อารมณ์ร้อน เจ้าอารมณ์ คงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุวัยรุ่น ซึ่งมักเกิดจากหลายปัจจัยทั้งที่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้ โดยสามารถแก้ได้จากการเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สามารถคุมอารมณ์ตนเองได้ เพื่อทำการแก้ไขตามสาเหตุนั้น ๆ อย่างสมเหตุสมผลที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นคนอารมณ์ร้อน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์ร้อน เป็นคนเจ้าอารมณ์นั้นมีอยู่หลายปัจจัยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงลูกตั้งแต่เด็ก ๆ พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ไปจนถึงโรคทางร่างกาย และปัญหาสุขภาพจิต สามารถอธิบายได้ ดังนี้
- เป็นนิสัยของเด็กเองจากการตามใจ : บางคนอาจมีอาการขี้หงุดหงิด ขี้โมโหจากนิสัยส่วนตัวของเด็กเอง ซึ่งพบได้เป็นปกติทั่วไป แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าเด็กเหมือนผ้าขาว ก่อนเขาจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็ต้องเป็นวัยเด็กน้อยที่เรียนรู้จากสิ่งรอบข้างมาก่อนทั้งนั้น หรืออาจเรียกได้ว่าเลี้ยงเขามาแบบไหน เขาก็โตมาแบบนั้น ในส่วนของอารมณ์ที่ร้อน หรือการเป็นเด็กวัยรุ่นเจ้าอารมณ์ มักเกิดจากการถูกตามใจมากเกินไปในวัยเด็ก ทำให้ไม่รู้จักการรอ หรือไม่พยายามเข้าใจผู้อื่น และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็มีโอกาสสูงที่จะติดนิสัยไปจนโตอีกด้วย
- ปัญหาอารมณ์จากสุขภาพทางจิต : นอกจากจะเป็นนิสัยของเด็กเองแล้ว ยังมีปัจจัยที่สามารถเกิดขึ้นได้เอง และยากที่จะควบคุม หรือป้องกัน นั่นคือการเกิดจากภาวะทางจิต ทำให้ส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของเด็กหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคืออารมณ์โกรธ หงุดหงิด ขี้โมโห ได้แก่ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder), โรคไบโพลาร์แบบไม่รุนแรง (Cyclothymic Disorder), โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ (Disruptive Mood Dysregulation Disorder), โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) และโรคประสาทซึมเศร้า (Dysthymia) เป็นต้น
- ปัญหาสุขภาพ หรือความผิดปกติทางกาย : ฮอร์โมนในร่างกายมีความสำคัญต่อเราไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย ฮอร์โมนหลายชนิดสามารถส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การเกิดปัญหากับสภาพร่างกายบางส่วนก็สามารถทำให้มีอารมณ์ร้อนได้ด้วย เช่น โรคที่เกิดกับส่วนระบบประสาท, สมอง, หัวใจ, หลอดเลือด, ต่อมไทรอยด์ และปอด เป็นต้น โรคที่ส่งผลต่ออวัยวะเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน
- ปัจจัยอื่น ๆ : ส่วนอื่น ๆ ที่มีทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ตัวอย่างเช่น การติดสารเสพติดซึ่งผลโดยตรงต่อการควบคุมอารมณ์ตนเองอยู่แล้ว, ภาวะความเครียด หรือความกดดันที่มากเกินไป, เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างมาก, พันธุกรรม, การคบเพื่อน, การเลียนแบบ ไปจนถึงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นต้น จะเห็นว่าปัจจัยในส่วนนี้จะมีทั้งที่สามารถควบคุมได้ และมีส่วนที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน
วิดีโอจาก : ครูแอน Parent Coach
ลูกเป็นคนอารมณ์ร้อนจะส่งผลอย่างไร ?
การมีนิสัย อารมณ์ร้อน เจ้าอารมณ์ ไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อตัวของลูกเองทั้งในปัจจุบันที่ทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี โดยเฉพาะครอบครัว อาจส่งผลให้ไม่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ มีเพื่อนน้อย และไม่มีใครกล้าเข้าหาด้วย อาจติดเป็นนิสัยส่งผลต่ออนาคตของเด็กเองในรูปแบบเดียวกัน ด้วยปัญหาที่ส่งผลภาพรวมต่อผู้อื่นค่อนข้างมากนี้ จึงทำให้ไม่สามารถปล่อยเอาไว้ได้ ควรรีบแก้ไข และช่วยให้ลูกสามารถควบคุมอารมณ์ หรือหากเกิดจากปัจจัยโรคทางร่างกาย หรือสภาวะทางจิตก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างจริงจัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : สยบ! ลูกดื้อ เอาแต่ใจ ด้วย Positive Parenting เทรนด์ใหม่ของการเลี้ยงลูก
การแก้ปัญหาลูกเจ้าอารมณ์ด้วยตนเอง
เมื่อพบปัญหานี้ควรมองถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหา ว่ามาจากอะไร แล้วดำเนินการแก้ปัญหาตามสาเหตุนั้น ๆ โดยทั่วไปหากพบว่ามาจากสภาพร่างกาย หรือความผิดปกติทางจิตควรให้ลูกเข้าพบแพทย์ก่อนเพื่อรับคำแนะนำ แต่ถ้าหากไม่ใช่ปัจจัยนี้ ให้แก้ไขเบื้องต้นโดยอาจใช้เวลามากน้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับการเปิดรับของเด็กด้วย ได้แก่
- ดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ดี : การคอยดูแลสุขภาพของเด็กทั้งอาหารการกิน การพักผ่อนที่พอดี ไปจนถึงการออกกำลังกาย หรือการพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดี เพราะจะทำให้ทราบถึงสภาวะความผิดปกติ และลดโอกาสเกิดอารมณ์ร้อน จากปัญหาสุขภาพร่างกายโดยรวมได้เป็นอย่างดี
- ชวนทำกิจกรรมกับคนรอบข้าง : เป็นธรรมชาติของเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์จะไม่สามารถเข้าหาผู้อื่นได้ง่าย การได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการเข้าสังคมกับผู้อื่นบ่อย ๆ จะสามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้บรรทัดฐานของสังคมว่าควรทำตัวอย่างไร อะไรบ้างที่ไม่สามารถแสดงออกต่อหน้าผู้อื่นได้ เพื่อเป็นการขัดเกลานิสัยของเด็กไปในตัว
- สอนให้ลูกควบคุมอารมณ์ : มีหลายวิธีที่สามารถช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้ด้วยตนเอง เช่น เมื่ออารมณ์โกรธเริ่มเข้ามาหาให้นับ 1 ถึง 10 อย่างช้า ๆ ในใจ, พยายามนำตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ไม่ค่อยพอใจ, คิดก่อนที่จะตอบโต้ใด ๆ ออกไป หรือให้ลูกเรียนรู้การพูดคำว่า “ขอโทษ” และการให้อภัยผู้อื่น เป็นต้น
- พูดคุยตรง ๆ แสดงให้เห็นผลเสีย : บางครั้งการพูดคุยกันตรง ๆ ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับบุคคลในครอบครัวด้วยกันเอง และด้วยความที่เด็กเองก็อยู่ในช่วงวัยรุ่นก็ยิ่งเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสื่อสารได้ง่ายกว่าเด็กเล็ก ถึงแม้อาจจะต่อต้านไปบ้าง โดยพยายามโฟกัสในข้อเสียของการเป็นเด็กเอาแต่ใจ อารมณ์ร้อน เจ้าอารมณ์ ว่าจะส่งผลต่อเด็กในมุมไหน และเกิดขึ้นจริงบ้างหรือยัง พร้อมกับชี้แนวทางที่ถูกต้อง และแสดงความเป็นห่วงเด็ก อย่าให้เขาคิดว่ามีแต่คนเกลียดเด็ดขาด
นอกจากนี้หากต้องการลดโอกาสเกิดปัญหาอารมณ์ร้ายในเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้ทุกอย่างโดยปราศจากคำแนะนำ เพราะเขาอาจแก้ปัญหาแบบผิด ๆ การไม่เข้าไปพูดคุยให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย อาจทำให้เด็กปิดบัง เก็บกด และยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบถึงปัญหาที่เด็กกำลังเจออีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ฝึกลูกให้ “รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น” ทำได้ไม่ยากแค่ 2 ขั้นตอน
ทำอย่างไรดี ? เมื่อลูกมี “โลกส่วนตัวสูง” แก้ได้แต่ต้องใช้เวลา
“ความเคารพ” สำคัญสำหรับเด็ก ฝึกอย่างไรให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก