เรื่องอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนมีแต่ความน่ากังวลประกอบอยู่ หากสินค้าที่รับประทานเข้าไปนั้น มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง ดังเช่นอุทาหรณ์ของครอบครัวนี้ ที่ลูกต้องเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากกิน ปลาแดดเดียวทอดพ่นยาฆ่าแมลง เข้าไป
ปลาแดดเดียวทอดพ่นยาฆ่าแมลง กลายเป็นประเด็นที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์อีกครั้ง เมื่อล่าสุดมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมภาพในกลุ่ม ห้องนั่งเล่นพ่อแม่ โดยระบุข้อความว่า “เตือนภัย ซื้อปลาแดดเดียวที่ตลาดสด (ไม่เคยซื้อร้านนี้มาก่อน) มาทอดให้ลูกกิน ลูกสาวอายุ 2 ปี 4 เดือน เกือบตาย เพราะแม่ไม่ระวัง เจ้าของโพสต์ไม่มีเจตนา ดิสเครดิตร้านขายอาหารตากแห้ง เจตนาโพสต์เพื่อให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อ ก่อนรับประทานเท่านั้น”
ในภาพดังกล่าว เป็นใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า เด็กน้อยทานปลาแดดเดียว แล้วมีอาการชักเกร็ง คอแข็ง ลิ้นแข็ง น้ำลายไหล เนื่องจากได้รับสารพิษ จำพวกยาฆ่าแมลงออแกโนฟอสเฟต ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
หลังจากที่โพสต์ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าวด้วย โดยได้ระบุว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม่ค้าบางคน ย้ำว่าบางคน เอายาฆ่าแมลงมาพ่นปลา เพื่อไม่ให้แมลงมาตอม ถ้าสุ่มตรวจฟอร์มาลินก็มักจะเจอด้วย เมื่อก่อน อย. และ สคบ.ก็สุ่มเจอบ่อย ๆ
สารเคมีที่น้องคนนี้เจอคือ ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต เมื่อกินหรือสูดดม จะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อม ๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมากกว่าปกติ ถ้าอาการพิษรุนแรงจะหมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระ ปัสสาวะราดชัก หายใจลำบาก และหยุดหายใจ
วิธีสังเกต ปกติแล้วปลาตากแห้ง มักมีแมลงวันตอม แต่ถ้าไม่มีแมลงวันมาตอม ก็อาจจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ฉีดยาฆ่าแมลงรึเปล่านะครับ”
บทความที่เกี่ยวข้อง : สารปนเปื้อนในอาหาร! ที่คุณแม่ต้องระวัง อย่าเผลอให้ลูกน้อยกิน!
อันตรายจากสารพิษตกค้างในยาฆ่าแมลง
เมื่อพูดถึงเมนูอาหาร ปัจจุบันมักมีการนิยมกินผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่มักคัดเลือกจากผลที่สวย ไม่มีรอยแหว่ง ซึ่งหากไม่ได้ระวังให้ดี อาจจะแจ็กพอตเจอสารตกค้างอย่าง ยาฆ่าแมลง ก็ได้เช่นกัน
ยาฆ่าแมลงเป็นหนึ่งในสารเคมี ที่ใช้ป้องกัน กำจัดแมลงและหนอน ที่เป็นศัตรูพืช จะมีพ่อค้าหรือแม่ค้าบางคน ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินความจำเป็น เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ และใช้ยาฆ่าแมลงเกินกว่าที่ควร โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้บริโภค จึงทำให้เกิดปัญหาสารพิษยาฆ่าแมลงตกค้าง
ประเภทของยาฆ่าแมลง
1. ยาฆ่าแมลงจำพวกคลอริเนตเตทไฮโดรคาร์บอน (chlorinated hydrocabon)
หรือเรียกว่าออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) ได้แก่ อัลดริน เคลเธน ดีดีที คลอเดน ดรีลดริน เป็นต้น ใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิด อยู่ในธรรมชาติได้นานไม่สลายตัวง่าย ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง และเป็นอันตรายเมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวาย และเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ สะสมในร่างกาย จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเนื้องอกได้
2. ยาฆ่าแมลงจำพวกออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates)
ได้แก่ มาลาไธออน พาราไธออน กูซาไทออน ซูมิไธออน เมวินฟอส ไดซีสตอน ไดอะซิโนน เป็นต้น มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าแมลง จึงนิยมใช้มาก สารนี้เป็นอันตรายต่อระบบประสาท โดยจะจู่โจมระบบประสาทโดยการปิดกั้น การทำงานของเอนไซม์อซิติลคลอไลน์ เอสเทอเรส ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาท ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้หมดสติ กล้ามเนื้อกระตุก น้ำลายฟูมปาก อุจจาระ ปัสสาวะร่วง และหยุดหายใจ เนื่องจากปอด ไม่ได้รับสัญญาณประสาทที่เหมาะสม การควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจก็จะสูญเสียไป
3. ยาฆ่าแมลงจำพวกสารอนินทรีย์ inorganic insecticide
ได้แก่ สารจำพวกกำมะถันผง คอปเปอร์ซัลเฟต (Copper sulphate) และสารหนู สารหนูเป็น ยาฆ่าแมลงที่นิยมใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงพวก ปลวก แมลงสาบ ตัวหนอนผีเสื้อ และตั๊กแตน อันตรายต่อแมลงจะน้อย แต่มีพิษ ต่อคนและสัตว์มาก สลายตัวได้ยาก
4. ยาฆ่าแมลงจำพวกสกัดมาจากพืช (botanical insecticide)
ได้แก่ โล่ ติ้นได้จากรากของต้นหางไหล (Derris elliptica) ยาฉุน ได้จากใบยาสูบ และไพรีทรินส์ได้จากดอกต้นไพริทรัม (Chrysanthemum cineraiaefolium) ไพรีทรินส์นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยนำมาผสมกับยาฆ่าแมลงชนิดอื่น บรรจุในกระป๋องสเปรย์ ฆ่ายุง แมลง มีพิษต่อมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นน้อยมาก สลายตัวได้เร็ว จึงไม่มีพิษตกค้าง ในสิ่งแวดล้อม
5. ยาฆ่าแมลงจำพวกฮอร์โมนและเฟอโรโมน (hormones and pheromones)
จะเป็นการที่ใช้ฮอร์โมนเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ของแมลง เช่น ใช้จูวีไนล์ ฮอร์โมน (juvanile hormone) ในลูกน้ำยุง ทำให้ลูกน้ำยุงไม่โตเต็มวัย ไม่มีการผสมพันธุ์ขึ้น หรือการใช้เฟอโรโมนเทียมทำให้แมลง สับสนและหาคู่ผสมพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้
6. ยาฆ่าแมลงจำพวกคาร์บาเมต (carbamates)
ได้แก่ ไบกอน ฟูราแดน เทมิค และคาร์บารีล มีพิษต่อ มนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นน้อยมาก สารพิษกลุ่มนี้ จะมีพิษสูงต่อผึ้งและปลา
7. ยาฆ่าแมลงจำพวกสารที่เป็นเชื้อโรคของแมลง (insect pathogens)
ได้แก่ ทูริไซด์และอาร์โกนา ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียและไวรอนเอช ผลิตจากไวรัส โดยที่เชื้อโรคของแมลงเหล่านี้ ทำให้แมลงเป็นโรคและตายในที่สุด นิยมใช้มากในต่างประเทศ
จริงอยู่ที่สินค้าตามท้องตลาด อาจจะกลายเป็นภัยร้ายต่อผู้บริโภค อาจจะเป็นสินค้าที่เต็มไปด้วยสารพิษสู่โรคร้าย หากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ แนะนำว่าอาจจะล้างทำความสะอาดก่อน เพื่อขจัดสารเคมีต้องค้าง หรือหากเป็นไปได้ ถ้าสินค้าเป็นจำพวกการแดดเดียว อาจจะต้องทำเอง มากกว่าการซื้อมาทาน เพื่อความปลอดภัยของร่างกายและคนในครอบครัวค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกในท้องเป็นเนื้องอกสมอง เพราะแม่ได้รับยาฆ่าแมลง
เพื่อนร่วมงานขอบริจาคน้ำเชื้อทำพันธุ์ เหตุเพราะเห็นสามีตัวเองหล่อ ถึงขั้นคุกเข่าขอร้อง!
คนท้องกินพืช GMO ได้ไหม พืชตัดแต่งพันธุกรรมทำไมไม่ปลอดภัย ?
ที่มา : facebookหมอแล้บแพนด้า, facebook, scimath