู่ในช่วง 38 ถึง 38.5 องศาเซลเซียสค่ะ - พยายามให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้เพียงพอ
- ระมัดระวังภาวะชัก ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อสำหรับสภาพอากาศแบบนี้ และรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือหอผู้ป่วยวิกฤตทันที
การป้องกันการเกิด โรคลมแดดในเด็ก
1. ให้หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่ ที่ต้องสัมผัสกับรังสีความร้อนเป็นเวลานาน ๆ เช่น เที่ยวทะเล เป็นต้น
2. ให้พยายามอยู่ในสถานที่ ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หายใจได้ง่าย และใช้เครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเพื่อลดอุณหภูมิรอบ ๆ ไม่ให้อากาศร้อนเกินไป
3. พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน หรือเตรียมตัวในการออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี
4. ให้หลีกเลี่ยงการให้เด็ก หรือคนชราอยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะจะทำให้หายใจลำบาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีดูแลทารกหน้าร้อน แดดแรง ลูกตัวร้อน อุณหภูมิรอบตัวสูงขนาดนี้ แม่ต้องทำอย่างไร อากาศร้อนต้องห่มผ้าให้ลูกไหม
วิธีการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤต
1. ให้ดึงอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายกลับมาในระดับปกติ (Normothermia) โดยวิธีใส่สายวัดอุณหภูมิจากแกนกลางของร่างกาย
2. พยายามเฝ้าระวังภาวะชัก และการให้ยากันชักเมื่อมีอาการ และถ้าหากมีภาวะสมองบวมหรือซึมมาก (GCS<8) ให้พิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจร่วมด้วย จากนั้นให้นอนยกศีรษะสูง 45 องศา และตรวจวัด Arterial blood gas
3. ให้เจาะเลือดตรวจเช็กค่าการอักเสบของกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้ดูการทำงานของตับ ไต และระดับเกลือแร่ ว่าอยู่ในระดับที่ปกติไหม โดยการเฝ้าติดตามรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4. ให้ติดตามการทำงานของสมอง (monitor EEG)
การตากแดดของเด็ก ๆ ในช่วงนี้ถือว่าค่อนข้างอันตรายอย่างมาก ด้วยความที่ประเทศไทยมีแดดที่ค่อนข้างแรงจัด ทำร้ายผิวได้ง่าย และทำให้เด็ก ๆ ปรับร่างกายไม่ทัน นอกจากจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดอีกด้วย ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก อย่าลืมสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และอย่าลืมทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดให้เด็ก ๆ ด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องเป็นโรคลมแดด ต้องทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลคนท้องเป็นฮีทสโตรก คนท้องดูแลตัวเองในช่วงหน้าร้อน
พ่อแม่ควรรู้! วิธีป้องกันลูกจากโรคฮีทสโตรก
ทิ้งเด็กไว้ในรถเพียงครู่เดียวก็เสี่ยงเสียชีวิตจากฮีทสโตรก
ที่มา :