เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อที่หลายคนกังวลมากเลยค่ะ สำหรับโรค RSV ที่เป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดมากในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ในช่วงที่ฤดูกาลเปลี่ยนปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ เรียกได้ว่าต้องป้องกันอย่างเต็มที่ค่ะ ซึ่งในวันนี้ theAsianparent มีวิธี เช็กอาการไวรัส RSV มาฝากค่ะ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ติดโรคด้วยค่ะ จะมีวิธีอะไรบ้างนั้น ถ้าพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันเลยนะคะ
โดยล่าสุด นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความเตือนผู้สูงอายุหากติดเชื้อ RSV จะป่วยมากกว่าเด็กเล็กหลายเท่า หนำซ้ำยังหนักกว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุข้อความว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ โรคไวรัส RSV กำลังแพร่ระบาดในเด็กเล็ก และคนสูงอายุ ผู้ป่วยหญิงอายุ 93 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ป่วยเป็นโรคโควิด-19 วันที่ 30 กันยายน 2565 เริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ไอ 3 วัน ไม่เจ็บคอ ไม่มีน้ำมูก เด็กในบ้านอายุ 4 ขวบ ป่วยเป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ตรวจร่างกาย มีไข้ต่ำ ๆ อุณหภูมิ 37.7 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 97% ฟังปอดปกติ เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวปกติ 3,960 เอกซเรย์ปอดปกติ แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อ 22 สายพันธุ์ พบไวรัส RSV สรุป: วินิจฉัยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส RSV ติดเชื้อจากเด็กเล็กในบ้าน ให้ยาตามอาการ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาพ่นขยายหลอดลม 4 วันต่อมา ยังมีไอ ไม่มีไข้ ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 96% เอกซเรย์ปอดเริ่มพบฝ้าขาวที่บริเวณปอดข้างซ้าย 10 วันต่อมา ยังไอต่อเนื่อง มีเสมหะ ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 95% เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ข้าง ให้ยาสเตียรอยด์ขนาดต่ำ 5 วัน 15 วันต่อมา ไอดีขึ้น เสมหะน้อยลง ไม่มีไข้ ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 97% เอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง อย่าให้ลูกน้อยติด!
เพราะเมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อ RSV จะป่วยมากกว่าเด็กเล็กหลายเท่า อาการป่วยของผู้ป่วยรายนี้จากการติดเชื้อไวรัส RSV หนักกว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปีเสียอีก เพราะผู้ป่วยได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสและได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส RSV ที่มีประสิทธิภาพ โลกกำลังรอวัคซีนตัวใหม่ลดการป่วยหนักจากไวรัส RSV การป้องกันไม่ให้คนสูงอายุติดเชื้อ RSV จึงมีความสำคัญ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และอย่าให้เด็กเล็กที่ป่วยเป็นหวัดเข้าใกล้คนสูงอายุ
โรคไวรัส RSV คืออะไร ?
โรค RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นหนึ่งในไวรัส ที่ทำให้เด็กเป็นโรคขึ้นมา ไวรัสนี้จะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับ จมูก คอ ปอด ไวรัสชนิดนี้ จะทำให้คนเป็นกันมากในช่วงปลายปีเป็นต้นไป
อาการ RSV เป็นอย่างไร ?
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV หรือไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทย อาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งการติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส หากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน
กลุ่มเสี่ยงต่อ RSV มากที่สุด
- ทารกคลอดก่อนกำหนด: ทารกเหล่านี้มีปอดและระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคร้ายแรงจาก RSV
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: เด็กเล็กมีทางเดินหายใจที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขาหายใจลำบากมากขึ้นเมื่อติดเชื้อ RSV
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป: ผู้สูงอายุมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคร้ายแรงจาก RSV
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว: ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคระบบประสาท หรือ โรคทางพันธุกรรม
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย RSV: บุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน หรือ ผู้สูงอายุ
นอกจากกลุ่มเสี่ยงหลักเหล่านี้แล้ว ยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อ RSV เพิ่มเติม เช่น:
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์: ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หากคิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับ RSV
- บุคลากรทางการแพทย์: บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วย RSV เป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นคัน ภัยใกล้ตัวที่พ่อแม่มองข้าม แต่เป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้พัฒนาการลูกสะดุด!
เช็กอาการไวรัส RSV
ในช่วง 2-4 วันแรกของการติดเชื้อไวรัส RSV ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ดังนี้
- ไข้: อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า
- ไอ: ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ
- จาม: จามบ่อยๆ
- น้ำมูกไหล: น้ำมูกใสหรือสีเหลือง
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในช่วงนี้ ได้แก่
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- เบื่ออาหาร
- หายใจลำบาก
- หูอื้อ
อาการที่บ่งบอกถึงความรุนแรง
ในบางราย การติดเชื้อไวรัส RSV อาจส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ อาการที่บ่งบอกถึงความรุนแรง ได้แก่
- ไข้สูง: อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
- ไอแรง: ไอมากจนหายใจลำบาก
- หอบเหนื่อย: หายใจเร็ว แรง หรือหายใจลำบาก
- หายใจมีเสียงครืดคราด: ได้ยินเสียงดังเหมือนมีเสมหะในปอด
- มีเสมหะในลำคอมาก: เสมหะอาจมีสีเขียวหรือเหลือง
- ซี่โครงบุ๋ม: หายใจเข้าแล้วซี่โครงด้านล่างยุบลง
- ริมฝีปากเขียว: เกิดจากการขาดออกซิเจน
- อาการซึมลง: ไม่เล่น ไม่กิน ไม่ตอบสนอง
หากพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
การป้องกันติดเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค RSV หรือยาที่สามารถป้องกัน RSV ได้อย่าง 100% เราจึงควรป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ทุกคนในบ้านควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งมือตนเองและลูกน้อย เพราะการล้างมือนอกจากจะลดเชื้อ RSV แล้วยังสามารถลดเชื้ออื่น ๆ ที่ติดมากับมือ ของลูกและทุกคนในบ้านได้ทุกชนิด ทั้งเชื้อไวรัส และ แบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 70
- ควรใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือจะช่วยป้องกันโรคได้
- หลีกเลี่ยงให้เด็กไม่ว่าจะสบายดี หรือป่วย ไปในชุมชนที่อึดอัด
- ควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
- สำหรับคุณพ่อและคุณแม่ หากมีลูกที่ป่วยควรจะคัดแยกเด็กป่วยกับเด็กปกติออกจากกัน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
เพราะโรค RSV ยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้อย่าง 100% โดยวิธีที่จะช่วยป้องกันได้ดีที่สุดคือการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกัน และนอกจากการป้องกันเด็กแล้วนั้น ก็อยากให้ระวังในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะโรค RSV ก็สามารถติดต่อได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรค RSV และ โรคมือเท้าปากในเด็ก โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
โคลิคเกิดจากอะไร ? เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับไหม ทำไมทารกร้องไม่หยุดยามค่ำคืน
กลั้นหายใจ อาการของทารกชอบร้องกลั้น ต้องรับมืออย่างไร?
ที่มา : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC