เหตุผลที่สอนลูกไม่ได้ผล ? ลูกไม่เชื่อฟัง ถึงเวลาพ่อแม่ยุคใหม่ต้องเปลี่ยน

คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะมักเจอปัญหา สอนเท่าไหร่ ลูกไม่เชื่อฟัง สักทีไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ลูกก็ยังคงดื้อรั้น วันนี้เรามีเทคนิคมาแนะนำ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ และมีผู้ใหญเอ็นดู การสอนลูกจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนเน้นและใส่ใจเป็นพิเศษ แต่หลายครั้งมักจะพบว่า สอนเท่าไหร่ ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ลูกก็ยังคงดื้อรั้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเหนื่อยใจและท้อแท้ การที่ลูกไม่เชื่อฟังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก แต่การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก และการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมด้วยค่ะ

ทำไมลูกถึง “ดื้อ” ?

เด็กดื้อ คือพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เป็นไปตามที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่คาดหวัง อาจแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น ไม่ทำตามคำสั่ง อารมณ์รุนแรง เอาแต่ใจ ไม่ยอมรับผิดชอบ หรือต่อต้านกฎระเบียบต่างๆ ลูกไม่เชื่อฟัง จึงเป็นพฤติกรรมที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญลูกจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ ทำให้การจัดการอารมณ์ของตนเองยังไม่ได้ และการคาดหวังจากคุณพ่อคุณแม่ที่มากขึ้นตามวัย ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เด็กจะมีพฤติกรรมที่หลายบ้านรู้สึกว่าลูก ดื้อ เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกดื้อ ลูกไม่เชื่อฟัง

การเลี้ยงลูกเป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสอนลูกด้วยความตั้งใจ แต่กลับพบว่าลูกไม่ยอมฟัง ไม่ทำตาม หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดออกมา เหตุผลที่ ลูกไม่เชื่อฟัง มีได้หลากหลายเหมือนกัน เช่น

  • ลูกเลียนแบบพฤติกรรม

ลูกๆ จะเรียนรู้ผ่านการสังเกตและเลียนแบบสิ่งรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ใหญ่ที่เด็กๆ รักและเคารพ เช่น คุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการสำรวจตัวเองว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่อาจส่งผลต่อลูกโดยไม่รู้ตัว เช่น การตะโกน ด่าทอ หรือใช้ความรุนแรง ลูกก็จะเรียนรู้และนำไปใช้ตาม

  • ลูกไม่ได้รับความสนใจเมื่อทำความดี ความชอบ

ลูกน้อยต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่เป็นเรื่องธรรมชาติ การที่ลูกทำดีแล้วไม่ได้รับความสนใจ แต่ในทางกลับกันเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือไม่น่ารัก กลับได้รับความสนใจมากกว่า จึงกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกอย่างมาก และอาจนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกน้อยในระยะยาวได้

  • ลูกไม่รู้ว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ดี

การที่ลูกไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะคุณพ่อคุณแม่ขาดการเป็นแบบอย่างที่ดี หรือมีการสื่อสารไม่ชัดเจน การบอกกับลูกว่าพฤติกรรมที่เหมาะสมควรทำอย่างไรต้องมีความชัดเจนและสม่ำเสมอ หากคำสั่งหรือคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ไม่ชัดเจน ลูกอาจสับสนและไม่เข้าใจ อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์ของเด็กได้ในระยะยาวได้อีกด้วยค่ะ

  • พื้นฐานอารมณ์ของลูก

เด็กบางคนมีอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ อาจรู้สึกหงุดหงิดง่าย และปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้ไม่ทันที จึงอาจแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป หรือรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจทำให้มีพฤติกรรมที่ดูเหมือนต่อต้านได้

  • ลูกมีอารณ์โกรธ เศร้าหรือวิตกกังวล

ลูกยังไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกที่ซับซ้อนได้ดีนัก จึงใช้วิธีการแสดงออกทางพฤติกรรมแทนคำพูด เมื่อลูกรู้สึกไม่สบายใจ โกรธ เศร้าหรือกลัว มักจะแสดงออกที่ดูเหมือนจะไม่เหมาะสม เช่น ดื้อ ร้องไห้ โกรธเคือง ต่อต้าน ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของ

8 เหตุผลทำไมพ่อแม่ที่ดี ถึงสอนลูกไม่ได้ผล 

แม้คุณพ่อคุณแม่จะมีความตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถในการสอนลูกน้อย แต่ทำไมลูกของเราจึงยังคงเป็นเด็กดื้อ ไม่เอาใจใส่ และมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

1. ปกป้องลูกมากเกินไป 

คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มักจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตลูกมากเกินไป ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทะเลาะกับเพื่อน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเลือกวิชาเรียนหรือการทำงาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่สามารถยอมรับได้ที่ลูกจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวหรือความยากลำบาก คุณพ่อคุณแม่จึงพยายามปกป้องลูกจากทุกปัญหา ทำให้ลูกขาดโอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนาตนเอง ขาดความมั่นใจในตัวเองและไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา กลัวความล้มเหลว และขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้ขี้เกียจ แต่เพราะกลัวที่จะล้มเหลวจึงไม่กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ 

แนวทางการรับมือ : ควรปล่อยให้ลูกได้เผชิญกับความยากลำบากบ้าง จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ฝึกฝนความอดทน และพัฒนาความมั่นใจในตัวเองได้อย่างแท้จริง

2. การกำหนดขอบเขตพฤติกรรมของลูก

คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะมีการตั้งกฎกติกา เพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับใจอ่อน ยอมตามใจลูกด้วยเหตุผลว่าอยากให้ลูกมีความสุข แต่รู้ไหมคะว่า การตามใจลูกมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาวได้เลยค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตามใจลูกทุกอย่าง ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ต้องฟังใคร และอาจจะลองทดสอบขีดจำกัดของคุณพ่อคุณแม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ลูกขาดความมั่นคงและไม่รู้จักควบคุมตัวเอง นอกจากนี้ เด็กที่ถูกตามใจมักจะมีปัญหาตามมา เช่น เรียนไม่เก่ง มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีปัญหาสุขภาพจิต แทนที่จะตามใจลูก

แนวทางการรับมือ : คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมต้องทำตามกฎ และให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบ้าง เช่น เลือกที่จะทำการบ้านก่อนหรือเล่นเกมก่อน เป็นต้น เมื่อลูกทำตามกฎได้ก็ควรชมเชยและให้กำลังใจค่ะ การสอนให้ลูกเคารพกฎตั้งแต่เด็กจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

3. ชมเชยลูกมากเกินไปและไม่ถูกจุด

หลายคนมักจะชมลูกแบบทั่วไป เช่น “เก่งมากลูก” หรือ “ลูกฉลาดจัง” แต่รู้ไหมคะว่าคำชมแบบนี้ อาจทำให้ลูกกลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้แล้วจะไม่ถูกชมอีกต่อไป เด็กที่ถูกชมว่า “ฉลาด” จะกลัวความล้มเหลวมากกว่าเด็กที่ถูกชมว่า “พยายามมาก” ค่ะ 

แนวทางการรับมือ : แทนที่จะชมที่ตัวลูก คุณพ่อคุณแม่ควรชมในสิ่งที่ลูกทำ เช่น “ภาพวาดของลูกสวยมากเลย ลูกใช้สีได้เข้ากันดีจัง” หรือ “ลูกตั้งใจทำการบ้านมากเลยนะ” การชมแบบนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้น และอยากพัฒนาตัวเองต่อไปค่ะ นอกจากนี้ การบอกลูกว่า “พ่อแม่อาจจะช่วยลูกได้นะ” หรือ “เราลองทำอีกครั้งกันไหม” ก็เป็นการส่งเสริมให้ลูกมีความพยายามและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคได้อีกด้วยค่ะ

4. ลงโทษลูกรุนแรงเกินไป

แม้ว่าการตีลูกจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หลายครอบครัวยังคงใช้ความรุนแรงในการอบรมสั่งสอนลูกอยู่ การลงโทษที่รุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ลูกกลัวและเกลียดคุณพ่อคุณแม่ได้ ในขณะที่เป้าหมายหลักของการอบรมสั่งสอนคือการสอนให้ลูกรู้ผิดชอบและปรับปรุงพฤติกรรม ดังนั้นวิธีการลงโทษที่เหมาะสม เช่น การให้ลูกนั่งนิ่งๆ เป็นเวลาสั้นๆ หรือการตัดสิทธิ์บางอย่างชั่วคราว วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าพฤติกรรมของเขาไม่ถูกต้อง และจะไม่ทำซ้ำอีก แต่ต้องระวังอย่าให้การลงโทษนานเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกโกรธเคืองและความสัมพันธ์ในครอบครัวเสียไป 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แนวทางการรับมือ : คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะเน้นการลงโทษ เปลี่ยนมาเป็นสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของการทำดี เช่น การให้ลูกช่วยแก้ไขสิ่งที่ทำผิด เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง และเมื่อลูกทำดีก็ควรชมเชยและให้กำลังใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกทำดีต่อไปค่ะ

5. การบ่น พูดซ้ำๆ ซากๆ และใช้การตะโกนใส่ลูก

การสั่งลูกซ้ำๆ หลายครั้ง อาจไม่ได้ผลอย่างที่คิดนะคะ เพราะเด็กๆ มักจะไม่สนใจคำสั่งที่ซ้ำซาก หรืออาจจะยิ่งต่อต้านด้วยซ้ำไป การบ่น ดุ หรือขู่ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เพราะเด็กอาจจะเรียนรู้พฤติกรรมการโต้เถียงหรือขัดขืนคุณพ่อคุณแม่ แทนที่จะใช้อารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรลองใช้วิธีอื่นๆ ที่ได้ผลดีกว่า เช่น การสื่อสารอย่างชัดเจน สั้นๆ และตรงประเด็น เมื่อลูกทำตามคำสั่ง ควรชมเชยและให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกดีและอยากทำตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ต่อไป  

แนวทางการรับมือ : สร้างระบบรางวัลและบทลงโทษที่ชัดเจน ก็เป็นวิธีที่ดีในการสอนให้ลูกทำตามกฎ เช่น การให้ของรางวัลเมื่อลูกทำตามที่ตกลงไว้ หรือการตัดสิทธิ์บางอย่างเมื่อลูกทำผิดกติกา แต่ต้องระวังอย่าให้การลงโทษรุนแรงจนเกินไปนะคะ สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสนใจลูกเมื่อลูกทำดี และไม่สนใจเมื่อลูกทำผิด เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกทำ

6. ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าความคิดริเริ่ม

การที่คุณพ่อคุณแม่เน้นและมองแต่ผลลัพธ์ที่ออกมา อาจทำให้ลูกลืมไปว่าการเริ่มคิดหรือเริ่มเรียนรู้คือการค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากกว่า การที่เราเน้นให้ลูกจำกฎเกณฑ์ผลลัพธ์ที่ออกมา อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ทำตามอย่างเดียว แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดริเริ่ม เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อเจอปัญหา พวกเขาจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป

แนวทางการรับมือ : คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น การถามลูกว่า “ทำไมเราถึงคิดว่าแบบนี้” หรือ “มีวิธีอื่นที่เราจะลองทำได้ไหม” จะช่วยกระตุ้นให้ลูกคิดวิเคราะห์และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

7. ลืมที่จะเล่นสนุกกับลูก

เรามักจะพบว่าครอบครัวที่มีความสุขมักเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม การที่คุณพ่อคุณแม่และลูกได้ใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมสนุกๆ ไม่เพียงแต่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกอีกด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองถามตัวเองดูว่า ได้เล่นกับลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? หรือได้หัวเราะร่วมกับลูกเรื่องอะไรบ้าง? ถ้าคำตอบคือไม่บ่อยนัก นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น 

แนวทางการรับมือ : ควรหากิจกรรมยามว่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม เล่าเรื่อง หรือทำกิจกรรมง่ายๆ ร่วมกัน การใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพจะช่วยให้ครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่อบอุ่นและมีความสุขมากขึ้นค่ะ

8. การบอกลูกว่าควรรู้สึกอย่างไร 

การปลูกฝังให้ลูกเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่และผู้อื่นนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด การที่ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจสาเหตุของความรู้สึกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า หรือความโกรธ จะช่วยให้ลูกสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้นอีกด้วย แทนที่จะบอกลูกว่า “ไม่เป็นไรนะ” เมื่อลูกเสียใจ คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความเข้าใจในความรู้สึกของลูก เช่น “พ่อแม่เข้าใจว่าลูกเสียใจนะ” การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น

แนวทางการรับมือ : คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกถึงความรู้สึกของตนเอง เพราะลูกจะเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์จากพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เพื่อนำมาปฏิบัติตาม 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การเลี้ยงลูกเป็นการเรียนรู้ของคุณพ่อคุณแม่ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สิ่งสำคัญคือการสังเกตพฤติกรรมของลูก เข้าใจความต้องการของลูก และปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้เหมาะสม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกต้องอาศัยความอดทน ความรัก และความเข้าใจ เมื่อคุณพ่อคุณแม่และลูกมีความสัมพันธ์ที่ดี การสอนและการอบรมก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ , คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 วิธีเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี ที่สำคัญยิ่งกว่าผลการเรียนเกรด A

วิธีเลี้ยงลูกให้มี Self-esteem ไม่ยอมให้ใครรังแก และไม่เอาเปรียบใคร

5 แนวทาง & เลี้ยงลูกยุคใหม่ สอนลูกก้าวข้ามความกลัว ความล้มเหลว

บทความโดย

yaowamal