หลายคนอาจจะพอทราบข่าวกันมาแล้ว เรื่อง เด็กก่อความรุนแรง จากคดีที่เด็กวัยรุ่นได้ร่วมมือกันกับแฟนหนุ่มฆ่าพ่อแม่ตัวเอง อันเนื่องมาจากกีดกันในเรื่องความรัก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้กล่าวไว้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมานั้น จากสิ่งที่เด็กได้แสดงออกมาอาจบ่งบอกได้ว่าเด็กอาจจะโตมาบนพื้นฐานครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง จึงทำให้เด็กแสดงออกมาแบบนั้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งนี้เราก็ต้องมีการทบทวนดูว่า สิ่งที่ส่งผลส่อให้เด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ก็อาจจะเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิเช่น โรงเรียน หรือคนข้างบ้านนั่นเอง
แน่นอนว่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้เด็กคนนี้มีพฤติกรรมที่รุนแรง อาจไม่ได้บ่งบอกว่าเขาต้องใช้ความรุนแรงตลอดเวลา สิ่งนี้อาจเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบที่ทำให้เขารู้สึกโกรธจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองก็เป็นได้ และเนื่องจากที่เขาไม่รู้สึกเสียใจกับการกระทำเหล่านี้เลย ก็อาจจะเป็นความคิดเพียงชั่วขณะด้วยเช่นกัน
จิตแพทย์แนะนำ! วิธีป้องกันและช่วยเหลือ เด็กก่อความรุนแรง
จากนั้น นพ.ยงยุทธ ก็ได้กล่าววิธีแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาว่า เราจะต้องเอาสิ่งดี ๆ เข้าไปอยู่ในตัวเด็ก และเด็กจะต้องมีชีวิตที่เพิ่มพูนและดีขึ้น เพราะเราจะเห็นได้ว่า ในสถานพินิจ อาทิเช่น บ้านกาญจนาถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมเด็กที่ค่อนข้างใช้ความรุนแรงทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็น ปาหินจนรถเกิดอุบัติเหตุ หรือฆ่าเพื่อนเพื่ขโมยจักรยาน เป็นต้น ดังนั้นเด็กเหล่านี้จึงควรที่จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ เมื่อถึงเวลาที่เขาได้ออกมาชีวิตในสังคมเขาจะได้รับการยอมรับและกล้าที่จะใช้ชีวิตในสังคมมากยิ่งขึ้น
การแก้ไขปัญหา เด็กก่อความรุนแรง เหล่านี้ อาจจะเริ่มต้นได้จากการไม่สนับสนุนและมีส่วนช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเราจะต้องทำการสังเกตคนในครอบครัว คนข้างบ้าน รวมถึงคนในชุมชน และเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจได้เลย เพื่อที่เราจะได้นำเด็กชอบใช้ความรุนแรงมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป
ในทางกลับกัน หากคนในครอบครัวสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ เด็กก็จะสามารถกลับมาอยู่กับครอบครัว และใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งนี้ก็อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเด็ก ๆ ผ่านการอบรมแล้ว สิ่งนี้ก็อาจจะทำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสามารถกลับมาใช้ชีวิตและอยู่ในสังคมได้
ความรักในช่วงวัยรุ่น
เรื่องความรักในช่วงวัยรุ่น พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นเขาก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นในทุกประเภท เช่น รู้สึกโกรธ โมโห หรือรัก เป็นต้น ทั้งนี้ก็อาจจะทำให้เด็ก ๆ มีการตัดสินใจที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงอิทธิพลของการเป็นวัยรุ่นอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ให้ส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน อาทิเช่น สิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงอาวุธได้ง่าย รวมถึงมีคนอื่น ๆ ช่วยวางแผนด้วย
ในเรื่องของความรักเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยและไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดคุยและใช้เวลาอยู่กับลูก ๆ เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้รู้สึกอบอุ่นและมีเวลาสนใจเรื่องอื่น ๆ น้อยลง และแน่นอนว่าหากเด็ก ๆ รู้จักใช้เวลาพัฒนาตัวเอง และได้ทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ เขาก็จะรู้สึกมีความสุขและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และเมื่อเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาก็จะรู้สึกไม่ต้องการพึ่งพาความรักจากใคร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะกีดกันหรือห้ามไม่ให้ลูกมีความรัก เพราะอาจส่งผลให้เกิดเรื่องของความขัดแย้งขึ้นมาได้เลย
นอกจากในเรื่องของความรักสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่น่าเป็นห่วงมากยิ่งกว่า อาจจะเป็นเรื่องการที่ลูกของเราพึ่งพาความรักจากคนอื่นมากเกินไป และเพื่อเป็นการป้องกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรามาฝึกลูกของเราให้รู้จักรักตัวเอง และอยู่กับตัวเองให้ได้กันดีกว่าค่ะ พญ.ดุษฎี กล่าว
สถิติความรุนแรงในครอบครัว
รายงานสถานการณ์และแนวโน้มทางสังคม “ความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
- พฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 5 รายต่อวัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 – กันยายน 2563 สายด่วน 1300 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวพบว่ามีผู้แจ้งเหตุยังศูนย์ช่วยเหลือสังคมเฉลี่ยวันละ 5 ราย
- ซึ่งในระยะเวลา 6 เดือน ได้มีการพบโน้มแนวที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564
- พบว่าส่วนใหญ่ที่โดนทำร้ายร่างกายจะอยู่ในกลุ่มเด็กและสตรีมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกระทำที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ จะถูกล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด และมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นสองเท่าตัวเลย
- บุคคลที่ทำร้ายร่างกายเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจากคนในครอบครัวนั่นคือพ่อและแม่ หรือไม่ก็จะเป็นบุคคลที่เด็ก ๆ ไว้วางใจมากที่สุด
- ปัจจุบันความรุนแรงในช่วงโควิด – 19 ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากความเครียดในหลาย ๆ อย่าง อาทิเช่น การขาดรายได้ หรือการถูกเลิกจ้าง เป็นต้น และคาดการณ์ว่าแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความเครียดรวมถึงเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่กำลังพบเจออยู่ในตอนนี้นั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ :
ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
โควิดทำให้เด็ก ๆ ทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ! คุณแม่ต้องระวัง !
โกรธ จะควบคุมอารมณ์โกรธยังไงดี มีวิธีไหนช่วยได้บ้าง ต้องอ่าน!!
ที่มา : bangkokbiznews