ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่คนใหม่ด้วยนะคะ ในระยะของการ ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ นั้น หลายคนจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทดสอบการตั้งครรภ์เบื้องต้น ด้วยตัวเอง ก็จะสามารถทราบผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ 1 และ 2
ร่างกายเป็นอย่างไรช่วงตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้เรามักจะบอกว่า การทดสอบการตั้งครรภ์ในระยะแรกนั้น โอกาสทราบผลที่ชัดเจนจะทำได้ยาก เนื่องจากค่าฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่เมื่อเข้าสู่การ ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ ระดับฮอร์โมน และค่า HCG ในเลือด จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น คุณแม่บางคน อาจจะเริ่มมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นจนสามารถสังเกตได้
คุณแม่หลายคนมักจะเริ่มทำการสังเกตตัวเองอย่างอัตโนมัติ เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากเราให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น ทำให้สิ่งเล็กน้อย ปรากฏได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้อง อัลตราซาวนด์ ไตรมาสแรก จะเห็นอะไรบ้าง แล้วกี่สัปดาห์ถึงจะเห็นตัวลูก
วิดีโอจาก : Whale Family
1. มีไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว
อาการไข้ต่ำ จะเริ่มมีปรากฏให้เห็นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และมักจะเป็นช่วงเย็น ๆ หรือไม่ก็ช่วงหัวค่ำ ซึ่งอาการนี้จัดว่าเป็นอาการปกติ ที่มักจะเกิดขึ้น กับผู้ที่มีครรภ์อ่อน คุณควรที่จะดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะสามารถช่วยให้อาการนี้ทุเลาลงได้
2. ปวดหลัง
เนื่องจากร่างกาย เริ่มมีการขยายตั้งแต่ช่วงอุ้งเชิงกรานลงมา เพื่อเตรียมรองรับตัวอ่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว เกิดการขยายตัวตาม จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว และปวดหลัง หรือบั้นเอวช่วงล่าง รวมทั้งอาจจะเป็นตะคริวได้ด้วยเช่นกัน อาจจะต้องปรับเปลี่ยนท่านอน หรือใช้หมอนหนุนช่วงขา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากปวดจนทนไม่ไหว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วนค่ะ
3. อยากทานของเปรี้ยว หรืออาหารที่ไม่เคยทานมาก่อน
อีกหนึ่งอาการยอดฮิตที่มักจะเห็นคนตั้งครรภ์อ่อน ๆ เป็นกัน คืออาการอยากอาหารที่มีรสเปรี้ยว ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ผลไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอาการนี้ ไม่มีผลวิจัยแน่ชัด ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ในบางรายก็อาจจะอยากทานอาหารที่ตนเองไม่เคยคิดอยากทานมาก่อน ก็มี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น
4. ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ อารมณ์แปรปรวน
สำหรับเรื่องของอารมณ์ อาจจะต้องทำความเข้าใจคนข้างกาย ว่าคุณจะต้องเจอกับอาการงี่เง่าทางอารมณ์อยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนในร่างกาย จึงส่งผลถึงสภาวะอารมณ์ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ควรหากิจกรรมทำ เพื่อลดความเครียดทางด้านอารมณ์ก็จะช่วยได้ค่ะ
5. ไวต่อกลิ่น
ในระยะนี้ จะมีสัมผัสกับกลิ่น ที่ไวมากยิ่งขึ้น เรียกอาการนี้ว่า “Super Smell” จนทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ได้ ซึ่งอาการนี้ไม่เพียงเฉพาะแค่กลิ่นอาหารเท่านั้น อาจจะเป็นกลิ่นน้ำหอม กลิ่นตัว ได้เช่นกัน ในบางรายเหม็นกลิ่นตัวของสามีตัวเอง จนไม่อยากให้เข้าใกล้เลยก็มีค่ะ
6. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป
เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยน ทำให้อารมณ์ความต้องการทางเพศของคุณเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน บางรายความต้องการทางเพศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่บางรายนั้น อาจจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แต่ทุกอย่างจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่สอง หรืออายุครรภ์ได้ 4 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 13 เป็นต้นไป
7. ร่างกายเริ่มอวบ มีน้ำมีนวลมากขึ้น
ระยะนี้ คุณจะเริ่มสังเกตว่า ตัวคุณเหมือนจะอวบ ๆ มีน้ำมีนวลมากยิ่งขึ้น บางคนอาจจะสงสัยว่า ตัวเองทานเยอะเกินไปหรือไม่ จนต้องหาวิธีการเพื่อทำการลดน้ำหนัก หรือควบคุมอาหาร แต่หากคุณมีอาการที่เกริ่นมาข้างต้น ในข้อแรก ๆ ประกอบด้วย ให้สันนิษฐานได้ว่า คุณอาจจะตั้งครรภ์นั่นเอง ดังนั้น การใช้ชุดตรวจครรภ์มาทดสอบเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากค่ะ
ในระยะนี้ คุณแม่บางคน อาจจะยังไม่สามารถเลยด้วยซ้ำ ว่าตนเองตั้งครรภ์ บางคน ยังคงทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเริ่มผิดสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนั้น ควรจะระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แล้วหากตรวจพบว่า ตนเองตั้งครรภ์จริง ควรหยุดยาคุมกำเนิดโดยทันที แล้วพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจการตั้งครรภ์อีกรอบ เพื่อความชัดเจนค่ะ
อัลตราซาวนด์ได้หรือไม่
หลายคนตั้งข้อสงสัย ว่าถ้าเราตั้งครรภ์ในช่วง 3 สัปดาห์นั้น เราจะสามารถทำการอัลตราซาวนด์ เพื่อดูเด็กในครรภ์ได้หรือยัง อาจจะด้วยความตื่นเต้นของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากจะเห็นหน้าลูก และพัฒนาการของลูก ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ระยะครรภ์นี้ จะยังไม่สามารถตรวจพบทางอัลตราซาวนด์แต่อย่างใด เนื่องจากระยะนี้ ยังเป็นเพียงแค่การฝังตัวในผนังมดลูก ทำให้สามารถเห็นผลใด ๆ ในการตรวจระยะนี้
เมื่อไหร่ถึงจะตรวจอัลตราซาวนด์ได้
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ ใจเย็น ๆ กันอีกสักนิดค่ะ เพราะการตรวจอัลตราซาวนด์นั้น จะเริ่มทำการตรวจยืนยัน เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ระยะ 6 สัปดาห์ แต่ในระยะนี้ คุณสามารถเข้าไปฝากครรภ์กับทางคลินิก หรือโรงพยาบาลได้โดยทันที เพื่อทำการติดตามผล และตรวจระวังความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
พัฒนาการของทารกในครรภ์ ช่วง 3 สัปดาห์เป็นอย่างไร
หากจะถามถึงพัฒนาการของทารกในระยะนี้ นับว่ายังตอบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากตัวทารกนั้น ยังมีขนาดเล็กยิ่งกว่าเม็ดเกลือ (morula) ซึ่งยังคงสภาพเป็นลักษณะของกลุ่มเซลล์ ดังนั้น ในระยะนี้ จะยังไม่สามารถคาดหวังถึงผลอัลตราซาวนด์ได้แต่อย่างใด
โดยตัวไข่จะมีการฝังตัวเองในผนังมดลูก และเติบโตในอีก 8 เดือนข้างหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ 4 หลังจากระยะนี้ เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการของเด็กได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ท้อง 3 สัปดาห์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
เนื่องจากเป็นครรภ์อ่อน และคุณแม่หลายคน ยังไม่รู้ตัวมาก่อน บางคนอาจจะมีการทานยาคุมกำเนิด ทานวิตามิน หรือใช้ชีวิตตามปกติ แต่เมื่อตัวคุณแม่เริ่มรู้ตัวว่าตนเองตั้งครรภ์แล้วนั้น จำเป็นจะต้องรีเซต หรือจัดระบบชีวิตของตัวเองใหม่ เพื่อความปลอดภัยของลูก และเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เองค่ะ
- ยาทุกชนิดที่คุณแม่เคยทานอยู่เดิม ควรจะหยุดก่อน : และรีบไปพบ และปรึกษาแพทย์เบื้องต้น เนื่องจาก ยาบางชนิด วิตามินบางประเภท อาจจะส่งผลกระทบตัวเด็กในครรภ์ได้ ซึ่งโดยปกติคุณหมอ มักจะให้คุณแม่เลือกทานวิตามิน และกรดโฟลิกที่จำเป็น ทั้งนี้ ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน
- ระมัดระวังอันตรายรอบตัว : ควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบกับร่างกายของตัวคุณแม่เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการกระแทก เพราะอาจส่งผลกระทบถึงครรภ์ของคุณแม่ได้
- งดดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์ : “You Are What You Eat” ประโยคนี้ มักใช้ได้อยู่เสมอ คุณจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณทานอะไรเข้าไป ลูกในท้องของคุณก็เช่นกัน เนื่องจากเขาต้องอาศัยสารอาหารจากที่คุณทาน ที่คุณดื่มไป ดังนั้นควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และหันมาทานอาหารที่มีประโยชน์ จะดีที่สุดค่ะ
- งดทำความสะอาดกระบะทรายแมว : สำหรับบ้านที่เลี้ยงแมว สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากสิ่งปฏิกูลของแมวนั้น จะมีเชื้อโรคบางตัว ที่ส่งผลจะกระทบโดยตรง ผ่านการหายใจ หากมีการทำความสะอาด โดยการจัดเก็บกระบะทรายแมว จะทำให้ตัวเชื้อเข้าสู่ปอด และส่งผลถึงเด็กในครรภ์ได้ ดังนั้น ควรเลี่ยงไม่ให้คนท้องทำเด็ดขาดค่ะ
- แจ้งทันตแพทย์ว่าคุณตั้งครรภ์ การทำฟันนั้น มีหลายวิธีการที่มีผลต่อครรภ์ของคุณแม่ ดังนั้น หากคุณตั้งครรภ์อยู่ จำเป็นจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือทันตแพทย์ที่คุณได้ทำการรักษา เพื่อการหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์นั่นเอง
- งดกิจกรรมโลดโผนทุกชนิด คุณแม่หลายคน ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่โลดโผน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก เดินป่า ปีนป่าย ชกมวย ฯลฯ ให้งดกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเด็กในครรภ์นั่นเองค่ะ
แม้ว่าการตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 นี้ คุณแม่จะยังคงใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่ในเมื่อเรารับรู้ถึงการมาของเจ้าตัวน้อย ที่จะมาเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของคุณ การระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ และให้มาเริ่มดูแลสุขภาพร่างกาย มากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ อาการเป็นอย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
วิตามินเตรียมตั้งครรภ์ แบบไหนดี บำรุงทารกตั้งแต่ในครรภ์
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาการคนท้อง 3 สัปดาห์ ได้ที่นี่!
อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ มีอาการยังไงบ้างคะ ท้องเริ่มใหญ่รึยังคะ
ที่มา : babycenter, mamastory