สำหรับคุณแม่หลังคลอด หนึ่งในคำที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ มดลูกเข้าอู่ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการฟื้นตัวสำหรับคุณแม่หลังคลอด อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมดลูกเข้าอู่อยู่ไม่น้อย บทความนี้จะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความหมาย ระยะเวลา สัญญาณอาการ มดลูกเข้าอู่จะรู้ได้ยังไง รวมถึงวิธีดูแลตัวเอง ทำยังไงให้มดลูกเข้าอู่ไว ขึ้นด้วย
มดลูกเข้าอู่ คืออะไร?
ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่า มดลูกเข้าอู่ คืออะไร ต้องเข้าใจก่อนว่า ระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้นมดลูกของคุณแม่ขยายออกอย่างมากเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ แม้กระทั่งหลังคลอด มดลูกก็ยังไม่ได้ลดขนาดลงทันที แต่จะค่อยๆ หดตัวลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ กว่าที่มดลูกจะกลับมามีขนาดปกติ ซึ่งกระบวนการที่มดลูกกลับสู่ขนาดปกตินี่เองที่เราเรียกว่า มดลูกเข้าอู่
โดยกระบวนการมดลูกเข้าอู่ จะช้าหรือเร็ว อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคลอด การให้นมลูก และสภาพร่างกายของคุณแม่ ทั้งนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีแนวโน้มช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น เพราะการให้นมกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน ที่ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น
คลอดธรรมชาติ vs ผ่าคลอด มดลูกเข้าอู่ต่างกันอย่างไร
แน่นอนว่าการคลอดธรรมชาติ มดลูกย่อมเข้าอู่ได้เร็วกว่า เพราะไม่มีแผลผ่าตัดที่ต้องฟื้นฟู อีกทั้ง แม่ที่ผ่าคลอดมักเจ็บแผลผ่าคลอด ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด มดลูกจึงเข้าที่ได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
มดลูกเข้าอู่จะรู้ได้ยังไง
หลังคลอดร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งร่างกายและจิตใจ ระดับฮอร์โมนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาวะอารมณ์ของแม่หลังคลอด ด้วยเหตุนี้ จึงอาจทำให้ แม่หลังคลอดหลายคนไม่ได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมดลูก ซึ่งเป็นอวัยวะภายในร่างกายที่มองไม่เห็น แต่กลับเป็นอวัยวะที่รับบทสำคัญที่สุดเมื่อร่างกายตั้งครรภ์และให้กำเนิดทารก
การสังเกตอาการมดลูกหลังคลอด จึงสำคัญเพราะช่วยให้คุณแม่ทราบว่าร่างกายกำลังฟื้นตัวตามปกติหรือไม่ หากมดลูกเข้าอู่ช้า น้ำคาวปลามีกลิ่นผิดปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในโพรงมดลูก หากรักษาไม่ทันเวลาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่หลังคลอดในระยะยาว
ต่อไปนี้เป็นอาการปกติที่คุณแม่หลังคลอดสามารถใช้สังเกตตัวเองได้ว่า ว่ามดลูกของเรากำลังเข้าสู่กระบวนการหดตัวกลับมาเป็นปกติหรือเปล่า
- ปวดท้องเหมือนมดลูกบีบตัว ช่วงแรกหลังคลอด อาจรู้สึกหน่วงๆ บริเวณหน้าท้องเป็นสัญญาณปกติที่บ่งบอกว่ามดลูกกำลังหดตัว
- น้ำคาวปลาลดลง ตามปกติแล้วน้ำคาวปลาซึ่งเป็นสารคัดหลั่งจากมดลูกหลังคลอด จะค่อยๆ ลดลง และมีสีจางลง หากพบว่าน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือหยุดไหลไปชั่วขณะแล้วกลับมามีเลือดออกอีก อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อหรือภาวะตกเลือดหลังคลอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- หน้าท้องลดลง เมื่อมดลูกหดตัว หน้าท้องก็จะเริ่มลดลงด้วย
เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ มดลูกเข้าอู่
ความเชื่อ: ดื่มน้ำอุ่น มดลูกเข้าอู่ไว
ความจริง: แม้จะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่บ่งบอกว่าการดื่มน้ำอุ่นช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำมากๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ให้นมลูก
ความเชื่อ: สมุนไพรช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ความจริง: สมุนไพรบางชนิด เช่น ขิงหรือขมิ้น ช่วยเรื่องการฟื้นตัวของร่างกาย แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง
ความเชื่อ: ไม่อยู่ไฟ มดลูกจะไม่เข้าอู่
ความจริง: โดยทั่วไป หากดูแลร่างกายตามที่แพทย์แนะนำ พักผ่อนเพียงพอ มดลูกก็จะค่อยๆ กลับสู่ขนาดปกติได้เองตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟไม่ได้ช่วยเรื่องของมดลูกโดยตรง แต่การอยู่ไฟจะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัว บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ช่วยขับน้ำคาวปลา และป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคต ดังนั้นการอยู่ไฟจึงถือเป็นศาสตร์และศิลป์ของแพทย์แผนไทยที่ใช้ในการดูแลแม่หลังคลอด
ความเชื่อ: หลังคลอด 1 เดือนก็มีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว
ความจริง: การกลับมามีเพศสัมพันธ์หลังคลอดนั้นต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งคลอดแบบไหน มดลูกเข้าอู่หรือยัง รวมถึงสภาพจิตใจและความพร้อมของคุณแม่หลังคลอดด้วย โดยทั่วไป หากคลอดธรรมชาติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แผลฝีเย็บหายดี น้ำคาวปลาหมดแล้ว ประมาณ 4 สัปดาห์หลังคลอดก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่หากยังมีน้ำคาวปลาอยู่ ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์เพราะอาจติดเชื้อได้ สำหรับกรณีผ่าคลอด ควรรอประมาณ 6 สัปดาห์จึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ ควรให้แพทย์ตรวจแผลก่อนทั้งแผลด้านนอกและด้านในว่าแห้งสนิทหรือไม่ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด ก็ควรให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจและความพร้อมของแม่ เพราะช่วงหลังคลอดฮอร์โมนยังแปรปรวน อาจมีภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลีย จึงควรยึดความพร้อมของคุณแม่ทั้งทางกายและทางใจเป็นสำคัญ
เรื่องควรรู้ ทำยังไงให้มดลูกเข้าอู่ไว
เมื่อมดลูกเข้าอู่ไวขึ้น ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดก็จะฟื้นตัวเร็วขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ มีหลายวิธีที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไว การดูแลตัวเอง และปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำจะช่วยให้มดลูกหดตัวสู่ขนาดปกติก่อนตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น วิธีต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การให้นมลูกกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น
2. เคลื่อนไหวร่างกาย
การเริ่มต้นออกกำลังกายเบาๆ หลังคลอดเป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยให้มดลูกฟื้นตัวเร็วขึ้น การเดินเบาๆ ภายในบ้าน ไม่นั่งอยู่เฉยๆ ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้มดลูกเข้าอู่ไว อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเริ่มออกกำลังกายเมื่อร่างกายพร้อม โดยเฉพาะหลังจากได้รับคำแนะนำจากแพทย์
3. ประคบสมุนไพร
การนวดและประคบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การอบไอน้ำสมุนไพร มีประโยชน์ คือ ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น ทำให้ผิวพรรณสดใสรักษาอาการปวดเมื่อย และ ขัดยอก หากคลอดธรรมชาติ สามารถเริ่มกระบวนการการทำหัตถการ 7 วัน หลังคลอด หากผ่าตัดคลอด สามารถเริ่มกระบวนการการทำหัตถการ 30 วันหลังคลอด เนื่องจากแผลผ่าตัดหายแล้ว แต่ไม่ควรเกิน 3 เดือน และควรทำต่อเนื่องเป็นเวลา 5 – 7 วัน อาการก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ
4. ดูแลร่างกายอย่างเป็นองค์รวม
การพักผ่อนให้เพียงพอ แม้จะยากสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องตื่นมาให้นมลูก แต่ก็ควรนอนพักทุกครั้งที่มีโอกาส รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน ผักผลไม้ และอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กและแคลเซียม ยังช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูของมดลูกได้ดี อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืชและผักใบเขียว ยังช่วยลดอาการท้องผูก ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของมดลูก การดื่มน้ำมากๆ ก็มีบทบาทสำคัญในการล้างสารพิษและช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต
5. เลี่ยงการยกของหนัก
การยกของหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงให้แผลผ่าตัดหรือเนื้อเยื่อในช่องท้องได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจทำให้แผลอักเสบหรือฟื้นตัวช้ากว่าปกติ การยกของหนักยังสามารถทำให้เกิดแรงกดดันในช่องท้อง ส่งผลให้มดลูกเคลื่อนตัวผิดปกติ หรือเกิดอาการปวดหน่วงบริเวณท้องล่าง หากหลีกเลี่ยงการยกของหนักไม่ได้ เช่น ในกรณีที่ต้องจัดการงานบ้าน คุณแม่ควรใช้วิธีการที่ปลอดภัย เช่น การงอเข่าและใช้ขาแทนการออกแรงจากหลังหรือหน้าท้อง
6. ใส่ใจเรื่องความสะอาด
บริเวณช่องคลอดหรือแผลผ่าตัดที่อาจเกิดการอักเสบได้ง่าย คุณแม่ควรทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อนๆ อย่างเบามือ และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารเคมีแรง เพราะอาจระคายเคืองหรือทำให้เกิดการแพ้ได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง หรือการแช่น้ำในช่วงแรกหลังคลอด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรเลือกอาบน้ำแบบฝักบัวแทน และซับบริเวณแผลให้แห้งเสมอ
7. ดูแลสุขภาพจิตใจ
หลังคลอด คุณแม่หลายคนอาจประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การนอนหลับไม่เพียงพอ และความกังวลจากการดูแลลูกน้อย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) หากมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น ควรพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเกี่ยวกับความรู้สึกและความกังวล คนรอบข้างควรเปิดใจรับฟังเพื่อให้คุณแม่รู้สึกไม่โดดเดี่ยว หรือหาเวลาทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือการทำสมาธิ แม้จะมีเวลาจำกัด การดูแลสุขภาพจิตให้ดีไม่เพียงช่วยให้คุณแม่มีพลังใจ แต่ยังส่งผลต่อความสุขและความผูกพันระหว่างแม่และลูกในระยะยาว
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม มีผลกระทบต่อลูกน้อยหรือเปล่า
ปรับเพิ่ม! เงินสงเคราะห์บุตร 2568 ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 เตรียมเฮ!
คลอดเอง vs ผ่าคลอด ทำหมันหลังคลอด เลือกแบบไหนดี ?