วันที่ 6 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.จำเนียร ทองดี หัวหน้าตู้ยามบ้านท่ากุ่ม ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ.ตราด ได้รับแจ้งจากนางเอ (นามสมมติ) อายุ 35 ปี ชาวบ้าน ม.1 ต.ท่ากุ่ม ให้ช่วยควบคุมตัวนายแซ็ค (สงวนนามสกุล) อายุ 15 ปี ขณะกำลังจะพาลูกสาวของตนเองคือ ด.ญ.บัว (นามสมมติ) อายุ 11 ขวบ หอบเสื้อผ้าหนี ออกจากบ้านไป หลังจากได้รับแจ้งเหตุจึงรีบไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ ริมถนนสายซอยเล่าโล้–บ้านท่ากุ่ม พบกับนางเพ็ญคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถูกกลุ่มชาวบ้าน 5-6 คน สกัดจับไว้พร้อมนายแซ็ค ผู้ก่อเหตุ และด.ญ.บัว ลูกสาวของนางเอพร้อมกระเป๋าใส่เสื้อผ้า 1 ใบของด.ญ.บัว จึงควบคุมตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่สภ.เมืองตราดพร้อมกับนางเอแม่ของด.ญ.บัว และนางเพ็ญคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
เบื้องต้นนางเพ็ญให้การว่า ตนเองนั้นเป็นคนขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ที่คิวบขส.ตราด เมื่อช่วงสายที่ผ่านมานายแซ็คลงจากรถบขส.และว่าจ้าง ให้ตนขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปที่บ้านท่ากุ่ม อ้างว่าจะไปรับเพื่อนไปเที่ยว ตนจึงรับมาส่งที่บ้านท่ากุ่ม แต่ไม่ทราบเรื่องการลักพาตัวด.ญ.บัวแต่อย่างใด แต่มาดูเหตุการณ์เพราะเกิดความสงสารนายแซ็คเกรงจะถูกทำร้ายเท่านั้น
ขณะนางเอมารดาของด.ญ.บัวเล่าให้ฟังว่า ลูกสาวตนเองเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผ่านมามีอาการผิดปกติ ชอบอยู่คนเดียว เล่นแต่โทรศัพท์ ตนพยายามสอบถาม บอกแต่เพียงว่าเล่นเกมในโทรศัพท์ จนถึงเมื่อเช้าที่ผ่านมาลูกสาวไม่ยอมกินข้าว แต่งตัวไปโรงเรียนและไม่กลับบ้าน ตนจึงได้ให้ญาติขี่มอเตอร์ไซค์ตามมาดู และพบว่าลูกสาวหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นซ้อนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างของนางเพ็ญ โดยมีนายแซ็คนั่งซ้อนท้ายไปด้วย จึงให้ญาติขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ตามจนทัน และบังคับให้หยุดจอด ก่อนจะแจ้งตำรวจมาควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองตราด
นางเอ เผยอีกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวต้องเป็นผลมาจากการเล่นโทรศัพท์ และพบกันทางเฟซบุ๊ก จึงได้นัดกันหนีไปด้วยกัน โชคดีที่ตนเองติดตามมาได้ทัน หากไม่ทันไม่รู้ว่าลูกสาวตนเองนั้นจะถูกพาไปถึงไหน จึงฝากเตือนคนเป็นแม่และผู้ปกครองทุกคนให้ใส่ใจ ดูแลลูกหลายอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภัยจากโลกโซเชียล ต่อจากนี้ตนเองจะต้องคอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิดให้มากกว่านี้ ส่วนเรื่องคดีความนางเอกล่าวว่าจะให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะหากว่าตนเองตามไม่ทันนายแซ็คคงพาลูกสาวตนเองหนีไปไกลแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : สลดใจ เด็ก 9 ขวบ หนีออกจากบ้าน พร้อมแมวส้ม โชคดีกู้ภัยเจอเร่งส่งคืนยาย
ปัจจัยที่ทำให้ลูกติดมือถือ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกติดมือถือ เกิดได้จากหลายปัจจัย ส่วนมากแล้วจะมาจากการใช้เวลามากเกินไปกับหน้าจอมากจนเกินไป โดยไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูโดยตรง ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าจุดไหนที่ผู้ปกครองควรต้องดูแลเป็นพิเศษค่ะ
1. ให้ลูกใช้เวลากับมือถือมากเกินไป
การให้ลูกใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป ปัญหานี้มักมาจากการไม่ได้ควบคุมดูแลการเล่นมือถือของลูก ๆ หรืออาจเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาให้ลูก และให้ลูกอยู่กับมือถือแทนตอนคุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าง จนเด็กเริ่มชินและติดมือถือในที่สุด
2. ไม่เคยทำกิจกรรมอื่น ๆ
ยังมีกิจกรรมที่สนุก และเพลิดเพลิน พร้อมทั้งยังได้ประโยชน์มากกว่าการเล่นมือถือ เช่น การออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอกที่สวน หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการได้ดี เด็ก ๆ อาจชอบมากกว่าการเล่นมือถือเสียอีก เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้ลองทำเท่านั้นเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ
3. ลูกเริ่มเล่นมือถือในวัยที่ไม่เหมาะสม
การเล่นมือถือจนติดเป็นนิสัย เพราะเล่นมานานแล้ว จนเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งในวัยที่เหมาะสม คือ อายุ 3 ปีขึ้นไปเท่านั้น ช่วงอายุ 1-2 ปี ลูกควรได้พัฒนาการเรียนรู้ การพูด และการเคลื่อนไหวของเด็กมากกว่าการให้นั่งเล่นมือถือเพียงอย่างเดียว
4. ไม่ชอบเข้าสังคม มีโลกส่วนตัวสูง
เด็กบางคนอาจชอบอยู่ตัวคนเดียว หรือมีโลกส่วนตัวสูง เลือกใช้เวลาส่วนมากไปกับสื่อออนไลน์ และรู้สึกว่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับตนเอง อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ซึ่งในข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบแก้ไข ก่อนที่ลูกจะโต ทำให้แก้ไขได้ยากกว่าเดิมค่ะ
ลูกติดมือถือ แท็บเล็ต จะแก้ปัญหายังไงดี?
1. คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นมือคนเดียวนาน ๆ ควรเข้ามาคอยชี้แนะ ให้คำปรึกษา บอกว่าสิ่งใดดีหรือสิ่งใดไม่ดี เพราะโลกของสังคมออนไลน์มีทั้งดีและไม่ดี คุณพ่อคุณแม่อาจจะห้ามลูกไม่ได้ตลอดเวลา แต่ต้องสอนให้ลูก ๆ แยกแยะว่าอะไรดี ไม่ดีได้ เพื่อไม่ให้เกิดประพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่ไม่ดีค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ พ่อขอแชร์ประสบการณ์ ที่เคยใช้กับลูกได้ผลมาแล้ว!!
2. ดูความเหมาะสม
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะปล่อยให้ลูกได้เล่นมือถือ ควรทำข้อตกลงร่วมกันเสียก่อน ว่าสามารถเล่นได้แค่ไหน เล่นเสร็จแล้วต้องทำอะไร เพื่อไม่ให้ลูกจดจ่อกับโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ตมากเกินไป ถึงแม้จะให้ลูกดูบทเรียน หรือสื่อที่มีประโยชน์ก็ตาม แต่ไม่ควรลืมให้ลูกมีการพูดคุย สื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วยค่ะ
3. เรียกร้องความสนใจ
อย่าปล่อยให้ลูกเล่นเกมเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เด็กใช้สายตามากเกินไป ควรเรียกให้ลูกได้หลุดออกจากโลกของเกมบ้าง หากลูก ๆ ยังนิ่งไม่สนใจ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปใกล้ ๆ สะกิดให้เขารู้สึกตัว และพยายามให้เขาฟังในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการจะพูดด้วย
4. อย่าให้เด็กรู้สึกว่ามือถือเป็นของเขา
เด็กบางคนพ่อแม่ซื้อมือถือ หรือแท็บเล็ตไว้ให้ต่างหาก เพื่อให้ลูกได้เล่นเกม ดูยูทูบ หรือสื่อต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพ่อแม่บางคนจำเป็นต้องใช้มือถือในการติดต่อประสานงานตลอดเวลา พอลูกรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของเขา ลูกจะแสดงอารมณ์โกรธและโมโหฉุนเฉียวถ้าพ่อแม่บอกให้หยุด ดังนั้น ควรนำมือถือของคุณให้ลูกเล่นบ้าง