15 เม.ย. 2566 – ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูล โควิดสายพันธุ์ใหม่ ตามที่ศูนย์จีโนม ได้ติดตามข้อมูลจากจีเสส (GISAID) ที่รวบรวมการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก
พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 8 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอินเดีย มีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่ง คือ “T547I” แต่ทางศูนย์จีโนมฯ ยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ป่วยที่เจอในไทยมีอาการอย่างไรบ้าง
ในขณะเดียวกันนั้น ดร.วิพิน ม.วาชิษฐา (Dr. Vipin M. Vashishtha) ผู้เชี่ยวชาญในด้านภูมิคุ้มกัน ของประเทศอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สังเกตเห็นอาการ จากการติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศอินเดีย ในกลุ่มของเด็กทารกและในเด็กเล็ก พบว่าจะมีอาการไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ
โดยพบอาการเด่นคือ มีเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนองเพราะติดเชื้อไวรัส ไม่ใช่การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งไม่เคยพบอาการของลักษณะนี้ ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า อาจเป็นเพราะการกลายพันธุ์ส่วนหนาม ที่จะช่วยให้ XBB.1.16 สามารถจับกับเซลล์เยื่อบุตาได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ จนเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตาเข้าร่วมด้วย
ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลดังกล่าวศูนย์จีโนม จึงอยากให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ข้อมูล และเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรแพทย์ที่ตรวจรักษา อาจต้องสังเกตอาการเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสเพิ่มเติมด้วย แต่การแจ้งเตือนก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ยิ่งประชาชนตระหนักรู้มากเท่าไหร่ การเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ส่วนการตรวจ ATK หลังสงกรานต์ สามารถตรวจได้ตามความจำเป็น
บทความที่เกี่ยวข้อง : โควิดในหญิงตั้งครรภ์ ลูกจะเสี่ยงด้านพัฒนาการและระบบประสาทกว่าปกติถึง 2 เท่า
ป้องกันลูกรัก โควิดสายพันธุ์ใหม่ หากลูกติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร
เด็กติดโควิดมาจากไหน
การที่เด็ก ๆ จะสามารถติดโควิดได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะติดมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่อาศัยภายในบ้าน หรือคนที่เข้าออกในบ้าน ไม่ว่าติดจากการสัมผัสโดยตรง หรือติดจากการสัมผัสทางอ้อม ข้อนี้ผู้ใหญ่ภายในบ้านควรระวังเป็นพิเศษ
วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่สู่ลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด โดยหากเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ต้องล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และสระผมทุกครั้ง เพราะอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับเส้นผมของคุณพ่อคุณแม่ หากรับพัสดุ ที่กล่องพัสดุจะต้องมีการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้งที่รับมา และลดการสัมผัสกับลูกค่ะ
สังเกตหากลูกติดเชื้อโควิด
ต้องบอกว่า เป็นสิ่งที่สังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะโควิดเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจค่ะ ซึ่งสามารถทำให้เป็นหวัดก็ได้ ปอดบวมก็ได้ หรือบางคนอาจมีแค่อาการปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งทำให้บอกได้ยากว่าเป็นโควิดหรือเปล่า ซึ่งถ้าในช่วงนี้หากมีอาการหวัด ก็สามารถที่จะไปตรวจได้เลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็ก 3 เดือนก็ติดโควิดได้ ! อาการโควิดในเด็ก สังเกตยังไงดี มีสิ่งไหนที่คุณแม่ควรรู้
ทารกติดโควิด อาการรุนแรงแค่ไหน
หากเป็นเด็ก ๆ ทั่วไป ที่มีร่างกายแข็งแรง อาการในเด็กกลุ่มนี้ จะมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ยกเว้นในกรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ และในเด็กที่มีโรคประจำตัว ที่เกี่ยวข้องกับปอด หัวใจ ไต ตับ หรือโรคมะเร็งที่ต้องให้คีโม ซึ่งจะมีภูมิต้านทานที่น้อยกว่าเด็กทั่วไป
การรักษา เด็กที่โควิด เบื้องต้น
- ให้ทานยาแก้ปวด ยาลดไข้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ การเช็ดตัวก็ช่วยได้ และมักจะเป็นไม่เกิน 2-3 วัน หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ
- ให้ทานยาลดน้ำมูก เมื่อมีน้ำมูก ทานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ในส่วนของเด็กโตให้ทำการล้างจมูกร่วมด้วย
- ทานยาแก้ไอ ทานเมื่อไอ ทานยาตามอาการ พร้อมกับจิบน้ำอุ่น ๆ อยู่บ่อย ๆ
- หากลูกมีไข้สูงเกินกว่า 39 องศา หายใจหอบถี่ หายใจเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนต่ำลงไม่ถึง 95% ลูกมีการซึมลง ไม่ดื่มนม ไม่ยอมกินข้าว งอแง ถ่ายเหลว หรืออาเจียนหนัก ควรรีบพาเด็กไปที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
แม้ว่าช่วงนี้มาตรการ การป้องกันเชื้อโควิดจะลดลงแล้ว เนื่องจากคนส่วนใหญ่นั้นได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันในร่างกายแล้ว แต่เชื้อนั้นก็สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นเพื่อที่จะโจมตีร่างกายของเราได้ โดยเฉพาะหากเรานั้นนำพาเชื้อมาสู่ลูกตัวน้อย ที่เพิ่งเกิดและมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่าลืมที่จะรักษาสุขภาพ และความสะอาดด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ปกป้องคนที่คุณรักให้ปลอดภัย ห่างไกลจาก RSV โควิด และ ฝุ่น PM 2.5 ด้วยเครื่องฟอกอากาศ Bwell
Covid-19 อยู่ตรงไหนบ้าง? แหล่งสะสมที่คุณอาจจะยังไม่รู้
7 วิธี เลี้ยงลูกในช่วง Covid-19 เลี้ยงลูกยังไงให้มีความสุขในช่วงไวรัสระบาด
ที่มา :