เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 เพจ “วิทยากรสอนปฐมพยาบาล เบื้องต้นตามกฎหมาย” โพสต์ภาพกิจกรรมในงานฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พร้อมสาธิตวิธีการ ช่วยเด็กสำลักอาหาร โดยการใช้หุ่นตุ๊กตาเด็กเป็นตัวสาธิต แต่มีนักศึกษาที่เข้าอบรมรายหนึ่งตบที่หลังหุ่นตุ๊กตา โดยใช้แรงมากเกิน จนทำให้หัวหุ่นตุ๊กตากระเด็นหลุดตกลงที่พื้น โดยทางเพจระบุข้อความไว้ว่า “เศษอาหารที่ติดคอ ออกเรียบร้อย” จนทำเอาชาวเน็ตแห่แซวว่า ไม่น่าจะใช่แค่เศษอาหาร เพราะหัวเด็กก็หลุดไปกับเศษอาหารเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม โพสดังกล่าวมียอดแชร์กว่า 34,000 ครั้ง ต่างมีชาวเน็ตเข้าคอมเมนต์กันเป็นจำนวนมาก เช่น CPR ต่อเลยค่ะ, ต้องเอาหัวออกก่อนนะ แล้วอาหารที่ติดคอจะค่อย ๆ หลุดออกมา, น้องยิ้มอรุ่มเจ๊าะ แสดงว่าปลอดภัย, ไม่ใช่แค่เศษอาหาร วิญญาณก็เช่นกัน, พยาบาล หรือยมบาล, ติดคอก็ถอดหัวน้องแล้วล้วงออกมา, วอร์ดอำมหิต, จะเศร้ารึขำดี เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีช่วยคนสําลักอาหาร ทารกสำลักอาหาร ปฐมพยาบาลอย่างไร วิธีการปฏิบัติเมื่อสำลักอาหาร
10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็กรอดพ้นอันตราย
1.แผลถลอก
กรณีที่มีเศษหินติดอยู่ให้ชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ทายารักษาแผลสด เช่น โพวิดีน (Povidine) หรือยาแดง แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด ถ้าบาดแผลมีลักษณะตื้น และมีเลือดไหลซิบ ๆ เท่านั้น ให้ทายาโดยไม่ต้องใช้ผ้าปิดบาดแผลก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
2.แผลถูกของมีคมบาด
หากถูกมีดบาด ส่วนมากจะมีเลือดไหลออกมา จะต้องห้ามเลือดก่อน
- หากเป็นแผลเล็ก ๆ และของที่บาดนั้นไม่สกปรก เพียงแค่ทำความสะอาดแผล และใส่ยาเหมือนแผลถลอก
- หากเป็นแผลใหญ่ เมื่อห้ามเลือดแล้ว ควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล เพราะอาจจะต้องทำแผลด้วยการเย็บแผล
- สำหรับแผลที่สกปรกมาก หรือสิ่งที่บาดนั้นมีสนิมต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
- สำหรับแผลใหญ่ เลือดออกมากใช้วิธีกดห้ามเลือดไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีรัดส่วนเหนือของแผลด้วยผ้าแล้วใช้ไม้สอดเข้าไปในผ้านั้น พร้อมหมุนไม้ไปทางเดียวกันขันจนแน่น การห้ามเลือดวิธีนี้จะปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลผ่านบริเวณที่มีบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหลแต่ต้องคลายผ้าเป็นระยะเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อตาย เช่น รัดนาน 5 นาที คลายออก 1 นาทีและรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
3.หัวโน ห้อเลือด ฟกช้ำ
ในระยะแรกภายใน 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งหรือใช้ cold – hot pack เป็นถุงที่ใช้ได้ทั้งร้อนและเย็น เพื่อประคบเส้นเลือดให้หดตัวทำให้เลือดหยุดไหล ห้ามนวดคลึงเพราะจะทำให้เลือดที่ออกใต้ผิวหนังยิ่งออกมากขึ้น ไม่ควรใช้ยาหม่อง หรือของร้อนอื่น ๆ ทาบริเวณที่โน เพราะยาหม่องจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนและเลือดมาครั่งอยู่บริเวณแผลมากขึ้น หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว จึงเริ่มประคบร้อนเพื่อให้เลือดที่ออกถูกดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือดเร็วขึ้น
4.สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
ให้เด็กอ้าปากหายใจทางปากแทน หยอดน้ำมันพืชเข้าไปทางจมูกที่มีสิ่งแปลกปลอม ถ้าเป็นเมล็ดพืชจะช่วยไม่ให้เมล็ดพืชนั้นบวมปิดรูจมูกแน่นขึ้น ถ้าเป็นแมลงเข้าจมูกจะช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนในรูจมูกและทำให้แมลงหยุดเคลื่อนไหว หลังจากนั้นให้เด็กสั่งน้ำมูกให้สั่งเบา ๆ วิธีนี้จะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หากเป็นพวกเศษผ้าหรือเศษกระดาษ ให้ใช้คีมปลายมนค่อย ๆ คีบออกมา
5.แมลงเข้าหู
ต้องทำให้แมลงตายโดยใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหาร หยอดเข้าไปในหู ทิ้งไว้สักครู่แมลงจะตายและลอยขึ้นมาให้ตะแคงหูเพื่อให้แมลงและน้ำมันไหลออกมาให้หมด และใช้สำลีเช็ดเพื่อทำความสะอาดอีกครั้งค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แมลงเข้าหู ลูกน้อย ทำอย่างไรดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
6.สุนัข หรือแมวกัด
ควรรีบเข้าไปดูลูกน้อย และไล่ให้สัตว์นั้นออกให้ห่างไปไกลที่สุด หรือให้คนช่วยนำไปขังแยกไว้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการเข้ามากัดซ้ำขณะที่กำลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นอยู่ และควรรีบพาลูกไปที่ก๊อกน้ำทันที ใช้น้ำสะอาดและสบู่รีบล้างแผลให้สะอาด ซับแผลให้แห้ง ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด และนำเด็กส่งโรงพยาบาล
7.สิ่งแปลกปลอมติดคอ
หากเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ถ้าเด็กยังไม่หมดสติ
- ให้รีบเช็กว่าทางเดินหายใจมีการอุดกั้นหรือไม่ โดยดูจากอาการร้องไม่มีเสียง หรือไอไม่ออก
- จากนั้นใช้ฝ่ามือซัพพอร์ตบริเวณคอของเด็กแล้วจับคว่ำลง ตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย กดหน้าอก 5 ครั้ง ทำสลับไปจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
- แต่ถ้าหมดสติให้รีบกู้ชีพทันที
หากเป็นกรณีที่เด็กโตแล้ว ยังไม่หมดสติ แต่พูดแล้วไม่มีเสียง
- ให้รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
- แต่ถ้าเด็กหมดสติให้รีบกู้ชีพทันที
8.กลืนและดมสารพิษ
หากเด็กกลืนสารพิษ พวกน้ำหอม ยาทาเล็บ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ดีดีที ยาเบื่อหนู ยากำจัดแมลงสาบ หรืออื่น ๆ ที่เป็นสารเคมีพวกกรดด่าง หรือสารประกอบปิโตรเลียม ถ้ามีอาการผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากมีอาการรุนแรง เช่น ซึม หมดสติ หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ให้โทรเบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้มีทีมรถพยาบาลมาดูแลที่จุดเกิดเหตุ กรณีที่สารพิษอาจจะเปื้อนกับเสื้อผ้า หรือเปรอะเปื้อนตามผิวหนัง ระหว่างที่รอรถพยาบาลมา อาจจะถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสกับตัวผู้ป่วย และจัดผู้ป่วยให้นอนตะแคง เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ และรอรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดค่ะ
9.สารเคมีเข้าตา
คุณจะต้องรีบเก็บสารเคมีที่เป็นอันตรายให้พ้นกับมือเด็กก่อน และต้องรีบเบิกเปลือกตาบนและล่างให้เห็นนัยน์ตากว้างที่สุด แล้วรินน้ำสะอาดผ่านนัยน์ตาทันทีโดยรินผ่านนาน ๆ ประมาณ 5 นาที เพื่อล้างสารเคมีออกให้หมด ขณะที่รินน้ำต้องระวังอย่าให้น้ำที่ไหลออกกระเด็นเข้าตาอีกข้างหนึ่งที่โดนสารเคมี ควรให้เด็กนอนเอียงตาข้างที่โดนสารเคมีออกจากตัว เวลารินน้ำควรรินจากหัวตาไปหางตา จากนั้นใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดปิดตาไว้แล้วรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล
10.เลือดกำเดาไหล
อย่าให้เด็ก ๆ เงยหน้าขึ้นเป็นอันขาด เพราะเป็นวิธีที่ผิด ให้เด็กก้มหน้าลงแทน ท่าก้มหน้านั้นจะเป็นนั่งหรือยืนก็ได้แต่ห้ามนอน ใช้นิ้วกดจมูกด้านที่เลือดกำเดาไหล ใช้ความเย็นประคบดั้งจมูก 1-2 นาที หากเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้านุ่ม ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกข้างที่เลือดออกทิ้งไว้สักครู่ใหญ่ สังเกตดูว่าเลือดหยุดไหลหรือยัง กรณีเลือดไหลไม่หยุดเกินครึ่งชั่วโมงขึ้นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
อุบัติเหตุ หรือเหตุร้าย เป็นเรื่องไม่คาดคิด แต่เราก็สามารถป้องกัน และลดโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแล ระมัดระวังลูก และสอนให้พวกเขารู้ว่าการเล่นแบบไหนไม่ปลอดภัย สารเคมีอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง ตลอดจนเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ให้รีบมาบอกผู้ปกครองโดยเร็วที่สุดอีกด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แผล ลูกมีแผลทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่คุณแม่ก็ทำได้
ลูกสําลักอาหาร ปฐมพยาบาล อย่างไร ป้อนอาหารเด็กเล็ก ต้องระวัง! อาหารอันตราย
วิธีปฐมพยาบาลสําลักอาหาร เด็กเล็ก ช่วยลูกยังไงให้รอด คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่รู้ไม่ได้
ที่มา : mgronline.com, facebook.com