เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคลิปไวรัลที่น่าสนใจ แถมเมื่อดูแล้วกลับน่าเอ็นดูเป็นอย่างมาก เมื่อผู้ใช้งาน TikTok ได้โพสต์คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด ที่เผยให้เห็นว่า ลูกปีน ออกจากคอกไปนั่งตักย่า หลังจากที่เพิ่งส่งเข้านอนไปได้ไม่นาน แม้จะทำรั้วกั้นอย่างดีแต่ก็ต้านไม่อยู่ สุดท้ายย่ามารู้ตัวอีกทีก็คือหลานอยู่บนตักไปแล้ว
โดยเจ้าของคลิปวิดีโอดังกล่าวได้โพสต์พร้อมกับแนบข้อความว่า “งานเข้าย่าแล้ว หัวจะปวด” ซึ่งจากคลิปจะเห็นว่า หลังจากคุณย่าส่งเข้านอน หนูน้อยก็ค่อย ๆ ปีนรั้วที่กั้นไว้ออกมา ก่อนจะเดินไปนั่งที่ตักของคุณย่า ขณะคุณย่ากำลังนั่งกลับ และหลังจากคุณย่ารู้ตัวและสะดุ้งตื่นมาถึงกับตกใจแรง ก่อนตะโกนเรียกคุณปู่ของหลานว่า “พ่อ ไอ้อ้วนข้ามกรงมาคนเดียวเนี่ย มันออกจากคอกคนเดียวเนี่ย” ฝ่ายคุณปู่ก็งงว่าหลานออกมาได้ไง ซึ่งคุณย่าก็ตะโกนตอบไปว่า “มันออกได้ไง นั่งหลับอยู่เนี่ย”
หลังจากที่คลิปดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากบรรดาชาวเน็ตเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะมีความน่าเอ็นดูอยู่ภายในคลิปดังกล่าว แต่ก็แฝงมาด้วยความปลอดภัยของเด็กอีกด้วย เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายได้ การปีนออกมาแบบนี้ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
@jamjuree243 งานเข้าย่าแล้ว หัวจะปวด ♬ เสียงต้นฉบับ – Jamjuree Nakluan – Jamjuree Nakluan
งานนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ค่ะ หากลูกน้อยของเรามีพฤติกรรมชอบปีน หรือแอบปีนในช่วงที่เราไม่ได้จับตามองแล้ว ควรที่จะทำอย่างไร ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับ เด็กวัยหัดเดิน เพราะเป็นช่วงที่กำลังตื่นเต้น และเป็นพัฒนาการชั้นต้นของเด็กนั่นเองค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกซน ลูกดื้อ ลูกอยู่ไม่นิ่งชอบการปีนป่าย ต้องทำอย่างไรดี ?
สาเหตุที่ ลูกปีน
ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็เป็นเพราะเด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเองเริ่มที่จะควบคุมร่างกายให้เคลื่อนไหว ได้ตามใจชอบแล้ว เริ่มรู้จักว่าตัวเองควรที่จะเคลื่อนไหวอย่างไร ให้ไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองมองไว้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว รวมไปถึงการรู้จักการขว้างลูกบอล วิ่งเล่นตามสวน หรือแม้แต่กระทั่งปีนป่ายเฟอร์นิเจอร์เล่นภายในบ้าน
อีกนัยหนึ่งพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะเกิดเพราะต้องการเลียนแบบพ่อแม่ หรือจากในหนัง หรือการ์ตูนที่เคยได้ดู เพื่อที่จะสำรวจสิ่งของที่อยู่รอบตัว โดยที่พฤติกรรมนั้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว
นอกเหนือจากนี้ในเด็กนั้น อาจจะยังคิดว่าการปีนไปที่อื่นนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สนองความสนุกและความอยากรู้อยากเห็น โดยการใช้มัดกล้ามเนื้อและความสามารถทั้งหมดที่มี และยิ่งถ้าลูกน้อยมีพี่หรือเด็กที่โตกว่าอยู่ด้วย เขาก็จะยิ่งอยากทำให้เหมือนกับเด็กโตกว่า จึงพยายามเลียนแบบให้เหมือนพี่ ๆ ให้ได้มากที่สุดค่ะ
ควรห้ามให้ลูกน้อยปีนป่ายไหม?
ถึงพ่อแม่จะห้ามไม่ให้ลูกน้อยปีนป่าย ก็ไม่ค่อยได้ผลมากนัด เพราะเด็กวัยนี้มีความซุกซน แถมเด็กในวัยนี้จำเป็นต้องผ่านช่วงเวลาปีนป่ายไปก่อน เพื่อเติบโตไปอีกขั้นของพัฒนาการทางด้านร่างกายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแข็งแรงของร่างกาย ความยืดหยุ่น และสมดุลที่เด็กควรจะเรียนรู้ แต่พ่อแม่อาจต้องคอยสอดส่องดูแลอย่าให้ลูกคลาดสายตา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เฟอร์นิเจอร์บางชนิดถ้าพ่อแม่เห็นว่าหากลูกปีนป่ายแล้วเกิดอันตรายก็ควรเปลี่ยนออกไป อย่างเช่น ตู้ลิ้นชัก ที่อาจจะล้มทับเด็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็กเป็นอย่างมากค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีฝึกลูกช่วยเหลือตัวเอง เติบโตมาแข็งแรง และพึ่งพาตัวเองได้
เคล็ดลับทำให้ลูกสงบ
ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กวัยนี้มักจะซุกซนเป็นปกติ โดยเฉพาะการได้ปีนป่ายขึ้นไปอยู่บนที่สูง ๆ ดังนั้น วิธีที่จะทำให้ลูกดื้อน้อยลงเวลาอยู่ที่บ้าน คือ การให้ลูกได้เล่นอย่างเต็มที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่นที่บ้าน หรือโซนเครื่องเล่นตามห้างสรรพสินค้า อาจจะให้ลูกเล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ให้ลูกได้เล่นจนเพลีย รู้สึกเหนื่อย แต่อาจจะต้องทำใจนิดนึง เพราะวิธีการนี้อาจจะช่วยได้เพียงชั่วครู่ เพราะหากลูกน้อยได้พักงีบพลังก็จะกลับมาอีกครั้ง หรืออาจจะใช้วิธีเหล่านี้ เพื่อปราบเจ้าจอมดื้อของเราค่ะ
- หาเก้าอี้หรือบันไดสำหรับเด็ก ให้น้องได้ลองปีนเล่นเพื่อหยิบหนังสือหรือของเล่นบนชั้นเอง โดยที่ชั้นวางของเล่นหรือหนังสือต้องมีความแข็งแรงพอด้วยค่ะ
- อย่านำเก้าอี้ไว้ใกล้กับหน้าต่าง เพราะลูกน้อยอาจจะปีนขึ้นไปและพลาดตกหน้าต่างไปได้ค่ะ
- หาของเล่นแถบแม่เหล็กแบบติดกับเฟอร์นิเจอร์ได้ ให้ลูกน้อยได้ลองติด และสำรวจดูค่ะ
- ทำคอกหรือหาเครื่องเล่นสำหรับเด็กให้ลูกได้ปีนป่ายภายในบ้านเพื่อความปลอดภัย
การปีนป่ายอย่างปลอดภัย ควรทำอย่างไร?
การดูแลเรื่องความปลอดภัยของลูก แต่ต้องไม่ให้กระทบโอกาสของเด็กที่ชอบปีนป่าย เช่น ไปยืนใกล้ ๆ แต่ไม่ต้องกำกับเขา เพราะเมื่อเราเป็นคนกำกับ เท่ากับเราเป็นคนสั่งการของเอง ก็จะไปปิดโอกาสสมองของเด็กที่จะได้คิดว่าต้องทำอย่างไร ทักษะสมองก็จะไม่เกิด และ คุณพ่อคุณแม่สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ลูกกำลังจะทำนั้นน่ากลัวมากแค่ไหน
การที่ผู้ปกครองลองปล่อยให้ลูกได้ลองได้ตัดสินใจเอง โดยยืนอยู่ใกล้ ๆ ด้วยสีหน้าที่สบายใจ รู้สึกผ่อนคลาย คุณพ่อ คุณแม่ จะได้เห็นว่าบางทีเด็กกำลังจะก้าวไปแล้วแต่ก็ถอยกลับมาด้วยตัวเอง นั่นคือเด็กประเมินตัวเองแล้วว่ายังไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวค่อยลองใหม่อีกที แต่ก็ไม่มีเด็กคนไหนที่ล้มเลิกความคิดลงไป
เนื่องจากเด็กยังมีความมุ่งมั่นที่จะเผชิญต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องการจะพิชิตมันให้สำเร็จ ทักษะเหล่านี้จึงมีความหมายมากตอนโตเวลาที่เด็กต้องเจอกับเรื่องที่ยาก หรืออุปสรรค ถ้าเราเลี้ยงลูกให้ขี้กลัว พอเจออุปสรรคเด็กจะถอยหนีหมด ไม่สู้ หนีปัญหา ไม่เอา กลัวไปเสียหมด
ไม่ใช่แค่เรื่องของการปีนป่ายและความดื้อเพียงเท่านั้น จริง ๆ แล้วการฝึกให้ลูกได้คิด และแก้ปัญหาเบื้องต้น สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การที่ลูกยังเป็นทารก ซึ่งถ้าตั้งแต่เล็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ทำให้หมดทุกอย่าง เด็กจะไม่เรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง และโตมาอาจจะทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และพัฒนาการของเด็กก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ และพัฒนาการของเด็กก็เป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งพ่อแม่อาจไม่สามารถห้ามลูกน้อยที่จะเล่นหรือปีนป่ายได้ แต่พ่อแม่สามารถเลือกที่จะป้องกันอุบัติเหตุของลูกน้อยได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกอยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่ายทำอย่างไรดี วิธีทำให้ลูกสงบนิ่ง ไม่ดื้อไม่ซนต้องทำยังไง
5 วิธีปราบลูกดื้อ ทำยังไงดีเมื่อลูกดื้อ วิธีปราบลูกอย่างสร้างสรรค์ ทำอย่างไร?
6 วิธีรับมือเมื่อเจอ “โรคดื้อและต่อต้าน” ของลูก
ที่มา : tiktok@jamjuree243, verywellfamily